อรรถแห่งปฏิสัมภิทา ๔
ปฏิสัมภิทา ๔ คือ ๑) อัตถปฏิสัมภิทา ๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
ในปฏิสัมภิทา ๔ นั้น ญาณอันถึงความแตกฉานในอรรถ สามารถกระทำความแจ่มแจ้ง และการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของอรรถ ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา.
– ญาณอันถึงความแตกฉานในธรรม สามารถทำความแจ่มแจ้งและการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของธรรม ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
– ญาณอันถึงความแตกฉานในการแสดงภาษา สามารถทำความแจ่มแจ้งและการกำหนดพร้อมลักษณะแห่งประเภทของภาษา ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา.
– ญาณอันถึงความแตกแห่งประเภทของปฏิภาณ ชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
ญาณในอรรถ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในธรรม ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในการแสดงภาษาของอรรถและธรรม ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา. ญาณในญาณทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
ก็ในญาณ ๔ อย่างนั้น ว่าโดยสังเขป ผลอันเผล็ดมาจากเหตุ ชื่อว่า อัตถะ เพราะอันบุคคลพึงดำเนินไปและพึงบรรลุตามกระแสแห่งเหตุ แต่เมื่อว่าโดยประเภท ธรรม ๕ เหล่านี้ คือปัจจยุปปันนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นิพพาน อรรถแห่งภาษิต วิบาก และกิริยา ชื่อว่า อัตถะ ญาณอันถึงความแตกฉานในอรรถนั้น ของผู้พิจารณาในอรรถนั้น ชื่อว่า อัตถปฏิสัมภิทา.
เมื่อว่าโดยสังเขป ปัจจัยชื่อว่า ธรรม. จริงอยู่ ปัจจัยนั้น ท่านเรียกว่าธรรม เพราะจัดแจงคือให้อรรถนั้น ๆ เป็นไป และให้บรรลุ. แต่เมื่อว่าโดยประเภท ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ เหตุอันยังผลให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง, อริยมรรค, คำภาษิต, กุศลกรรม, และอกุศลกรรม ชื่อว่า ธรรม. ญาณอันถึงความแตกฉานในธรรมนั้น ของผู้พิจารณธรรมนั้น ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
สมจริงดังพระดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
ญาณในทุกข์ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขสมุทัย ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขนิโรธ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
อีกอย่างหนึ่ง ญาณในเหตุ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในผลอันเผล็ดมาจากเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา.
ธรรมเหล่าใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้ว ญาณในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ธรรมเหล่านั้นเกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้วจากธรรมใด ญาณในธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
ญาณในชราและมรณะ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในเหตุเป็นแดนเกิดชราและมรณะ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
ญาณในธรรมเป็นเครื่องดับชราและมรณะ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในปฏิปทาเป็นเหตุให้ถึงความดับชราและมรณะ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา.
ญาณในชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในเหตุเป็นแดนเกิดสังขาร ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
ญาณในธรรมเป็นเครื่องดับสังขาร ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ญาณในปฏิปทาเป็นเหตุให้ถึงความดับสังขาร ชื่อว่า ธัมมปฏิสัมภิทา.
พระองค์ตรัสคำมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ นี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา. เธอรู้อรรถแห่งคำอันเป็นภาษิตนั้นๆ นั่นแหละว่า นี้เป็นอรรถแห่งคำอันเป็นภาษิตนี้ นี้เรียกว่าอัตถปฏิสัมภิทา.
ธรรมที่เป็นกุศลเป็นไฉน
สมัยใด กุศลจิตฝ่ายกามาวจรเกิดพร้อมด้วยโสมนัสประกอบด้วยปัญญา ปรารภรูปารมณ์ ฯลฯ หรือธรรมารมณ์ ก็หรืออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น, สมัยนั้น ผัสสะย่อมมี ความไม่ฟุ้งซ่านย่อมมี ฯลฯ ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ากุศล. ญาณในธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา. ญาณในวิบากแห่งธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา. ความพิสดารแล้ว.
ก็ สภาวนิรุตติ (ภาษาเดิม) คือ อัพยภิจารโวหาร (ถ้อยคำที่ไม่คลาดเคลื่อน) อภิลาปะ (การพูด) ในอรรถและธรรมนี้ ตามภาษาเดิมของสภาพสัตว์อันเป็นมคธภาษา ในการพูดภาษาเดิมนั้น นี้ ชื่อว่าสภาวนิรุตติ นี้ไม่ชื่อว่า สภาวนิรุตติ ญาณอันถึงความแตกฉานดังนี้ ชื่อว่านิรุตติปฏิสัมภิทา.
ญาณอันถึงความแตกฉานในญาณนั้น ของภิกษุผู้พิจารณากระทำญาณทั้งหมดนั้นที่เป็นไป โดยกิจแห่งอารมณ์อย่างพิสดาร ในญาณเหล่านั้นตามที่กล่าวแล้วให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา.
ดังนั้น ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุด้วยพระองค์เอง จึงชื่อว่า ถ่องแท้ ไม่ผิด ไม่กลายเป็นอย่างอื่น เพราะเป็นไปโดยอาการไม่ผิดแผก โดยกล่าวไม่ให้คลาดเคลื่อนในอารมณ์ของตนนั้นๆ อันยิ่งด้วยอรรถและธรรม.
(อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ สุปปวาสาสูตร, อรรถกถาสุปปวาสาสูตร)
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
0 comments: