วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ทางออกจากอำนาจกิเลส

ทางออกจากอำนาจกิเลส

หนทางออกจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเรียกว่า นิสสรณะ นี้ก็คือการไม่เผลอสติ ไม่โง่ในเมื่อมีผัสสะ ผัสสะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเองก็ได้ มีสติสัมปชัญญะต้อนรับ ผัสละนั้นก็กลายเป็นผัสสะฉลาด ไม่ใช่ผัสสะโง่ ออกเป็นเวทนาออกมาก็เป็นเวทนาที่ฉลาด ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่เวทนาโง่ จะยุติเสียได้ แม้ในขณะแห่งผัสสะ ไม่ให้เกิดเวทนาก็ยังได้ จึงไม่มีการกระทำผิดใดๆ อันเกี่ยวกับผัสสะนั้น

ถ้าจะเล็งถึง การเป็นอยู่โดยทั่วไป ที่เป็นทางออกจากกิเลสนั้น ก็คือ มีชีวิตอยู่ด้วยอริยมรรค มีองค์แปดประการ การมีอริยมรรคมีองค์แปดประการ ก็คือ มีสัมมาสมาธิเป็นตัวยืน และมีองค์อีกเจ็ดองค์เป็นบริขารของสมาธินั้น เรียกว่าสัมมาสมาธิมีบริขารเจ็ดอย่างนี้แล้ว ไม่มีทางที่จะเกิดกิเลส เป็นการออกจากอำนาจของกิเลสโดยสิ้นเชิง ใจความสำคัญในข้อนี้อยู่ที่ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญามีวิชชา อย่างครบถ้วน ในการที่จะเผชิญหน้ากับกิเลส เป็นชีวิตแห่งการรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีชีวิตเป็นสัมปชัญญะ มีสัมปชัญญะเป็นชีวิต

ขอได้โปรดกำหนดไว้ให้แม่นยำว่าเราจะเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ด้วยสัมปชัญญะ หรือมีสัมปชัญญะเป็นชีวิต คือมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สดิสัมปชัญญะตื่นอยู่ในทุกวินาที ในที่ทุกหนทุกแห่งในทุกๆ อิริยาบถ ก็เป็นอันว่าหมดปัญหาเรื่องกิเลส

สรุปใจความว่า กิเลส ประเภทใดอย่างใด จะเกิดขึ้นได้แต่ละอย่าง ก็เพราะไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ที่เรียกว่าผัสสะ จงรู้จักผัสสะไว้ในฐานะเป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งกิเลสทั้งปวง คอยควบคุมให้ผัสสะมีวิชชา มีปัญญาอยู่เสมอ เพราะมีสติถึงพร้อมรวดเร็ว มีสติระลึกถึงปัญญาความถูกต้องมาทันเวลาในขณะแห่งผัสสะ ก็จะไม่เกิดกิเลส กิเลสเกิดเพราะทำผิดเมื่อมีผัสสะนั้นเอง

เทคนิคของการมีธรรมะ เล่ม ๒, ปรมัตถธรรมกลับมา (น.๕๒๐) 

ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ

Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: