"บัณฑิตย่อมตั้งอยู่ในธรรม"
คนเรานั้นเมื่อถึงคราวเสื่อมแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ความฉิบหาย ความไม่เจริญ ความพินาศ หรือแม้แต่ความสิ้นชีพ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอแบบมิทันรู้สึกตัว
ผู้คนส่วนมากเมื่อรู้ว่าเราถูกภัยคุกคามแล้วก็มีตัวงอหนีไปหมด พากันไปดื่มกินที่อื่น มิได้มีความห่วงใยในผู้ที่ถึงความเสื่อมเลย, อันผู้ที่จะคิดว่า “ผู้นี้เคยเป็นนายของเรา เป็นมิตรของเรา ทั้งเป็นเพื่อนที่รักกันเสมอด้วยชีวิตของเรา เราจะไม่ทอดทิ้งกันจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งกาลสิ้นชีวิตนั้น” ย่อมมีน้อยนัก
ส่วนผู้มีจิตอ่อนโยนด้วยกรุณาคือปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และผู้มีมุทิตาจิตคือพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีนั้นหาได้ยาก, เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับมิตรธรรมจากผู้ใดแล้ว พึงกระทำไมตรีจิตกับผู้นั้นตลอดไป.
อนึ่ง ในคราวเสื่อมก็ดี ในคราวถูกโรคาพาธเบียดเบียนก็ดี ในคราวมีข้าวปลาอาหารขาดแคลนก็ดี บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมตั้งอยู่ในธรรม คือยังคงประพฤติปฏิบัติโดยธรรมตามประเพณีสม่ำเสมอ
แม้ในโทษผิดบางประการที่มีต่อกันในหมู่มิตรสหายก็ไม่ทำให้ปรากฏเหมือนเงาที่ไม่ปรากฏในความมืดฉะนั้น และไม่แค้นเคืองผูกใจเจ็บใด ๆ ทั้งสิ้น ยังคงมีคำพูดที่น่าประทับใจ แม้หมดสิ้นทุกอย่างก็มิได้หวั่นไหวสั่นสะเทือนครั่นคร้ามหรือเกรงกลัว ยังคงสมบูรณ์ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลมว่องไว มีใจบันเทิงอยู่ในกาลทุกเมื่อแล.
พระมหาวัชระ เชยรัมย์
0 comments: