วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“การเดินทางด้วยปัญญา” และ“หนทางที่แท้จริง”ไปสู่ความดับทุกข์

“การเดินทางด้วยปัญญา” และ“หนทางที่แท้จริง”ไปสู่ความดับทุกข์

การเดินทางด้วยปัญญา

เมื่อมีปัญญาเข้าใจถูกต้องในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นสังขารหรือเป็นธรรมชาติเหล่านั้นแล้ว เมื่อนั้นแหละ คนเราจะประพฤติปฏิบัติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ชนิดที่เป็นความถูกต้องอย่างยิ่ง คือ ไม่ใช่เป็นการทำตามระเบียบ ตามธรรมเนียม ตามแบบพิธีโดยที่ยังไม่เข้าใจ 

หรือ ถ้าจะกล่าวอีกทางหนึ่งก็ว่า เพราะคนมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ปล่อยเขาไปเถอะ จะไม่มีทางที่จะทำอะไรผิด ทางกาย ทางวาจา หรือ ทางใจ เพราะอำนาจของความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง เป็นเครื่องกำกับเอาไว้ คือ เมื่อรู้หรือเข้าใจหรือเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างถูกต้องแล้ว คนเราจะคิดผิดหรือหวังผิดหรือพูดผิดหรือทำผิด เป็นได้อย่างไรกัน เพราะว่าปัญญานั้นมองเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ชัดๆแล้ว จึงหลงผิดอะไรไม่ได้ ทำไปตามปัญญานั้นก็มีแต่ความถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงเป็น “ศีล สมาธิ ปัญญา” ขึ้นมาเอง หรือว่าเป็น “อริยมรรคมีองค์ ๘” ขึ้นมาเอง หรือว่าเป็น “กุศลกรรม ๑๐ ประการ”(กุศลกรรมบถ ๑๐) ขึ้นมาเอง ดังนี้เป็นต้น

นี้จะทำให้ท่านทั้งหลายมองเห็นได้ว่า ถ้าสมมุติว่าเราจะลงมาจากยอด ก็คือเราลงมาจากยอดของปัญญาที่มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ก็ทำอะไรข้างล่างหรือข้างใต้นี้ถูกหมด ทีนี้ อีกทางหนึ่ง เราจะตั้งต้นจากข้างล่างคือรากฐาน เราก็ต้องสร้างรากฐานที่กาย ที่วาจา หรือที่ใจ ให้เป็นการประพฤติปฏิบัติชนิดที่เป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เราเกิดมีปัญญาเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นปุถุชนคนเขลาอยู่ตามสามัญแล้ว ก็จงเชื่อจงพยายามปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั้นเรื่อยไป ไม่เท่าไรก็จะมีปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับ เพราะว่ามันเป็นการเดินที่ถูกทาง ในที่สุดก็จะถึงยอด คือได้รับปัญญา ได้เกิดปัญญา ที่มองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นเอง 

เพราะเหตุฉะ นี้แหละ เราจะมองดูจากปลายทางมาต้นทาง หรือจะมองจากต้นทางไปปลายทาง มันก็ควรจะได้ทั้งนั้น แล้วแต่ใครเกิดมามีพื้นเพอุปนิสัย มีอินทรีย์ มีสติปัญญา มากน้อยอย่างไรนั้นมากกว่า และสำหรับบุคคลที่ได้เกิดมาในโลกนี้ มีอายุยืนยาวมาป่านนี้แล้ว ก็ควรจะมีปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นทุกวันๆ จนกระทั่งบัดนี้ พอที่จะมองเห็นได้ว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้อย่างไร หรือว่า การปรุงแต่งไม่หยุดนั้นเป็นความทุกข์อย่างไร การไม่ปรุงแต่งเป็นความไม่ทุกข์อย่างไร

นี่แหละ เป็นคำตอบที่พอแล้ว สำหรับจะช่วยให้มองเห็นว่า… ทำไม? พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสิ่งที่เรียกว่า “ทาง” หรือ “หนทาง” นี้ไว้ในลักษณะต่างๆกัน 

ในอันดับสูง ได้ตรัส“สติปัฏฐาน ๔” ว่าเป็น “เอกายนมรรค” หรือ หนทางอันประเสริฐ สำหรับบุคคลผู้เดียว เดินทางไปในทางเส้นเดียว เพื่อถึงจุดหมายปลายทางเพียงสิ่งเดียว อย่างนี้ก็มี คือได้ตรัส สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ว่าเป็น“ตัวทาง” 

และยังมี “ทาง” ที่ตรัสไว้ในชื่ออื่นอีกมากมาย ไม่จำเป็นที่จะต้องประมวลมาในที่นี้ ให้มากเกินไป จนทำความฟั่นเฝือรำคาญ เพียงแต่ต้องการให้ท่านทั้งหลายมองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “ทาง” นั้น จะเป็นทางที่แท้จริงขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีปัญญา เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาเจืออยู่ด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วยังไม่เป็นหนทางที่แท้จริง จะเป็นเพียงการตระเตรียมหรือต้นทางอย่างเดียวเท่านั้น หมายความว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะมองเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเดินทางนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน มีแต่จะเดินเข้าหาสิ่งซึ่งเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มากขึ้น แล้วก็จะมีความทุกข์ซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ามองเห็นเสียบ้างว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้ว จิตใจก็จะเดินทางหลีกห่างออกจากสังขารเหล่านั้น ไปตามแนวที่จะข้ามพ้นหรืออยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น ทำอันตรายตนได้ 

นี่แหละ! คือ หนทางที่แท้จริง ที่หลีกออกไปจากความทุกข์ ไปสู่ความดับทุกข์

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “การเดินทางด้วยปัญญา” เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๘ ณ โรงธรรมวัดธารน้ำไหล






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: