วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๕)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๕)   ปัญหาที่ ๕,  หีนายาวัตตนปัญหา (การเวียนมาสู่เพศที่เลว)

ปัญหาที่ ๕, หีนายาวัตตนปัญหา (การเวียนมาสู่เพศที่เลว)

พระเจ้ามิลินท์,  พระคุณเจ้านาคเสน พระศาสนาของพระตถาคตนี้ยิ่งใหญ่ มีสาระ ดีงาม ประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์หาสิ่งเปรียบเทียบมิได้ ปราศจากมลทิน ผ่องแผ้ว หาข้อติเตียนมิได้ จึงไม่ควรให้ผู้เป็นคฤหัสถ์บวชก่อน ต่อในเวลาใด ผู้เป็นคฤหัสถ์สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่งแล้ว เป็นผู้ไม่กลับมาสู่เพศที่เลวกว่าอีก ในเวลานั้น จึงค่อยให้เขาบวช  เพราะเหตุไรหรือ  พวกคนไม่ดีเหล่านี้  พอได้บวชในพระศาสนาที่บริสุทธิ์นี้แล้ว ก็ยังถอยกลับ (ลาสิกขา สึก) เวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีก เพราะการถอยกลับมาแห่งพวกเขา  พวกมหาชนนี้ ก็ย่อมคิดอย่างนี้ว่า (เห็นทีว่า) ศาสนาของพระสมณโคตะมะ จะเป็นของเหลวเปล่าหนอ  พวกคนเหล่านี้ จึงได้ถอยกลับมา ดังนี้ได้  ข้อที่ว่านี้ จัดว่าเป็นเหตุผลในการที่ไม่ควรให้พวกคฤหัสถ์ได้บวชก่อนนี้

พระนาคเสน,  ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า มีสระน้ำอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีน้ำอยู่เต็มเปี่ยม ใสสะอาด ปราศจากมลทิน เย็นดี ต่อมามีบุรุษคนใดคนหนึ่ง ผู้ประเมินเหงื่อเปื้อนสิ่งสกปรกเปือกตม ไปถึงสระน้ำนั้นแล้วก็ไม่ยอมอาบน้ำ เนื้อตัวยังเปรอะเปื้อนอยู่เทียว ก็ถอยกลับมาเสียก่อน ขอถวายพระพร ในบุรุษและในสระน้ำนั้น ผู้คนพึงติเตียนอะไร บุรุษผู้เปื้อนเหงื่อไคล หรือว่าสระน้ำนั้นเล่า ?

พระเจ้ามิลินท์,  ผู้คนพึงติเตียนบุรุษผู้เปรอะเปื้อนเหงื่อไคล ว่า ผู้นี้ไปถึงสนามแล้วก็ไม่ยอมอาบน้ำ เนื้อตัวยังเปรอะเปื้อนอยู่นั่นแหละ ก็ถอยกลับมาเสียก่อน สระน้ำนี้จะอาบน้ำให้บุรุษผู้ไม่ต้องการอาบน้ำนี่ได้เองกระไรเล่า ความผิดอะไรของสระน้ำเล่า อย่างนี้เทียว

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระตถาคตทรงสร้างสระน้ำ คือพระสัทธรรมอันประเสริฐขึ้น ซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยน้ำคือวิมุตติอันประเสริฐ ด้วยทรงดำริว่า บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้เปรอะเปื้อน มลทินคือกิเลสแต่รู้สำเหนียก มีความตั้งใจ บุคคลเหล่านั้นได้อาบน้ำในสระคือพระสัทธรรมอันประเสริฐนี้แล้ว ก็จะลอยกิเลสทั้งปวงไปเสียได้ดังนี้, ถ้าหากว่าจะมีบางคนไปถึงสระน้ำคือพระสัทธรรมอันประเสริฐนั้นแล้ว ก็กลับไม่ยอมอาบ ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่นั่นเทียว ก็ถอยกลับมาเสีย เวียนมาสู่เพศที่เลวอีก ผู้คนก็จะติเตียน ผู้นั้นนั่นแหละว่า คนผู้นี้บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ยังไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนานั้นเลยก็เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว พระศาสนานี้จะทำคนผู้ไม่ปฏิบัติผู้นี้ให้ตรัสรู้เสียเองได้กระไรเล่า ความผิดอะไรของพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเล่า อย่างนี้ได้ทีเดียว

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง ป่วยหนักอยู่ ได้พบหมอผ่าตัดผู้ฉลาดในเหตุเกิดขึ้นแห่งโรค ผู้สำเร็จการงานมั่นคง ไม่ใช่คนเหลวเปล่าแล้ว ก็ไม่ยอมให้หมอรักษา ยังป่วยอยู่นั่นเอง ก็ถอยกลับไปเสีย ในบุคคล ๒ คนนั้น ผู้คนพึงติเตียนคนไหน คนไข้หรือว่าหมอ เล่า

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ผู้คนพึงติเตียนคนไข้ว่า ผู้นี้ได้หมอผ่าตัดผู้ฉลาดในเหตุเกิดแห่งโรค ผู้สำเร็จการงานมั่นคง ไม่ใช่คนเหลวเปล่าแล้ว ก็ไม่ยอมให้หมอรักษา ยังป่วยอยู่นั่นเทียวก็ถอยกลับไปเสียได้ หมอเองจะรักษาคนผู้ไม่ยอมให้รักษานี้ได้กระไรเล่า ความผิดอะไรของหมอเล่า ดังนี้ได้

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตทรงบรรลุ โอสถอมตะที่สามารถสงบความป่วยไข้คือกิเลสทั้งสิ้น ไว้ในตลับยาคือพระศาสนาด้วยทรงดำริว่า บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ถูกความป่วยไข้คือกิเลสบีบคั้น แต่ว่ารู้สำเหนียก มีความตั้งใจ บุคคลนั้นดื่มโอสถอมตะนี้แล้ว ก็จะสงบความป่วยไข้คือกิเลสทั้งปวงได้ดังนี้ ถ้าหากว่ามีบางคน ไม่ยอมดื่มโอสถอมตะนั้นแล้ว ทั้งๆที่ยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่นั่นเทียว ก็ถอยกลับไป เวียนกลับมาสู่เพศที่เลวไซร้ ผู้คนจะติเตียนเขานั่นแหละ ว่า คนผู้นี้บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ยังไม่ทันได้ที่พึ่งในพระศาสนานั้นเลย ก็เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว พระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า จะทำให้เขาผู้ไม่ยอมปฏิบัตินี้ได้ตรัสรู้เสียเองได้อะไรเล่า ความผิดอะไรของพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเล่า ดังนี้ได้

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้หิวข้าวอยู่คนหนึ่ง ไปถึงสถานที่เลี้ยงอาหารบุญครั้งยิ่งใหญ่สำคัญแล้ว ก็ไม่ยอมบริโภคอาหารนั้น ยังหิวอยู่นั่นเทียว ก็ถอยกลับไปเสีย ในบุรุษคนผู้หิวข้าวและอาหารบุญนั้น ผู้คนพึงติเตียนอะไรเล่า บุรุษผู้หิวอยู่หรือว่าอาหารบุญ ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ผู้คนพึงติเตียนบุรุษผู้หิวอยู่ว่า ผู้นี้ถูกความหิวบีบคั้นอยู่ ได้อาหารบุญแล้วก็ยังไม่ยอมบริโภค ยังหิวอยู่นั่นเทียว ก็ถอยกลับมาเสีย ของกินจะเข้าปากบุรุษผู้ไม่ยอมบริโภคคนนี้ได้เองกระไรเล่า ความผิดอะไรของของกินเล่า ดังนี้ได้

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตทรงวางของกินคือกายคตาสติอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม สงบ เกษม ประณีต เป็นอมตะ มีรสอร่อยอย่างยิ่ง ไว้ในสำรับคือพระศาสนา ด้วยทรงดำริว่า บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้ถูกความหิวคือกิเลสแผดเผา ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต แต่เป็นผู้รู้สำเหนียก มีความตั้งใจ บุคคลเหล่านั้นบริโภคของกินนี้แล้ว ก็จะขจัดตัณหาทั้งปวงในกามภพ รูปภพ และอรูปภพได้ ดังนี้ ถ้าหากว่าจะมีบางคนไม่ยอมบริโภคของกินนั้น กลับเวียนมาสู่เพศที่เลวไซร้ ผู้คนจะติเตียนคนผู้นั้นนั่นแหละ ว่า คนผู้นี้บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ยังไม่ทันได้ที่พึ่งในพระศาสนานั้นเลย ก็เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว พระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าจะช่วยให้บุรุษผู้ไม่ยอมปฏิบัติผู้นี้ตรัสรู้เสียเองได้กระไรเล่า ความผิดอะไรของพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเล่า ดังนี้ได้

ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงอนุญาตให้คฤหัสถ์ผู้สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่งเสียก่อนเท่านั้นได้บวชไซร้ ชื่อว่าการบวชนี้ ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อการละกิเลส หรือเพื่อวิสุทธิ กิจที่พึงกระทำด้วยการบวชก็ไม่มี ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งที่เขาขุดสระน้ำไว้ด้วยการกระทำ (การขุด) หลายร้อยครั้ง แล้วบอกให้ได้ยินต่อๆ กันไปในบริษัทอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ใครๆ ผู้เปรอะเปื้อนเหงื่อไคลขออย่าลงสู่สระนี้เลย ผู้ที่ล้างขี้ฝุ่นเหงื่อไคลเนื้อตัวสะอาด ขัดสีมลทินออกแล้ว ขอจงย่างลงสู่สระน้ำนี้เถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร สำหรับคนที่ล้างขี้ฝุ่นเหงื่อไคลเนื้อตัวสะอาด ขัดสีมลทินออกแล้วเหล่านั้น พึงมีกิจที่พึงทำด้วยสระน้ำนั้นอยู่อีกหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า บุคคลเหล่านั้น เข้าไปสู่สระน้ำนั้นเพื่อประโยชน์แก่ (การทำ) กิจใด พอเว้นกิจที่พึงทำ (ด้วยน้ำ) ซึ่งคนเหล่านั้นได้ทำเสียก่อนแล้วเท่านั้น (เมื่อเป็นเช่นนี้) ประโยชน์อะไรด้วยสระน้ำสำหรับคนเหล่านั้นอีกเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงอนุญาตเฉพาะคฤหัสถ์ผู้สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่งเสียก่อนเท่านั้น ให้บวชได้ไซร้ กิจที่พึงทำในการบวชนั้นนั่นแหละ คนเหล่านั้นก็ได้ทำแล้ว (ก่อนบวช) ประโยชน์อะไรด้วยการบวชสำหรับคนเหล่านั้นอีกเล่า

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า หมอรักษาโรคผู้อันฤาษีชุบเลี้ยงมา ผู้ทรงจำบทมนต์ที่สดับมาได้ คงแก่เรียน ฉลาดในเหตุเกิดขึ้นแห่งโรค สำเร็จการงานมั่นคง ปรุงยาที่ใช้รักษาโรคทั้งปวงได้แล้ว ก็บอกให้ได้ยินต่อๆ กันไปในบริษัทว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ใครๆ ที่มีความเจ็บป่วยขอจงอย่าได้เข้าไปในสำนักของเราเลย ผู้ที่ไม่มีความเจ็บป่วยไม่มีโรค ขอจงเข้าไปในสำนักของเราเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร สำหรับคนผู้ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรค บริบูรณ์อยู่ สบายใจอยู่เหล่านั้น พึงมีกิจที่ต้องให้หมอทำหรือหนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า คนเหล่านั้นเข้าไปหาหมอรักษาโรคเพื่อประโยชน์แก่กิจ (คือการรักษาโรค) ใด เว้นกิจที่พึงทำซึ่งคนเหล่านั้นได้ทำแล้วนั้นเสียเท่านั้น (เมื่อเป็นเช่นนี้)(เมื่อหายป่วยแล้ว – ณัฏฐ) ประโยชน์อะไรด้วยหมอสำหรับคนเหล่านั้นเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงอนุญาตคฤหัสถ์ผู้สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่งเสียก่อนเท่านั้น ให้บวชได้ไซร้ จิตที่พึงทำในการบวชนั้นนั่นแหละ บุคคลเหล่านั้นก็ได้ทำแล้ว (เมื่อเป็นเช่นนี้) ประโยชน์อะไรด้วยการบวชสำหรับคนเหล่านั้นอีกเล่า

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งจัดเตรียมโภชนาหาร มีของสุกหลายร้อยถาด แล้วก็บอกกล่าวให้ได้ยินต่อๆ กันไปในบริษัท ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ใครๆ ที่หิวขอจงอย่าเข้าไปสู่สถานที่เลี้ยงอาหารนี้ของข้าพเจ้าเลย ผู้ที่บริโภคดีแล้ว อิ่มหนำแล้ว เพียงพอแล้ว เอิบอิ่มเต็มที่แล้ว ขอจงเข้าไปสู่สถานที่เลี้ยงอาหารนี้เถิด ขอถวายพระพร สำหรับคนที่บริโภคดีแล้ว อิ่มหนำแล้ว เพียงพอแล้ว เอิบอิ่มเต็มที่แล้วเหล่านั้น พึงมีกิจที่ต้องทำด้วยโภชนาอาหาร (คือการบริโภคอาหาร) นั้นอีกหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า คนเหล่านั้นพึงเข้าไปสู่สถานที่เลี้ยงอาหารเพื่อประโยชน์แก่ (การทำ) กิจใด เว้นกิจที่พึงทำนั้น ซึ่งคนเหล่านั้นได้ทำแล้วเสียเท่านั้น (เมื่อเป็นเช่นนี้) ประโยชน์อะไรด้วยสถานที่เลี้ยงอาหารสำหรับคนเหล่านั้นอีกเล่า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงอนุญาตคฤหัสถ์ผู้สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่งเสียก่อนเท่านั้นให้บวชได้ไซร้ กิจที่พึงทำในการบวชนั้นนั่นแหละ คนเหล่านั้นก็ได้ทำแล้ว (เมื่อเป็นเช่นนี้) ประโยชน์อะไรด้วยการขอบวชสำหรับคนเหล่านั้นอีกเล่า

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง บุคคลเหล่าใดเวียนกลับมาสู่เพศที่เลว บุคคลเหล่านั้นยังทำคุณที่ไม่อาจชั่งได้ ๕ อยากแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าให้ปรากฏได้ ทำคุณ ๕ ประการอะไรบ้างให้ปรากฏได้ ? ได้แก่ ทำความที่พระศาสนาเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ๑, ทำความที่พระศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ปราศจากมลทินให้ปรากฏ ๑, ทำความที่พระศาสนาอันพวกคนชั่วไม่อาจอยู่ร่วมได้ให้ปรากฏ ๑, ทำความที่พระศาสนาเป็นของแทงตลอดได้ยากให้ปรากฏ ๑, ทำความที่พระศาสนาอันบุคคลรักษาได้ด้วยสังวรเป็นอันมากให้ปรากฏ ๑

ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ อย่างไร ? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้ไร้ทรัพย์ มีชาติต่ำทราม หาข้อดีพิเศษไม่ได้ ความรู้ก็เสื่อม ได้รับราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็ย่อมตกไป เลิกร้างไป เสื่อมไปจากอิสริยยศ ต่อกาลไม่นานเลยทีเดียว ย่อมไม่อาจจะทรงอิสริยยศเอาไว้ได้ เพราะอะไร ? เพราะอิสริยยศเป็นภูมิที่ยิ่งใหญ่ ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้หาข้อดีพิเศษมิได้ ไม่ได้ทำบุญไว้ ความรู้ก็เสื่อม บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า บุคคลเหล่านั้น เมื่อไม่สามารถจะทรงการบวชที่ประเสริฐสุดเอาไว้ได้ ก็ย่อมตกไปเลิกร้างไป เสื่อมไปจากพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว ต่อกาลไม่นานเลยทีเทียว ย่อมไม่อาจที่จะทรงพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเอาไว้ได้ เพราะเหตุไร ? เพราะภูมิคือพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเป็นของยิ่งใหญ่ ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ตามประการดังกล่าวมานี้

ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ปราศจากมลทินให้ปรากฏ อย่างไร ? ขอถวายพระพร น้ำตกลงไปบนใบบัวแล้ว ก็ย่อมกระเซ็นไหลกลิ้งไป ไม่ถึงความตั้งอยู่ได้ ไม่ติดอยู่ เพราะเหตุไร ? เพราะใบบัวเป็นของเกลี้ยงเกลาปราศจากมลทิน ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเจ้าเล่ห์ คดโกง มีความเห็นไม่สมควร บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า บุคคลเหล่านั้นกระเซ็นไหลกลิ้งไปจากพระศาสนาที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ไม่มีเสี้ยนหนาม ผ่องแผ้ว ประเสริฐยอดเยี่ยม ตั้งอยู่ไม่ได้ ติดอยู่ไม่ได้ แล้วก็ย่อมเวียนกลับสู่เพศที่เลวต่อกาลไม่นานเลยทีเดียวเพราะเหตุไร ? เพราะพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเป็นของบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ปราศจากมลทินให้ปรากฏตามประการดังกล่าวมานี้

ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาอันพวกคนชั่วไม่อาจอยู่ร่วมด้วยได้ให้ปรากฏ อย่างไร ? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า มหาสมุทร ย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากสัตว์ตาย ซากสัตว์ตายใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมซัดซากสัตว์ตายนั้นไปสู่ฝั่ง หรือสัตว์ขึ้นไปบนบกโดยเร็วทีเดียว เพราะเหตุไร ? เพราะมหาสมุทรเป็นที่อยู่ของสัตว์เป็นใหญ่ๆ ทั้งหลาย ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นคนชั่วช้า ไม่สำรวม ไม่ละอาย หากิริยามิได้ ย่อหย่อนความเพียร เกียจคร้าน มัวหมอง เป็นคนทรชน บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า บุคคลเหล่านั้นย่อมต้องออกไปจากพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ใหญ่คือพระอรหันต์ขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน อยู่ร่วมกันมิได้ ต้องเวียนกลับมาสู่เพศที่เลว เพราะเหตุไร ? เพราะพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าอันคนชั่วไม่อาจอยู่ร่วมด้วยได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าย่อมทำความที่พระศาสนาอันพวกคนชั่วไม่อาจอยู่ร่วมด้วยได้ให้ปรากฏ ตามประการดังกล่าวมานี้

ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นของแทงตลอดได้ยากให้ปรากฏ อย่างไร ? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พวกนายขมังธนูพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไม่ฉลาด ไม่ได้ศึกษาในการยิงธนู ไม่ได้เรียนศิลปะในการยิงธนู มีความรู้เสื่อมทราม เมื่อไม่สามารถจะยิงถูกขนทราย (ซึ่งปักไว้ที่เป้า) ได้ ก็ย่อมล้มเหลวหลีกไป เพราะเหตุไร ? เพราะขนทรายเป็นของละเอียด สุขุม ยิงไปให้ถูกได้ยาก ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นคนทรามปัญญา บ้าเซ่อ หลงเลอะ เป็นชนผู้มีคติมืดบอด ย่อมบวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า บุคคลเหล่านั้นเมื่อไม่สามารถจะแทงตลอดธรรมที่ควรแทงตลอดคือสัจจะ ๔ อันละเอียดสุขุมอย่างยิ่งได้ ก็ต้องล้มเหลว หลีกไปจากพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว ต่อกาลไม่นานเลย เพราะเหตุไร ? เพราะสัจจะทั้งหลายเป็นของละเอียด สุขุม แทงตลอดได้ยากยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาเป็นของแทงตลอดได้ยากให้ปรากฏ ตามประการดังกล่าวมานี้

ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนาอันบุคคลรักษาไว้ด้วยสังวรเป็นอันมากให้ปรากฏ อย่างไร ? ขอถวายพระพรเปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนเข้าไปสู่ยุทธภูมิครั้งยิ่งใหญ่ ถูกกองทัพปรปักษ์ห้อมล้อมทางทิศใหญ่ทิศน้อย โดยรอบอยู่ เห็นชนผู้มีมือถือหอกมุ่งเข้ามาก็กลัว ถอยหนีกลับไป เพราะเหตุไร ? เพราะกลัวการรักษา (การใช้) ยุทธวิธีอย่างต่างๆ เป็นอันมาก ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งเป็นคนชั่ว ไม่สำรวม ไม่มีความละอาย หากิริยาไม่ได้ ไม่อดทน กลอกกลิ้ง โลเล สถุล เป็นคนพาล ย่อมบวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า บุคคลเหล่านั้น เมื่อไม่อาจรักษาสิกขาบทต่างๆ มากมายได้ ก็ท้อถอยหนีกลับไป เวียนกลับมาสู่เพศที่เลว ต่อกาลไม่นานเลย เพราะเหตุไร ? เพราะพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าเป็นของที่ต้องรักษาไว้ด้วยสังวรมีอย่างต่างๆ เป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่า ย่อมทำความที่พระศาสนา อันบุคคลรักษาได้ด้วยสังวรเป็นอันมากให้ปรากฏตามประการดังกล่าวมานี้

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ในกอมะลิซ้อน แม้นับว่าสูงสุดแห่งบรรดาดอกไม้ที่เกิดบนบก (ถึงอย่างไรๆ) ก็ยังมีบางดอกถูกหนอนเจาะ ดอกที่ถูกหนอนเจาะเหล่านั้น มีขั้วดอกที่เหี่ยวโดยแล้วก็ย่อมตกล่วงไปเสียในระหว่างทีเดียว ก็แลกอดอกมะลิจะได้ชื่อว่าเป็นกอดอกไม้ชั้นเลวเพราะมีบางดอกถูกหนอนเจาะตกล่วงไป ก็หาไม่ ดอกที่ยังดำรงอยู่ได้ในกอมะลิซ้อนนั้น ย่อมมีกลิ่นหอมแพร่ไปสู่ทิศใหญ่ทิศน้อย ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลพวกที่บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีกนั้น บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากสีและกลิ่น (ปราศจากคุณธรรม – ณัฏฐ) มีอาการที่หาข้อสรรเสริญ (ของศีล – ณัฏฐ) มิได้เป็นปกติ ดุจดอกมะลิซ้อนที่ถูกหนอนเจาะ เป็นคนอาภัพต่อความเจริญงอกงามในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ก็แล พระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าจะชื่อว่าเป็นของต่ำทรามเพราะการที่บุคคลนั้นยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลว ก็หาไม่ พวกภิกษุที่ยังดำรงอยู่ได้ในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นผู้มีกลิ่นหอมคือศีลประเสริฐแพร่ไปตลอดโลกพร้อมทั้งเทวดา ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บรรดาข้าวสาลีแดงทั้งหลายที่ปราศจากโรคภัย ข้าวสาลีแดงชนิดหนึ่งชื่อว่า กรุมภกะ เกิดขึ้นแล้วก็เสียไประหว่างเทียว (ยังไม่ทันแก่ ก็เสียไปก่อน – ณัฏฐ) ก็แล ข้าวสาลีแดงทั้งหลายจะได้ชื่อว่า เป็นข้าวสาลีชั้นเลว เพราะการที่ข้าวสาลีชนิดนั้นเสียไป ก็หาไม่ ในบรรดาข้าวสาลีแดงเหล่านั้นข้าวสาลีที่ดำรงอยู่ได้ (ไม่เสียไปในระหว่าง) ก็สมควรเป็นเครื่องเสวยสำหรับพระราชาฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลพวกที่บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า แล้วก็ยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีกนั้น บุคคลเหล่านั้นไม่เจริญ ไม่ถึงความงอกงามในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ย่อมเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวในระหว่างเทียว ดูในบรรดาข้าวสาลีแดงทั้งหลาย ข้าวสาลีกรุมภกะไม่เจริญ ไม่ถึงความงอกงาม ย่อมเสียไปในระหว่างเทียว ฉะนั้น ก็แล พระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นของต่ำทราม เพราะการที่บุคคลเหล่านั้นเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวก็หาไม่ ภิกษุทั้งหลายที่ดำรงอยู่ได้ในพระศาสนานั้น ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้สมควรต่อความเป็นพระอรหันต์ ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า แม้แต่แก้วมณีที่คอยมอบแต่สิ่งที่ต้องการให้ ก็ยังมีบางส่วนเกิดเป็นปมหยาบกระด้าง เป็นตำหนิ ขึ้นมาได้ ก็แล แก้วมณีจะได้ชื่อว่าเป็นแก้วชั้นเลว เพราะการที่ตรงส่วนนั้นเกิดเป็นปมหยาบกระด้างขึ้นมา ก็หาไม่ ในทุกส่วนแห่งแก้วมณีนั้น ส่วนใดบริสุทธิ์ ส่วนนั้นย่อมบันดาลแต่ความบันเทิงแก่ผู้คน ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลพวกที่บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้วก็ยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีกนั้น บุคคลเหล่านั้นจัดว่าเป็นคนหยาบกระด้าง เป็นสะเก็ดในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ก็แลพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า จะได้ชื่อว่าเป็นของต่ำทราม เพราะการที่บุคคลเหล่านั้นยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีก ก็หาไม่ พวกภิกษุทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ได้ในพระศาสนานั้น ย่อมเป็นผู้ทำความบันเทิงให้เกิดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า แม้จันทร์แดงที่ถึงพร้อมด้วยชาติพันธุ์ ก็ยังมีบางส่วนเน่าเสีย หมดกลิ่นไป จันทร์แดงจะได้ชื่อว่าเป็นของเลวเพราะเหตุนั้น ก็หาไม่ ในบรรดาส่วนเหล่านั้น ส่วนที่ไม่เน่าเสีย มีกลิ่นหอมดี ย่อมแพร่ไป ทำให้หอมตลบไปโดยรอบ ฉันใด ขอถวายพระพร บุคคลผู้ที่บวชในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้วก็ยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีก บุคคลเหล่านั้นจัดว่าเป็นผู้ที่ควรถูกขจัดทิ้งในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า ส่วนที่เน่าเสียในแก่นจันทน์แดง ฉะนั้น ก็แล พระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นของต่ำทรามเพราะการที่คนเหล่านั้นยังเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีก ก็หาไม่ พวกภิกษุที่ดำรงอยู่ได้ในพระศาสนานั้น ย่อมใช้จันทน์แดงคือศีลอันประเสริฐคอยฉาบทาโลกพร้อมทั้งเทวดาไว้ ฉันนั้นเหมือนกัน

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน เป็นอันพระคุณเจ้าได้แสดงลักษณะของพระชินวรพุทธเจ้าถึงความไม่มีข้อหน้าตำหนิโดยความเป็นพระศาสนาที่ประเสริฐสุดด้วยเหตุผลที่เหมาะสม (กับอุปมา) นั้นๆแล้ว บุคคลแม้ว่าเวียนกลับมาสู่เพศที่เลวได้อีก ก็ยังทำความประเสริฐแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าให้ปรากฏได้แล

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวกับการเวียนมาสู่เพศที่เลว เรียกว่า หีนายาวัตตนปัญหา.  เพศฆราวาส ชื่อว่า เพศที่เลว เมื่อเทียบกับเพศบรรพชิต เพราะครองเรือนบริโภคกาม.   คำว่า สำเร็จในผลสักอย่างหนึ่ง คือสำเร็จในสามัญญผลสักอย่างหนึ่งในบรรดาสามัญญผล ๔ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ความว่า สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลสักจำพวกหนึ่ง ในบรรดาพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีพระโสดาบันเป็นต้น เป็นความจริงว่า บรรพชิตนักบวชที่เป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย ย่อมไม่ลาสิกขา เวียนกลับมาสู่เพศที่แล้วอีกเลยโดยประการทั้งปวง

คำว่า ด้วยสังวรเป็นอันมาก คือด้วยสังวร (ธรรมเครื่องสำรวม) ๕ อย่าง คือปาฏิโมกขสังวร ๑, สติสังวร ๑, ญาณสังวร ๑, วิริยสังวร ๑, และ ขันติสังวร ๑.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ อรหันตเวทนาเวทิยนปัญหา (การเสวยเวทนาแห่งพระอรหันต์ – ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า พระอรหันต์เสวยเวทนาอย่างเดียว คือเวทนาทางกายไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน จิตของพระอรหันต์อาศัยกายใดเป็นไป พระอรหันต์มิได้เป็นใหญ่ มิได้เป็นเจ้าของ มิได้มีอำนาจเป็นไปในกายนั้นหรือ อย่างไร ?

พระนาคเสน, ถูกต้องแล้ว มหาบพิตร

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่พระอรหันต์นั้นมิได้เป็นใหญ่ มิได้เป็นเจ้าของ มิได้มีอำนาจเป็นไปในกายที่เป็นไปสำหรับจิตของตนนี้ ไม่สมควรเลย พระคุณเจ้า แม้แต่นกอาศัยอยู่ประจำในรังไหน ก็ย่อมเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของ มีอำนาจเป็นไปในรังนั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ คล้อยตามกาย เเล่นตามกาย แปรเปลี่ยนไปตามกายทุกๆ ภพ ธรรม ๑๐ อย่างอะไรบ้าง ได้แก่ ความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ ความง่วง ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ขอถวายพระพร ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้แล คล้อยไปตามกาย แล่นไปตามกาย แปรเปลี่ยนไปตามกายทุกๆ ภพ พระอรหันต์มิได้เป็นใหญ่ มิได้เป็นเจ้าของ มิได้มีอำนาจเป็นไปในกายนั้น

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุใดพระอรหันต์จึงหาอำนาจหรือความเป็นใหญ่ในกายไม่ได้เล่า ? ขอท่านจงบอกเหตุผลในข้อที่ว่านั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินเหล่าใดเหล่าหนึ่ง สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเที่ยวไปได้ อยู่ได้ สำเร็จความเป็นไปได้เพราะล้วนแต่ได้อาศัยแผ่นดิน ขอถวายพระพร สัตว์เหล่านั้นมีอำนาจหรือความเป็นใหญ่เป็นไปในแผ่นดินหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น จิตของพระอรหันต์อาศัยกายเป็นไป แต่ว่าพระอรหันต์หามีอำนาจหรือความเป็นใหญ่ เป็นไปในกายไม่

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เพราะเหตุใดผู้เป็นปุถุชนจึงสวยเวทนาทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้เล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ปุถุชนเสวยเวทนาทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้ เพราะมิได้อบรมจิต ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า โคที่หิวอยู่ ที่อยากกินอยู่ ถูกเขาผูกติดไว้ที่กอหญ้าเล็กๆ อันไม่มีกำลัง อันอ่อนกำลัง หรือที่เถาวัลย์ เวลาใด โคตัวนั้นกำเริบหงุดหงิดขึ้นมา เวลานั้นมันจะหลีกไปเสียพร้อมกับสิ่งที่ผูกติด ฉันใด ขอถวายพระพร เวทนาของปุถุชนผู้ไม่ได้อบรมจิต เกิดขึ้นแล้วก็ทำจิตให้กำเริบจิตที่กำเริบย่อมดัด ย่อมบิดซึ่งกาย ย่อมทำกายให้แปรปรวนไป เมื่อเป็นเช่นนั้น ปุถุชนผู้มีจิตไม่ได้อบรมนั้น จึงสะดุ้งกลัว จึงร้อง จึงส่งเสียงร้องดังน่ากลัว ขอถวายพระพร นี่คือเหตุในเรื่องนี้ที่ทำให้ปุถุชนเสวยเวทนาทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้

พระเจ้ามิลินท์, ก็เหตุอะไรเล่า ที่ทำให้พระอรหันต์เสวยเวทนาอย่างเดียว คือเวทนาทางกาย มิได้เสวยเวทนาทางใจ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร จิตของพระอรหันต์เป็นธรรมชาติที่ได้อบรมแล้ว อบรมดีแล้ว ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้ว จึงทำได้ตามที่พูดเป็นแน่แท้ พระอรหันต์นั้น เมื่อถูกทุกขเวทนากระทบเอา ก็ย่อมถือมั่นว่า “ไม่เที่ยง” เป็นต้น ย่อมผูกติดไว้ที่เสาคือสมาธิ จิตของท่านที่ผูกไว้ที่เสาคือสมาธินั้น ย่อมไม่คลอนแคลน ไม่สั่นไหว เป็นธรรมชาติตั้งอยู่ไม่ซัดส่าย เพราะความแผ่ไปแห่งวิการของเวทนานั้น กายของท่านก็ย่อมคดไป บิดไป แปรปรวนไป ขอถวายพระพร นี้คือเหตุในเรื่องนี้ ซึ่งจัดเป็นเหตุที่ทำให้พระอรหันต์เสวยเวทนาอย่างเดียว คือทางกาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ว่า เมื่อกายหวั่นไหว (ด้วยอภิชฌาโทมนัส – ณัฏฐ) แต่จิตกลับไม่หวั่นไหว ชื่อว่าเป็นของน่าอัศจรรย์ในโลก ขอท่านจงบอกเหตุผลในเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เมื่อต้นไม้ต้นใหญ่โตอันสมบูรณ์ด้วยลำต้น กิ่งและใบ ดูกำลังลมกระหน่ำกิ่งไม้ก็ย่อมสั่นไหว ลำต้นแห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมสั่นไหวด้วยหรือหนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้ พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระอรหันต์พอถูกทุกขเวทนากระทบเอา ก็ย่อมถือมั่นว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น ย่อมผูกติดไว้ที่เสาคือสมาธิ จิตของท่านที่ผูกไว้ที่เสาคือสมาธินั้น ย่อมไม่คลอนแคลน ไม่สั่นไหว เป็นธรรมชาติตั้งอยู่ไม่ซัดส่าย เพราะความแผ่ไปแห่งวิการของเวทนานั้น กายของท่านก็ย่อมคดไป บิดไป แปรปรวนไป แต่ว่าจิตของท่านย่อมไม่คลอนแคลน ไม่สั่นไหว เหมือนลำต้นแห่งต้นไม้ใหญ่ ฉะนั้น

พระเจ้ามิลินท์, น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน น่าแปลกจริง พระคุณเจ้า นาคเสน ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นประทีปส่องธรรมได้ตลอดกาลทั้งปวง เช่นนี้มาก่อนเลย.   จบอรหันตเวทนาเวทิยนปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับการเสวยเวทนาแห่งพระอรหันต์ ชื่อว่า อรหันตเวทนาเวทิยนปัญหา.  ในบรรดาธรรม ๑๐ อย่าง มีความเย็น ความร้อนเป็นต้นนั้น ชื่อว่า ความง่วง (ถีนมิทธะ) ที่ยังเป็นไปแก่กายของพระอรหันต์นั้น ได้แก่ ความกะปลกกะเปลี้ยเพลียแรงแห่งร่างกายที่เป็นเหตุให้ท่านรู้ว่า ถึงคราวจำต้องพักกายด้วยการนอนหลับเท่านั้น ไม่ใช่ความโงกง่วงอย่างที่เป็นนิวรณ์ที่เรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์ เพราะพระอรหันต์ละนิวรณ์ทั้งหลายได้แล้ว ความว่า ธรรม ๑๐ อย่างคล้อยตามกาย คือเป็นไปเนื่องกับกาย เพราะฉะนั้น แม้พระอรหันต์เมื่อท่านมีกาย ท่านก็ย่อมมีเวทนาเสวยอารมณ์ในคราวที่ร่างกายของท่านเกิดเย็น เกิดร้อน เป็นต้น

ในอุปมา สัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าอาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินก็หามีอำนาจเหนือพื้นแผ่นดินไม่ฉันใด จิตของสัตว์ทั้งหลายในปัญจโวการภูมิ (ภูมิที่มีขันธ์ ๕) แม้ว่าเป็นไปอาศัยกาย ก็หามีอำนาจเหนือกายเกี่ยวกับจะบังคับกายว่า จงอย่าให้เย็น จงอย่าร้อนเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การห้ามความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทางกายไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พระอรหันต์ ก็ยังต้องมีเวทนาเสวยอารมณ์เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา ในคราวที่มีความเย็น ความร้อน เป็นต้น มากระทบกาย ซึ่งเป็นกายที่ไม่อาจบังคับบัญชาได้นั้น พูดง่ายๆ ว่าท่านต้องคอยรู้สึกสุขทุกข์กาย ก็แต่ว่า เมื่อเกิดสุขเวทนาทางกายขึ้น จิตใจของท่านก็มิได้หวั่นไหวไปด้วยอำนาจความยินดี เมื่อเกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้น จิตใจของท่านก็มิได้หวั่นไหวไปด้วยอำนาจความยินร้าย ทว่า ตั้งมั่นวางเฉยในสุขและทุกข์นั้น นี้เป็นความหมายของคำว่า ท่านเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจด้วย ในที่นี้ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะท่านได้อบรมจิตไว้ดีแล้ว ส่วนผู้เป็นปุถุชนทั้งหลาย เมื่อเกิดสุขเวทนา หรือทุกข์เวทนาทางกายขึ้น จิตใจก็ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจความยินดีหรือยินร้าย ชื่อว่า ย่อมเสวยเวทนาทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะปุถุชนมิได้อบรมจิตไว้ดีแล้ว อย่างจิตของพระอรหันต์.  จบอธิบายปัญหาที่ ๖,   จบมิลินทปัญหา ตอนที่ ๔๕.

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: