กึสูธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ.
แปลว่า "อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ ?" (มาในอาฬวกสูตร)
บทว่า วิตฺตํ แปลว่า ทรัพย์ ฯ ก็ทรัพย์นั้น ย่อมกระทำความปลื้มใจกล่าวคือปีติ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สทฺธีธ วิตฺตํ “ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของคนในโลกนี้”
อธิบายว่า
“ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอื่นๆมีเงินทองเป็นต้นย่อมนำมาซึ่งความสุขในการใช้สอย ย่อมป้องกันความทุกข์ที่เกิดจากความหิวกระหายเป็นต้น ย่อมระงับความยากจน ย่อมเป็นเหตุให้ได้แก้วมีมุกดาเป็นต้น และย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลกฉันใด แม้ศรัทธาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ย่อมนำมาซึ่งวิบากสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระตามที่เกิดขึ้น ย่อมป้องกันทุกข์มีชาติและชราเป็นต้นของผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ ศรัทธาย่อมระงับความยากจนแห่งคุณ (ไม่จนคุณงามความดี) และเป็นเหตุให้ได้สติสัมโพชฌงค์เป็นต้น (เป็นเหตุเกิดสติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น) ฉันนั้น”
ศรัทธาท่านกล่าวว่า “เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ” เพราะจัดว่า ย่อมนำมาซึ่งความสืบต่อแห่งโลกตามพระพุทธพจน์ว่า
“ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศและโภคะ ไปสู่ถิ่นใด ๆ เขาบูชาในถิ่นนั้น ๆ” (คนมีศรัทธามีศีลทำแต่คุณงามความดีไปที่ไหนๆ ใครๆ ก็ยินดีตอนรับ)
ก็เพราะทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธานี้เป็นเครื่องติดตามไป ทั้งไม่ทั่วไปแก่คนอื่นๆ เป็นเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง เป็นเค้ามูลแห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจอื่นๆมีเงินและทองเป็นต้นที่เป็นโลกิยะ
จริงอยู่ ผู้มีศรัทธาทำบุญมีทานเป็นต้น ย่อมได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ, ส่วนผู้ไม่มีศรัทธาก็มีจิตใจเพียงเพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธาท่านจึงกล่าวว่า “ประเสริฐ”
บทว่า ปุริสสฺส คือ บุรุษ เป็นการแสดงข้อกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ เพราะฉะนั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจคือศรัทธาแม้ของหญิงเป็นต้น ก็พึงทราบว่า “ประเสริฐ” ไม่ใช่ของบุรุษฝ่ายเดียวเท่านั้น ฯ
พระมหาวัชระ ติกฺขญาโณ
0 comments: