วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4)

สังฆโสภณ (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม) 

(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๔ )

บทที่ ๔ เทฺวอคฺคสาวกปญฺหาพฺยากรณกถา (ว่าด้วยการตอบปัญหาของพระอัครสาวกทั้งสอง)

เมื่อพระสารีบุตรเถระถามพระอานนท์ พระเรวตะ พระอนุรุทธะ และพระมหากัสสปะว่า “ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร” พระเถระเหล่านั้นได้ตอบแล้วตามทรรศนะของตนๆ ต่อไปนี้เป็นทรรศนะของพระอัครสาวกทั้งสอง

(ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานเถระ)

เมื่อท่านพระมหากัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ท่านโมคคัลลานะ ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้ใหญ่ปรากฏมีชื่อเสียงด้วยคุณมีศีลเป็นต้น จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์ของเรา”

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้ว ย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

(ทรรศนะของพระสารีบุตร)

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

ท่านพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นใหญ่มีชื่อเสียงในพระพุทธศาสนาด้วยคุณมีศีลเป็นต้นของตน คือปรากฏเหมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่ท่ามกลางท้องฟ้าอันปรากฏแก่ผู้มีจักษุ และเหมือนสาครปรากฏแก่ผู้ยืนอยู่บนฝั่งแห่งมหาสมุทรฉะนั้น  จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้มีปัญญาของเรา”

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ (ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น 

หีบผ้าของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่างๆ พระราชาหรือราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด 

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ (ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

เพราะฉะนั้น ข้อสรูปในบทที่ ๔ นี้ คือ ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงามนั้น ต้องประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ

๑. เป็นพระธรรมกถึก สามารถกล่าวอภิธรรมกถาอันเป็นธรรมที่สุขุมละเอียดอ่อนในพระบวรพุทธศาสนาได้ คือต้องศึกษาเล่าเรียนจนจบถึงพระอภิธรรมปิฎกให้ได้ด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นสืบต่อได้ด้วย

๒. ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต คือรู้จักสละปล่อยวาง อยู่ด้วยวิหารสมาบัติมีเมตตากรุณาเป็นอาทิ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ทั้งที่เป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ

(พรุ่งนี้อ่านต่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงรับรองทรรศนะของพระมหาเถระทั้งหลายเหล่านั้นอย่างไร)

สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

28/10/64



ภาพ : "พระนอน" วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ

ไหว้พระนอนใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร เชื่อกันว่า จะทำให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขดั่งร่มโพธิ์ พระปางไสยาสน์องค์นี้โดดเด่นด้วยพุทธศิลป์ มีพระพักตร์ที่งดงาม และฝีมือของการฝังมุกที่พระบาทขององค์พระ




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: