“อย่าปล่อยให้จิตของเราฟุ้งซ่านเลย”
จริงอยู่ เมื่อบุคคลประมาท ไม่มีความเพียร อกุศลวิตก ๓ ประการย่อมเกิดขึ้นและย่อมเป็นไป เพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการนั้น คือ
๑. กามวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องกาม
๒. พยาบาทวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องปองร้ายผู้อื่น
๓. วิหิงสาวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องเบียดเบียนผู้อื่น
เพราะว่า ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงอกุศลวิตกใดๆ มาก ก็มีใจน้อมไปในวิตกนั้น ๆ คือ
๑. ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงกามวิตกมาก จิตของเรานั้นก็น้อมไปเพื่อกาม
๒. ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงพยาบาทวิตกมาก จิตของเรานั้นก็น้อมไปเพื่อปองร้ายผู้อื่น
๓. ถ้ายิ่งตรึกตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก จิตของเรานั้นก็น้อมไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
เพราะฉะนั้น ต้องไม่ประมาทและมีความเพียร อุทิศกายและใจต่อกุศลธรรมทั้งหลาย โดยเห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนั้น
ดังเช่น เมื่อถึงสารทสมัยเดือนท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลาย ในที่มีข้าวกล้าหนาแน่น เขาต้องตีต้อนโคทั้งหลายไปจากที่นั้นๆ กั้นไว้ ห้ามไว้ เพื่อมิให้ฝูงโคไปกินข้าวกล้าของคนอื่น ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? เพราะคนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจองจำ การเสียทรัพย์ การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ จึงต้องทำความเพียรและไม่ประมาทอุทิศกายและใจในการเลี้ยงโคให้ดีฉะนั้น.
สาระธรรมจากเทฺวธาวิตักกสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
19/10/64
0 comments: