วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล

ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล

"โหติ   สีลวตํ  อตฺโถ,     ปฏิสนฺถาร [1 ] วุตฺตินํ;

ลกฺขณํ  ปสฺส  อายนฺตํ,    ญาติสงฺฆปุรกฺขตํ [2];

อถ  ปสฺสสิมํ  กาฬํ,     สุวิหีนํว  ญาติภีติ ฯ

ความเจริญย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้มีศีล ประพฤติในปฏิสันถาร, ท่านจงดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ผู้อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่, อนึ่ง ท่านจงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว."

1) [ปฏิสนฺธาร (ก.)]   2) [ปุรกฺขิตํ (สฺยา.), ปุเรกฺขิตํ (ก.)]

ลักขณมิคชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬวันมหาวิหารทรงปรารภ พระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  โหติ  สีลวตํ  อตฺโถ  ดังนี้.

เรื่องพระเทวทัตจนถึงการประกอบกรรมคือ การฆ่าอย่างหนัก จักมีแจ้งในกัณฑหาลชาดก เรื่องการปล่อยช้างธนปาลกะ. จักมีแจ้งในจุลลหังสชาดกและการถูกแผ่นดินสูบ จักมีแจ้งในสมุททพาณิชชาดก ในทวาทสนิบาต. 

สมัยหนึ่ง พระเทวทัตทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เมื่อไม่ได้จึงทำลายสงฆ์พาภิกษุ ๕๐๐ ไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ ครั้งนั้น ญาณของภิกษุเหล่านั้นได้ถึงความแก่กล้าแล้ว พระศาสดาทรงทราบดังนั้น จึงตรัสเรียกพระอัครสาวกทั้งสองมาว่า „ดูก่อนสารีบุตรและโมคคัลลานะ ภิกษุ ๕๐๐ ผู้เป็นนิสิตของพวกเธอ ชอบใจลัทธิของเทวทัตไปกับพระเทวทัตแล้ว ก็บัดนี้ญาณของภิกษุเหล่านั้นถึงความแก่กล้าแล้ว, พวกเธอจงไปที่นั้น พร้อมกับภิกษุจำนวนมาก, แสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นให้ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้มรรคผลแล้ว, จงพามา“ 

พระอัครสาวกทั้งสองนั้นจึงไปที่คยาสีสประเทศนั้นนั่นแหละแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นให้ตรัสรู้ธรรมด้วยมรรคผลแล้ว วันรุ่งขึ้นเวลาอรุณขึ้น จึงพาภิกษุเหล่านั้นมายังพระเวฬุวันวิหารนั้นเทียว. 

ก็แลในเวลาที่พระสารีบุตรเถระมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืนอยู่ ภิกษุทั้งหลายพากันสรรเสริญพระเถระแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเสนาบดีพี่ชายใหญ่ของข้าพระองค์ทั้งหลาย อันภิกษุ ๕๐๐ แวดล้อมมาอยู่งดงามเหลือเกิน, ส่วนพระเทวทัตเป็นผู้มีบริวารเสื่อมแล้ว“. 

พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรอันหมู่ญาติแวดล้อมมาย่อมงดงาม แต่ในบัดนี้ เท่านั้นก็หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็งดงามเหมือนกัน, ฝ่ายพระเทวทัตเสื่อมจากหมู่ญาติในบัดนี้ เท่านั้น หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็เสื่อมมาแล้วเหมือนกัน“, 

ภิกษุทั้งหลายทูล อ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้ทรงประกาศเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล พระเจ้ามคธพระองค์หนึ่ง ครองราชสมบัติในนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในกำเนิดมฤคชาติ พอเติบโต มีเนื้อหนึ่งพันเป็นบริวารอยู่ในป่า พระโพธิสัตว์นั้นมีลูก ๒ ตัว คือ ลักขณะและกาฬะ. 

ในเวลาที่ตนแก่ พระโพธิสัตว์นั้นกล่าวว่า „ลูกพ่อทั้งสอง บัดนี้ พ่อแก่แล้ว เจ้าทั้งสองจงปกครองหมู่เนื้อนี้“, แล้วให้บุตรแต่ละคนรับมอบเนื้อคนละ ๕๐๐ ตัว. ตั้งแต่นั้น เนื้อแม้ทั่งสองก็ปกครองหมู่เนื้อ.   ก็ในแคว้นมคธ ในสมัยข้าวกล้าอันเต็มไปด้วยข้าวกล้า อันตรายย่อมเกิดแก่เนื้อทั้งหลายในป่า เนื่องจากพวกมนุษย์ต้องการฆ่าพวกเนื้อที่มากินข้าวกล้า จึงขุดหลุมพรางปักขวาก ห้อยหินยนต์ [ฟ้าทับเหว] ดักบ่วงมีบ่วง ลวงเป็นต้น เนื้อเป็นอันมากพากันถึงความพินาศ. 

พระโพธิสัตว์รู้คราวที่เต็มไปด้วยข้าวกล้า จึงให้เรียกลูกทั้งสองมากล่าวว่า „พ่อทั้งสอง สมัยนี้เป็นสมัยที่เต็มแน่นไปด้วยข้าวกล้า เนื้อเป็นอันมากพากันถึงความพินาศ เราแก่แล้วจักยับยั้งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ด้วยอุบายอย่างหนึ่ง พวกเจ้าจงพาหมู่เนื้อของพวกเจ้า เข้าไปยังเชิงเขาในป่าในเวลาเขาถอนข้าวกล้าแล้วจึงค่อยมา“ บุตรทั้งสองนั้นรับคำของบิดาแล้ว พร้อมด้วยบริวารพากันออกไป. 

ก็พวกมนุษย์ทั้งหลายย่อมรู้หนทางที่พวกเนื้อเหล่านั้นไปและมาว่า „ในเวลานี้ พวกเนื้อกำลังลงจากภูเขา ในเวลานี้กำลังขึ้นภูเขา“, มนุษย์เหล่านั้นพากันนั่งในที่กำลัง ณ ที่นั้น แทงเนื้อเป็นอันมากให้ตาย. 

ฝ่ายเนื้อกาฬะ เพราะความที่ตัวโง่จึงไม่รู้ว่า „เวลาชื่อนี้ควรไป เวลานี้ไม่ควรไป“ จึงพาหมู่เนื้อไปทางประตูบ้าน ทั้งในเวลาเช้าและเวลาเย็น ทั้งเวลาพลบค่ำและเวลาใกล้รุ่ง.   พวกมนุษย์ยืนและนั่งตามปรกตินั่นแล อยู่ในที่นั้น ๆ ยังเนื้อเป็นอันมากให้ถึงความพินาศ. 

เนื้อกาฬะนั้นให้เนื้อเป็นอันมากถึงความพินาศ เพราะความที่ตนเป็นผู้โง่เขลาอย่างนี้ จึงเข้าป่าด้วยเนื้อมีประมาณน้อยเท่านั้น.

ส่วนเนื้อลักขณะเป็นบัณทิตมีปัญญา ฉลาดในอุบายรู้ว่า „เวลานี้ควรไป เวลานี้ไม่ควรไป“ เนื้อลักขณะนั้นไม่ไปทางประตูบ้าน ไม่ไปเวลากลางวันบ้าง ไม่ไปเวลาพลบค่ำบ้าง เวลาใกล้รุ่งบ้าง พาหมู่เนื้อไปเวลาเที่ยงคืนเท่านั้น. เพราะฉะนั้น เนื้อลักขณะจึงไม่ทำเนื้อแม้ตัวหนึ่งให้พินาศเข้าป่าไปแล้ว เนื้อเหล่านั้นอยู่ในป่านั้น ๕ เดือน เมื่อพวกมนุษย์ถอนข้าวกล้าแล้วจึงพากันลงจากภูเขา 

เนื้อกาฬะแม้ไปภายหลัง ก็ทำแม้เนื้อทั้งหมดให้ถึงความพินาศ โดยนัยก่อนนั่นแหละ, ผู้เดียวเท่านั้นมาแล้ว, ส่วนเนื้อลักขณะแม้เนื้อตัวเดียวก็ไม่ให้พินาศ อันเนื้อ ๕๐๐ ตัวแวดล้อมมายิ่งสำนักของบิดามารดา.   ฝ่ายพระโพธิสัตว์เห็นบุตรทั้งสองมา เมื่อปรึกษาหารือกับนางเนื้อ จึงกล่าวคาถาว่า  :-

ความจริงย่อมมีแก่คนทั้งหลายผู้มีศีล ผู้ประพฤติ ในการปฏิสันถาร, ท่านจงดูเนื้อชื้อลักขณะ ผู้อันใหม่ ญาติแวดล้อมกลับมาอยู่, อนึ่ง ท่านจงดู เนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากหมู่ญาติ ลับมาแต่ผู้เดียว“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สีลวตํ  ความว่า ชื่อว่าผู้มีศีล คือสมบูรณ์ด้วยอาจาระ เพราะมีความสุขเป็นปกติ.   บทว่า  อตฺโถ  ได้แก่ ความเจริญ.    ปฏิสนฺถารวุตฺตินํ  ชื่อว่าผู้มีปกติประพฤติโนปฏิสันถาร เพราะมีปกติประพฤติในธรรมปฏิสันถารและอามิสปฏิสันถารนั้นแก่ชนเหล่านั้นผู้มีปกติประพฤติในปฏิสันถาร ก็ในที่นี้ พึงทราบธรรมปฏิสันถารเช่นห้ามทำบาป การโอวาทและอนุศาสน์เป็นต้น 

พึงทราบอามิสปฏิสันถารเช่นการให้ได้ที่หากิน การบำรุงเฝ้าไข้และการรักษาอันประกอบด้วยธรรมท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า ชื่อว่าความเจริญย่อมมีแก่ชนผู้เป็นบัณฑิต ผู้เพียบพร้อมด้วยอาจาระผู้ตั้งอยู่ในปฏิสันถาร ๒ เหล่านั้นบัดนี้. 

พระโพธิสัตว์เมื่อจะเรียกมารดาของเนื้อเพื่อจะแสดงความเจริญนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า „ท่านจงดูเนื้อชื่อลักขณะ" ดังนี้ ในคำที่กล่าวนั้นมีความสังเขปดังนี้. 

เธอจงดูบุตรของตนผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระและปฏิสันถาร ไม่ทำแม้เนื้อตัวหนึ่งให้พินาศอันหมู่ญาติกระทำไว้ข้างหน้า คือห้อมล้อมมาอยู่ แต่เออ ก็เธอ จงดูเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้มีปัญญาเขลา ผู้ละเว้นจากสัมปทา คือ อาจาระและปฏิสันถาร ผู้เสื่อมจากญาติทั้งหลาย ไม่เหลือญาติแม้สักตัวมาแต่ผู้เดียว.   ก็พระโพธิสัตว์ชื่นชมบุตรอย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ชั่วอายุได้ไปตามยถากรรมแล้ว. 

พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรอันหมู่ญาติห้อมล้อม ย่อมงดงามในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็งดงามเหมือนกัน, พระเทวทัตเสื่อมจากหมู่คณะในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้, แม้ในกาลก่อนก็เสื่อมแล้วเหมือนกัน“ 

ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสเรื่อง ๒ เรื่อง สืบอนุสนธิต่อกันแล้วทรงประชุมชาดกว่า เนื้อกาฬะในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัต แม้บริษัทของเนื้อกาฬะนั้น ในกาลนั้นได้เป็นบริษัทของพระเทวทัต เนื้อชื่อลักขณะในกาลนั้นได้เป็นพระสารีบุตร แม้บริษัทของเนื้อลักขณะในกาลนั้นได้เป็นพุทธบริษัท. มารดาในครั้งนั้นได้เป็นพระมารดาของพระราหุล ส่วนบิดาในครั้งนั้นได้เป็นเราแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: