วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 2)

แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 2)

[ณ วัดโฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี พระพุทธเจ้าได้เล่าเรื่องอดีตที่เคยเกิดขึ้นในกรุงพาราณสีให้เหล่าภิกษุฟังว่า]

พระพุทธเจ้า:  ในกรุงพาราณสี มีพระราชาของแคว้นกาสีชื่อว่าพรหมทัต มีอาณาจักร ทรัพย์สมบัติ กำลังพล พาหนะ อาวุธและอาหารจำนวนมาก ส่วนพระราชาของแคว้นโกศลชื่อทีฆีติ มีอาณาจักร ทรัพย์สมบัติ กำลังพล พาหนะ อาวุธและอาหารจำนวนน้อย

ครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัต ยกทัพไปตีพระเจ้าทีฆีติ ซึ่งฝ่ายหลังพอทราบข่าวก็ได้พาพระมเหสีหนีออกจากเมืองไปก่อนเพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้แน่ พระเจ้าพรหมทัตเลยเข้ายึดเมืองไว้ได้ ด้าน พระเจ้าทีฆีติ กับพระมเหสี ได้หนีไปอยู่บ้านช่างหม้อคนหนึ่งใกล้ชายแดนกรุงพาราณสี ซึ่งไม่นานพระมหสีก็ให้กำเนิดลูกชายชื่อทีฆาวุ โดยภายหลังได้ให้ลูกหลบไปเรียนอยู่นอกเมือง

ต่อมา นายช่างเก่าของพระเจ้าทีฆีติได้มาเห็นพระองค์และพระมเหสีปลอมตัวอยู่ จึงเข้าไปแจ้งพระเจ้าพรหมทัต ซึ่งก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะถูกพระเจ้าพรหมทัตประหารชีวิต ได้มองเห็น ทีฆาวุ แอบมายืนดูอยู่ท่ามกลางฝูงชน จึงได้ตะโกนขึ้นว่า ‘ทีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร’

ทีฆาวุ ได้หลบเข้าป่าร้องไห้เสียใจ จากนั้นได้เข้ากรุงพาราณสีไปที่โรงช้างใกล้วังและขอเรียนศิลปวิชาจากอาจารย์ที่นั่น ซึ่งภายหลังพระเจ้าพรหมทัตได้ชื่นชอบฝีมือขับร้องดีดพิณของทีฆาวุ จึงให้มารับใช้อยู่ใกล้ตัว

อยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองได้ออกไปล่าสัตว์ด้วยกัน ทีฆาวุ สบโอกาสตอนที่พระเจ้าพรหมทัตนอนพักผ่อน ชักมีดออกมาจะทำร้าย แต่ขณะนั้นเองได้นึกถึงคำของพ่อขึ้นมา จึงเกิดความลังเล สอดมีดเก็บเข้าฝัก ทันใดนั้น พระเจ้าพรหมทัตก็สะดุ้งตื่นขึ้นแล้วบอกว่าตัวเองฝันว่าทีฆาวุจะทำร้าย ทีฆาวุจึงใช้มือซ้ายจับพระเศียร มือขวาชักมีดออกมา แล้วพูดว่า

ท:  หม่อมฉันนี่แหละคือลูกของพระเจ้าทีฆีติคนนั้น ท่านก่อความสูญเสียให้พวกเรามากมาย เอาของทุกอย่างของเราไป หนำซ้ำยังฆ่าพ่อของหม่อมฉันด้วย เวลานี้เป็นเวลาที่หม่อมฉันได้พบคู่เวรแล้ว

พ:  (ซบพระเศียรลงแทบเท้าของทีฆาวุ) ทีฆาวุ จงให้ชีวิตแก่ฉันด้วยเถิด

ท:  หม่อมฉันหรือจะอาจเอื้อมให้ชีวิตแก่ท่าน ท่านต่างหากที่ต้องให้ชีวิตแก่หม่อมฉัน

พ:  ถ้าอย่างนั้น เธอให้ชีวิตฉัน และฉันก็ให้ชีวิตเธอ

หลังจากทั้งสองกลับเข้าเมืองแล้ว พระเจ้าพรหมทัตเรียกประชุมข้าราชบริพารแล้วถามว่า

พ:  ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านได้พบเห็น ทีฆาวุ ลูกของพระเจ้าทีฆีติ ท่านจะทำอย่างไร

ข:  ข้าพระองค์จะตัดมือตัดเท้า ตัดหูตัดจมูก และตัดศีรษะด้วย

พ: ท่านทั้งหลาย ชายหนุ่มผู้นี้แล คือ ทีฆาวุ ใครจะมาทำอะไรไม่ได้ เพราะชายหนุ่มผู้นี้ได้ให้ชีวิตแก่เรา และเราก็ได้ให้ชีวิตแก่เขาแล้ว

ทีฆาวุ พ่อของเธอพูดไว้ก่อนสวรรคตว่า อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร พ่อของเธอหมายความว่าอย่างไร?

ท: ‘เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว’ หมายความว่า เจ้าอย่าจองเวรให้ยืดเยื้อ ส่วน ‘เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น’ หมายความว่า เจ้าอย่าด่วนตัดมิตรกันเร็วไป และที่ว่า ‘เวรทั้งหลายย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร’ หมายความว่า เมื่อพ่อของข้าถูกพระองค์ปลงพระชนม์ แล้วเกิดข้าไปปลงพระชนม์ท่านบ้าง ใครที่อยู่ข้างท่านก็จะมาเอาชีวิตข้า ใครที่อยู่ข้างข้า ก็จะไปเอาชีวิตคนที่ฆ่าข้าต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้ เวรจึงไม่อาจระงับได้ด้วยการแก้แค้นเอาคืน

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตฟังแล้ว ก็คืนของที่ไปเอามาจากพระเจ้าทีฆีติให้ทั้งหมด รวมทั้งได้ยกลูกสาวตนให้แต่งงานกับทีฆาวุด้วย

พระพุทธเจ้า:  ภิกษุทั้งหลาย เหล่าพระราชาที่ถืออำนาจถืออาวุธ ยังมีความอดทน (ขันติ - อดทนทางใจ) และนิ่งสงบ (โสรัจจะ - อดทนทางกาย) ถ้าพวกเธอที่ถือธรรมและวินัยที่เราสอนไว้ดีแล้ว จะพึงอดทนและนิ่งสงบด้วยก็จะดี

[จากนั้นพระพุทธเจ้าได้กล่าวเตือนภิกษุเหล่านั้นอีกเป็นครั้งที่สามว่า]

พระพุทธเจ้า:  อย่าเลยภิกษุทั้งหลาย อย่าบาดหมาง ทะเลาะแก่งแย่งกันเลย

[ภิกษุรูปหนึ่งได้ตอบกลับว่า]

ภ:  ขอท่านมีความสุขอยู่กับปัจจุบันเถิด กรุณาอย่าเข้ามาเกี่ยวข้องเลย พวกข้าพระองค์จะจัดการกันเอง

พระพุทธเจ้า: (คิด) พวกนี้หัวดื้อนัก เราจะให้พวกนี้เข้าใจกันนี่ ไม่ง่ายเลย

[จากนั้นท่านได้ลุกกลับออกไป]

_______

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 โกสัมพิขันธกะ ตรัสเรื่องทีฆาวุราชกุมาร), 2559, น.438-450

หลักพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าห้ามหรือไม่ห้ามสิ่งใด,  กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),   (ตอนที่ 4)หมอรักษาพระพุทธเจ้า,  ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณีเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม,  พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์,  ตถาคตเลิกให้พรแล้วคุณ 5 ข้อของการนอนแบบมีสติรู้ตัว,  แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),  (ตอนที่ 4),   (ตอนที่ 5),  (ตอนจบ),  "คว่ำบาตร" มีที่มาอย่างไร


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: