มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๘) ปัญหาที่ ๙ อุทกสัตตชีวปัญหา (น้ำมีชีวะ = ความเป็นสัตว์ – ณัฏฐ)
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน น้ำที่ถูกต้มอยู่บนไฟนี้ พอเดือดก็ส่งเสียง วี้ๆ หลายอย่าง พระคุณเจ้า น้ำมีชีวิตหรือหนอ ส่งเสียงเล่นหรือ หรือว่าถูกสิ่งอื่นบีบคั้นจึงส่งเสียง ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร น้ำหามีชีวิตไม่ ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ ขอถวายพระพร แต่ทว่า เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียง วี้ๆ หลายอย่าง
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกเดียรถีย์บางพวกในโลกนี้คิดว่าน้ำมีชีวิต จึงปฏิเสธน้ำเย็น ทำน้ำให้ร้อนแล้วบริโภคน้ำที่มีการทำให้วิปริตผิดแปลกไป พวกเดียรถีย์เหล่านั้น ย่อมติเตียนดูหมิ่นพวกท่าน ว่า พวกสมณศากบุตรยังเบียดเบียนอินทรีย์ชีวะอยู่อย่างหนึ่ง ขอท่านจงบรรเทาจงขจัดปัดเป่าคำติเตียนนั้น ของพวกเดียรถีย์เหล่านั้นเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร น้ำไม่มีชีวิตหรอก ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ แต่ทว่า เพราะความที่กำลังร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียงวิ้ๆ หลายอย่าง. ขอถวายพระพร, เปรียบเหมือนว่า เพราะความที่กำลังลมและแดดรุนแรง น้ำที่อยู่ในโรง สระ ลำธาร ทะเล ตระพังน้ำ ร่องน้ำที่ซอกเขา บ่อน้ำ ที่ลุ่ม สระโบกขรณี จึงถูกขจัดจนถึงความสิ้นไป ก็แต่ว่า น้ำในสถานที่เหล่านั้น ย่อมส่งเสียง วี้ๆหลายอย่างหรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าน้ำพึงมีชีวิตไซร้ น้ำแม้ในสถานที่เหล่านั้นก็จะพึงส่งเสียง ขอถวายพระพร เพราะเหตุผลแม้ข้อนี้ ก็จงทรงทราบเถิดว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ แต่ทว่า เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียง วี้ๆ หลายอย่าง. ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงสดับเหตุผลแม้ข้ออื่นที่ว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ แต่ทว่า เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียง วี้ๆ หลายอย่าง ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอถวายพระพร ในเวลาที่บุคคลยกน้ำที่ปนข้าวสารซึ่งอยู่ในภาชนะปิดฝาขึ้นวางบนเตา ก็หนาบนเตานั้นย่อมส่งเสียงหรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า ย่อมเป็นอันสงบนิ่ง ไม่สั่นไหว
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร น้ำที่อยู่ในภาชนะนั้นนั่นแหละ เขาจุดไฟในเตา ให้ลุกโพลงเสียก่อนแล้วจึงค่อยวางบนเตา น้ำที่อยู่บนเตานั้นยังคงสงบนิ่ง ไม่สั่นไหวอยู่นั่นเองหรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า มันย่อมสั่นไหวกระเพื่อม เดือด ขุ่นขึ้น เกิดเป็นระลอกคลื่นแล่นไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เอ่อแผ่ เป็นฟองไป
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร น้ำตามปกตินั้นจึงสงบนิ่ง ไม่สั่นไหว ส่วนว่าน้ำที่อยู่บนไฟ เพราะเหตุไรจึงสั่นไหว กระเพื่อม เดือด ขุ่นขึ้น เกิดเป็นระลอกคลื่นแล่นไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เอ่อแผ่ เป็นฟองไปเล่า ?
พระเจ้ามิลินท์, น้ำตามปกติไม่สั่นไหว สวนน้ำที่อยู่บนไฟส่งเสียงร้อง วี้ๆ หลายอย่าง เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพราะเหตุผลแม้ข้อนี้ก็ขอจงทราบเถิดว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ แต่ทว่า เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียง วี้ๆ หลายอย่าง. ขอถวายพระพร ขอพระองค์ทรงสดับเหตุผลแม้อีกข้อหนึ่งว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ แต่ทว่า เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมากมาย น้ำจึงส่งเสียง วี้ๆ ได้ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอถวายพระพร ในเรือนแต่ละหลัง เขาจะมีการใส่น้ำไว้ในถังน้ำแล้วปิดฝาไว้มิใช่หรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า น้ำนั้นย่อมสั่นไหว กระเพื่อม เดือด ขุ่นขึ้น เกิดเป็นระลอกคลื่นแล่นไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เอ่อ แผ่ เป็นฟองไปหรือไร ?
พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า น้ำที่อยู่ในถังน้ำตามปกตินั้นย่อมมีอันไม่สั่นไหว
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระองค์เคยทรงสดับมาหรือไม่ว่า น้ำในมหาสมุทรก็สั่นไหว กระเพื่อม เดือด ขุ่นขึ้น เกิดเป็นระลอกคลื่นแล่นไปยังทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เอ่อ แผ่ เป็นฟองไป ซักขึ้นไปกระแทกฝั่ง ส่งเสียง หลายอย่าง (หมายถึง เคยได้ยินเสียงน้ำในทะเลไหม ? – ณัฏฐ)
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ข้าพเจ้าเคยได้สดับมาว่า น้ำในมหาสมุทรซัดขึ้นไปบนท้องฟ้า สูงชั่ว ๑๐๐ ศอกบ้าง ๑,๐๐๐ ศอกบ้าง
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร น้ำที่อยู่ในถังจึงไม่สั่นไหว ไม่ส่งเสียง แต่เพราะเหตุไร น้ำในมหาสมุทรจึงสั่นไหว จึงส่งเสียง ?
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า น้ำในมหาสมุทรสั่นไหวส่งเสียง เพราะแรงลมมีมามาก น้ำที่อยู่ในถังน้ำ ไม่ถูกอะไรๆ กระแทกกระทั้น จึงไม่สั่นไหวไม่ส่งเสียง
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร น้ำในมหาสมุทรย่อมสั่นไหว ยอมส่งเสียง เพราะแรงลมมีมากฉันใด น้ำที่อยู่บนไฟย่อมส่งเสียง เพราะกำลังความร้อนแห่งไฟมีมาก ฉันนั้นเหมือนกัน
พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี มีอยู่ในกลองหรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, ไม่มีหรอก พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร กลองจึงส่งเสียงได้เล่า ?
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า กลองส่งเสียงได้เพราะความพยายาม คือการตี ที่เกิดขึ้นจากความประสงค์จะตีของหญิงหรือชายนั้น
พระนาคเสน, อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น น้ำส่งเสียงได้เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมาก ขอถวายพระพร แม้เพราะเหตุผลข้อนี้ ก็ขอพระองค์จงทราบไว้เถิดว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ น้ำส่งเสียงได้เพราะความที่กำลังความร้อนแห่งไฟมีมาก. ขอถวายพระพร คำที่พระองค์จึงตรัสถามอาตมาภาพก็มีอยู่เพียงเท่านั้น ซึ่งข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพวินิจฉัยดีแล้วตามหลักการดังกล่าวมานี้ ขอถวายพระพร น้ำที่เขาใช้ภาชนะแม้ทุกอย่าง ต้มให้ร้อน ก็ย่อมส่งเสียงได้ทั้งนั้นหรือไร หรือว่าที่ใช้ภาชนะบางอย่างต้มให้ร้อนเท่านั้น จึงส่งเสียงได้เล่า ?
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า น้ำที่ถูกเขาใช้ภาชนะทุกอย่างต้มให้ร้อน ย่อมส่งเสียงทั้งนั้น หามิได้ น้ำที่เขาใช้ภาชนะบางอย่างต้มให้ร้อนเท่านั้น จึงส่งเสียงได้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า พระองค์ทรงละทิ้งความคิดเห็นของพระองค์ หันกลับมาสู่วิสัยของอาตมาภาพที่ว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า น้ำที่ถูกเขาใช้ภาชนะแม้นทุกอย่างต้มให้ร้อน ก็เพิ่งส่งเสียงได้ทั้งนั้นไซร้ ก็ควรที่จะกล่าวคำว่า “น้ำมีชีวิต” คำนี้ได้ ขอถวายพระพร เป็นความจริงว่า น้ำ ย่อมไม่มีการแยกเป็น ๒ ประการ คือส่งเสียงได้อยู่ ก็ชื่อว่ามีชีวิต ๑ พอส่งเสียงไม่ได้ ก็ชื่อว่าไม่มีชีวิต ๑, ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า น้ำพึงมีชีวิตไซร้ เวลาที่ช้างใหญ่มีร่างกายสูงใหญ่กำลังแตกมัน ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นเข้าไปทางปากจนถึงท้อง น้ำนั้นเมื่อถูก บดขยี้อยู่ระหว่างกรามของช้างเหล่านั้น ก็น่าจะส่งเสียง แม้เรือใหญ่ยาวถึง ๑๐๐ ศอก เป็นเรือหนัก เต็มด้วยของหนักๆ หลายร้อยหลายพันอย่าง เที่ยวไปในมหาสมุทร น้ำถูกเรือใหญ่เหล่านั้นบดขยี้อยู่ ก็น่าจะส่งเสียง แม้ปลาใหญ่ๆ มีกายยาวหลายร้อยโยชน์ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิรปิงคละ ดำรงไปภายในมหาสมุทร ใช้มหาสมุทรเป็นที่อาศัยอยู่ ทั้งกินทั้งพ่นธารน้ำใหญ่ น้ำที่ถูกบดขยี้ระหว่างฟันปลาแม้เหล่านั้นก็น่าจะส่งเสียง ขอถวายพระพร ก็เพราะเหตุว่า น้ำถูกสิ่งบีบคั้นใหญ่ๆ ทั้งหลาย เห็นป่านฉะนี้ บีบคั้นอยู่ ก็ยังไม่ส่งเสียง เพราะฉะนั้น ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำหรอก ขอพระองค์จงทรงยอมรับความจริงข้อนี้ ตามประการดังกล่าวมานี้เถิด
พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ปัญหาที่มีโทษ การก็ได้จำแนกอย่างเหมาะสมแล้ว พระคุณเจ้านาคเสนเปรียบเหมือนว่า แก้วมณีที่มีค่า พอส่งไปถึงช่างแก้วมณีผู้ฉลาด อัจฉริยะชำนาญ มีการศึกษาแล้ว ก็พึงได้แต่ข้อที่น่ายกย่อง ข้อที่น่าสรรเสริญ อีกอย่างหนึ่ง แก้วมุกดา พอส่งไปถึงช่างแก้วมุกดา ก็พึงได้แต่ข้อที่น่ายกย่อง ข้อที่น่าชมเชย ข้อที่น่าสรรเสริญ อีกอย่างหนึ่ง ผ้าเนื้อดี พอส่งไปถึงช่างตัดเสื้อผ้าแล้ว ก็พึงได้แต่ข้อที่น่ายกย่อง ข้อที่น่าชมเชย ข้อที่น่าสรรเสริญ ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน ปัญหาที่มีโทษท่านก็ได้จำแนกไว้อย่างเหมาะสมแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้า ขอยอมรับตามคำที่ท่านกล่าวมานี้. จบ อุทกสัตตชีวปัญหาที่ ๙
คำอธิบายปัญหาที่ ๙
ปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ ความเป็นชีวะ (เป็นสิ่งมีชีวิตคือเป็นอัตตา) แห่งน้ำ ชื่อว่า อุทกสัตตชีวปัญหา . คำว่า ชีวะก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีอยู่ในน้ำ มีความหมายเพียงเท่านี้ว่า น้ำไม่มีชีวะ น้ำไม่ใช่สัตว์. คำว่า น้ำที่มีการทำให้วิปริตผิดแปลกไป คือน้ำร้อนซึ่งเป็นน้ำที่ทำให้วิปริตแปลกไปจากน้ำเย็นปกติ. คำว่า ปัญหาที่มีโทษ คือปัญหาที่มีโทษคือข้อที่ชวนให้เกิดความสำคัญผิด. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๙. จบพุทธวรรคที่ ๑ ในวรรคนี้มี ๙ ปัญหา
วรรคที่ ๒, นิปปปัญจวรรค ปัญหาที่ ๑ , นิปปปัญจปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า
“นิปฺปปญฺจาราโม ภิกฺขเว วิหรถ นิปฺปปญฺจรติโน”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีนิปปปัญจธรรม (ธรรมอันปราศจากเครื่องเนิ่นช้า) เป็นที่ยินดี ยินดีในนิปปปัญจธรรมอยู่เถิด ดังนี้ นิปปปัญจธรรมเป็น ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร โสดาปัตติผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม, สกทาคามิผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม อนาคามิผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม อรหัตตผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า สกทาคามิผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม อนาคามิผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม อรหัตตผลก็ชื่อว่านิปปปัญจธรรม ไซร้ เพราะเหตุไร ภิกษุเหล่านั้นจึงยังเล่าเรียน สอบถามซึ่งสุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ กันอยู่ ยังยุ่งเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ยังยุ่งเกี่ยวกับทานและการบูชากันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจัดว่ากระทำการงานที่พระชินวรพุทธเจ้าทรงห้ามมิใช่หรือ ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใดเล่าเรียนสอบถามซึ่ง สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ กันอยู่ ยังยุ่งเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ยังยุ่งเกี่ยวกับทานและการบูชากันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่ากระทำเพื่อบรรลุนิปปปัญจธรรมทั้งสิ้น ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสภาวะแล้ว มีวาสนาอันได้อบรมแล้วในภพก่อน ภิกษุเหล่านั้นย่อมสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า (คือบรรลุนิปปปัญจธรรม) โดยขณะจิตเดียว ส่วนภิกษุเหล่าใดยังเป็นผู้มีธุลีในดวงตามากอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ก็โดยอาศัยประโยค (ความขวนขวายพยายาม) มีการเล่าเรียนเป็นต้นเหล่านี้
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง หว่านพืชไว้ในที่นาดีแล้ว ก็พึงใช้ความพยายามตามควรแก่กำลังของตน เก็บเกี่ยวธัญญชาติ (ข้าว) ได้โดยเว้นการล้อมรั้ว บุรุษอีกคนหนึ่งหว่านพืชไว้ในที่นาแล้ว ก็ยังต้องเข้าป่าตัดท่อนไม้และกิ่งก้านมาทำรั้วล้อม จึงจะพึงเก็บเกี่ยวธัญญชาติได้, ในบุรุษ ๒ คนนั้น การต้องแสวงหารั้วล้อมของบุรุษ (คนที่ ๒) นั้น ใด การแสวงหารั้วล้อมนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ธัญญชาติ ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสภาวะอยู่แล้ว มีวาสนาอันได้อบรมไว้แล้วในภพก่อน ภิกษุเหล่านั้นย่อมสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าโดยขณะจิตเดียว เปรียบได้กับบุรุษผู้เก็บเกี่ยวธัญญชาติได้โดยเว้นรั้วล้อม ฉะนั้น ส่วนว่า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีธุลีในดวงตามาก (มีกิเลสมาก – ณัฏฐ) ภิกษุเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ก็โดยอาศัยประโยคมีการเล่าเรียนเป็นต้นเหล่านี้ เปรียบได้กับบุรุษผู้ต้องทำรั้วล้อมก่อน จึงจะเก็บเกี่ยวธัญญชาติได้ ฉะนั้น
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง พึงมีผลมะม่วงเป็นช่อๆ อยู่ตอนบนของต้นมะม่วงต้นใหญ่ๆ ต่อมา มีบุรุษผู้มีฤทธิ์คนใดคนหนึ่ง (เหาะ) มายังตอนบนของต้นมะม่วงนั้น เก็บเอามะม่วงของบุรุษผู้นั้นไป ส่วนผู้ที่ไม่มีฤทธิ์ มาที่ต้นมะม่วงนั้นแล้ว ก็ตัดไม้และเถาวัลย์ผูกเป็นพะอง แล้วไต่ขึ้นต้นมะม่วงนั้นไปทางพะองนั้น เก็บเอาผลมะม่วงไป ในบุรุษ ๒ คนนั้น การต้องแสวงหาพะองของบุรุษผู้ไม่มีฤทธิ์นั้น ใด การต้องแสวงหาพะองนั้น ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ผลมะม่วง ขอถวายพระพร อุปมาชั้นใดอุปไมยก็ฉันนั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสภาวะอยู่แล้ว มีวาสนาอันได้อบรมไว้ในภพก่อน ภิกษุเหล่านั้นย่อมสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้าโดยขณะจิตเดียว เปรียบได้กับบุรุษผู้มีฤทธิ์ผู้มาเก็บเอาผลมะม่วงไป ฉะนั้น ส่วนว่าภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีธุลีในดวงตามาก ภิกษุเหล่านั้นจะสำเร็จเป็นผู้ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ก็โดยอาศัยประโยคมีการเล่าเรียน เป็นต้น เหล่านี้ เปรียบได้กับบุรุษผู้ต้องใช้พะองจึงจะเก็บมะม่วงได้ ฉะนั้น
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้ต้องการทำประโยชน์ (รายได้) เข้าถึงความเป็นเจ้าของ (เป็นนาย) แล้วก็ทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ลำพังตนคนเดียวเท่านั้น บุรุษผู้มีทรัพย์อีกคนหนึ่ง ต้องใช้ทรัพย์จ้างชาวบริษัท โดยการอาศัยชาวบริษัทจึงทำผลประโยชน์ให้สำเร็จได้ ในบุคคลทั้งสองนั้น การต้องแสวงหาชาวบริษัทของบุรุษผู้มีทรัพย์ใด ตาลต้องแสวงหาชาวบริษัทนั้นย่อมมีเพื่อผลประโยชน์ ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้บริสุทธิ์ตามสภาวะอยู่แล้ว มีวาสนาอันได้อบรมไว้แล้วในภพก่อน ภิกษุเหล่านั้นย่อมบรรลุวสีภาวะในอภิญญา ๖ โดยขณะจิตเดียว เปรียบได้กับบุรุษผู้ทำผลประโยชน์ให้สำเร็จได้โดยลำพังตนคนเดียว ฉะนั้น ส่วนว่าภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีธุลีในดวงตามาก ภิกษุเหล่านั้นย่อมทำสามัญญผลให้สำเร็จได้ โดยอาศัยประโยคมีการเล่าเรียนเป็นต้นเหล่านี้ เปรียบได้กับบุรุษผู้ทำผลประโยชน์ให้สำเร็จได้โดยอาศัยชาวบริษัทฉะนั้น
ขอถวายพระพร แม้การเล่าเรียน ก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้การสอบถาม ก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้งานก่อสร้างก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้ทานก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้การบูชาก็จัดว่ามีอุปการะมาก เมื่อกิจที่ควรทำทั้งหลายเหล่านั้นๆ มีอยู่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่ง เป็นผู้คบหากับพระราชา ได้ทำอุปการะคุณไว้กับพวกอำมาตย์ พวกไพร่พล นายประตู ทหารยามรักษาพระองค์ และชนชาวบริษัททั้งหลาย เมื่อกิจที่ต้องทำตกถึงแต่บุรุษนั้น บุคคลแม้นทั้งปวงก็ย่อมเป็นผู้อุปการะ (ช่วยเหลือ) เขา ฉันใด ขอถวายพระพร แม้การเล่าเรียน ก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้การสอบถาม ก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้งานก่อสร้างก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้ทานก็จัดว่ามีอุปการะมาก แม้การบูชาก็จัดว่ามีอุปการะมาก เมื่อกิจที่ควรทำเหล่านั้นๆ มีอยู่ ฉะนั้น ขอถวายพระพร ถ้าหากว่า ภิกษุแม้ทุกรูปล้วนเป็นผู้มีอภิชาติบริสุทธิ์ ไซร้ กิจที่ควรทำตามคำอนุศาสน์ ก็ไม่น่าจะมี ขอถวายพระพรเพราะเหตุที่กิจที่ควรทำด้วยการสดับรับฟังมีอยู่ แล แม้แต่ท่านพระสารีบุตรเถระผู้สั่งสมกุศลมูลไว้นับได้หลายอสงไขยกัปหาประมาณมิได้ แล้วได้บรรลุที่สุดยอดแห่งปัญญา ก็ไม่อาจบรรลุอาสวักขยญาณได้โดยเว้นการสดับรับฟัง ขอถวายพระพร เพราะเหตุนั้น การสดับรับฟังจึงจัดว่ามีอุปการะมาก แม้แต่เราเรียน แม้การสอบถาม ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ทั้งการเล่าเรียน การสอบถาม ก็นับว่าเป็นนิจปปัญจธรรมได้
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจปัญหาดีแล้ว ข้าพเจ้าขอยอมรับตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบนิปปปัญจปัญหาที่ ๑
คำอธิบายปัญหาที่ ๑
ปัญหาเกี่ยวกับ นิปปปัญจธรรม ชื่อว่า นิปปปัญจปัญหา. ธรรม ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ชื่อว่า ปปัญจธรรม เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องเนิ่นช้าในสังสารวัฏแห่งสัตว์ทั้งหลาย พระนิพพาน ชื่อว่า นิปปปัญจธรรม โดยนิปริยายเพราะอรรถว่า เป็นที่ปราศจาก ปปัญจธรรม เหล่านั้น ส่วนมรรค ๔ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ชื่อว่า นิปปปัญจธรรม โดยเกี่ยวกับเป็นอุบายบรรลุพระนิพพาน และมีพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ แม้สามัญผล ๔ มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ชื่อว่า นิปปปัญจธรรม โดยเกี่ยวกับความสำเร็จคือการได้บรรลุพระนิพพานตามอุบายนั้น และมีพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ แต่ว่าในที่นี้ พระเถระกล่าวถึงเพียงบางส่วน คือ สามัญญผล ๔ เท่านั้น ในสามัญญผล ๔ อย่างนั้น ผลคือความเป็นพระโสดาบันชื่อว่าโสดาปัตติผล ผลคือความเป็นพระสกทาคามีชื่อว่าสกทาคามิผล ผลคือความเป็นพระอนาคามี ชื่อว่าอนาคามิผล ผลคือความเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่า อรหัตตผล
ใจความของปัญหามีอยู่เพียงแค่นี้เท่านั้นว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ยินดีเฉพาะในนิปปปัญจธรรม และนิปปปัญจธรรมก็ได้แก่ สามัญญผล ๔ อย่างเท่านั้น อย่างนี้ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันว่า กิจอื่นๆ ทั้งหลายมีการเรียนการสอบถามเป็นต้น อันนอกไปจากการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิปปปัญจธรรม ล้วนจัดว่าเป็นกิจที่ไม่ควรทำ เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลายจึงยังขวนขวายทำกิจที่ไม่สมควรทำเหล่านั้นกันอยู่เล่า
ในคำว่า สุตตะ เป็นต้น วิภังค์ ๒ ฝ่ายคือมหาวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์ ขันธกะ และปริวาระในพระวินัยปิฎก พระสูตรทั้งหลายในปกรณ์สุตตนิบาต รวมทั้งพุทธพจน์อื่นๆ ที่มีชื่อว่า “สูตร” สูตรนั้นสูตรนี้ ชื่อว่า สุตตะ ส่วนพระสูตรที่มีคาถา (คำที่ผูกด้วยฉันทลักษณ์) เข้ามาประกอบทั้งหมด รวมทั้งส่วนที่เรียกว่า สคาถวรรค ในสังยุตตนิกาย ชื่อว่า เคยยะ พระอภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น พระสูตรที่ไม่มีคาถา รวมทั้งพระพุทธพจน์ที่มิได้สงเคราะห์ด้วยองค์ ๘ ที่เหลือ ชื่อว่า ไวยากรณะ พระพุทธพจน์ที่มีเนื้อความเป็นคาถาล้วน ซึ่งปรากฏอยู่ในปกรณ์เหล่านี้ คือ ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา รวมทั้งที่เป็นคาถาล้วน ซึ่งไม่มีชื่อว่าสูตรนั้นสูตรนี้ในสุตตนิบาต ชื่อว่า คาถา พระสูตร ๘๒ สูตรที่ประกอบด้วยพระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงเกิดพระปีติโสมนัส แล้วทรงเปล่งพระอุทานออกมา ชื่อว่า อุทาน พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่เริ่มต้นอย่างนี้ว่า
วุตฺตญฺเหตํ ภควตา – เป็นความจริงว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสความข้อนี้ไว้
ดังนี้นั่นเอง ชื่อว่า อิติวุตตกะ ชาดก ๕๕๐ เรื่อง มี อปัณณกชาดกเป็นต้น ชื่อว่า ชาดก พระสูตรที่ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม (ธรรมที่มีจริงที่น่าอัศจรรย์) เช่นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี่แน่ะ อานนท์ อัพภูตธรรมมีอยู่ ๔ ประการเหล่านี้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า อัพภูตธรรม พระสูตรที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ ได้ความพอใจแล้วใช้ความเชี่ยวชาญตั้งปัญหาถามต่อกัน เช่น มหาเวทัลลสูตร จุฬเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร เป็นต้น ชื่อว่า เวทัลละ ฉะนี้แล
คำว่า ยังยุ่งเกี่ยวกับงานก่อสร้าง คือยังยุ่งเกี่ยวกับงานก่อสร้างกุฏิเป็นต้น โดยลงมือสร้างเองบ้าง แนะนำวิธีการให้ผู้อื่นสร้างบ้าง โดยอนุโลมตามสิกขาบทบัญญัติ ที่ทรงบัญญัติไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้. คำว่า ยังยุ่งเกี่ยวกับทานและการบูชา คือยังขวนขวายในทาน โดยเกี่ยวกับการคอยแบ่งปันปัจจัยที่แสวงหามาได้ แก่เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์เป็นต้น บ้าง โดยเกี่ยวกับแนะนำให้ผู้อื่นขวนขวายในทานบ้าง และยังขวนขวายในการบูชา มีการบูชาเจดีย์เป็นต้น ทั้งแนะนำผู้อื่นให้ขวนขวายในการบูชานี้. คำว่า ล้วนชื่อว่า กระทำเพื่อบรรลุนิปปปัญจธรรมทั้งสิ้น ความว่า การเล่าเรียนเป็นต้นเมื่อเป็นไปเพื่อความสะดวกแก่การบรรลุนิปปปัญจธรรม ก็ชื่อว่า กระทำเพื่อบรรลุนิปปปัญจธรรมทั้งสิ้น จัดว่าเป็นปัจจัยที่ควรประกอบในส่วนเบื้องต้น
คำว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ตามสภาวะอยู่แล้ว คือเป็นผู้มีกิเลสเป็นดุจธุลี ที่สร้างมลทินคือความไม่บริสุทธิ์แก่ดวงตาคือปัญญาน้อย ราวกับว่าไม่มีเอาเลยเทียว ตามสภาวะคือตามปกติอยู่แล้ว เหตุเพราะได้สั่งสมปัญญาไว้เต็มมาเปี่ยมมาแล้ว แต่ภพอดีต. คำว่า มีวาสนาอันได้อบรมแล้ว คือมีการอบรมจิต หรือการบ่มอินทรีย์อันได้อบรมคือฝึกมาดีแล้วแต่ภพก่อน. คำว่า โดยขณะจิตเดียว คือสำเร็จได้โดยพลันทันทีที่ธรรมเทศนาจบลง หรือสำเร็จได้โดยเพียงแต่ปรารภภาวนาทำให้เป็นไปช่วงเวลาเพียงนิดหน่อย ดุจขณะจิตเดียว
อธิบายว่า สำหรับผู้ที่บริสุทธิ์ตามสภาวะอยู่แล้ว ประโยชน์อะไรด้วยกิจทั้งหลาย มีการเล่าเรียนเป็นต้นเล่า ย่อมปรารภปฏิปทาที่สงเคราะห์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อบรรลุนิปปปัญจธรรมได้โดยตรงทีเดียว ผู้มีธุลีในดวงตามากเท่านั้นย่อมมีภาระในการขวนขวายในกิจเหล่านี้
คำว่า เป็นผู้มีอภิชาติบริสุทธิ์ คือเป็นผู้มีสภาวะแห่งจิตบริสุทธิ์. คำว่า กิจที่ควรทำด้วยการสดับตรับฟัง เป็นต้น ได้แก่กิจ มีการเล่าเรียนพระบาลีเป็นต้น และวัตรที่ควรทำทั้งหลายมีเจติยังคณวัตร (วัตรที่ควรทำ ณ ลานเจดีย์ มีการปัดกวาดลานเป็นต้น) เป็นต้น การประกอบในสมถะและวิปัสสนาและกิจที่ควรทำในอริยสัจ ๔ มีการกำหนดทุกข์เป็นต้น
ก็แล บุคคลถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ตามสภาวะ ถึงกระนั้น หากว่าปราศจากการอาศัยการสดับตรับฟังคำสอนของพระศาสดาแล้ว ก็ไม่อาจบรรลุนิปปปัญจธรรมได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงบุคคลอื่นเล่าแม้แต่ท่านพระสารีบุตรเถระผู้เป็นเลิศทางมีปัญญามาก ก็ยังต้องอาศัย. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑. ปัญหาที่ ๒ ขีณาสวภาวปัญหา
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า คฤหัสถ์ผู้ใด บรรลุความเป็นพระอรหันต์ คฤหัสถ์ผู้นั้นย่อมมีคติเป็น ๒ เท่านั้น ไม่เป็นอื่น คือต้องบวช หรือไม่ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ ไม่ล่วงเลยวันนั้นไปได้ ดังนี้ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า ในวันนั้นไม่อาจได้อาจารย์หรืออุปัชฌาย์หรือบาตรและจีวร ท่านผู้เป็นพระอรหันต์นั้นจะบวชเอง หรือล่วงเลยวันนั้นไป พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์รูปใดรูปหนึ่งพึงมาบวชให้ จะได้หรือไม่ หรือล่วงเลยวันนั้นไปแล้วจึงปรินิพพาน จะได้หรือไม่ ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระอรหันต์นั้นไม่อาจบวชเองได้ เมื่อบวชเองก็ย่อมถึงความเป็นไถยสังวาส (ปลอมบวช) ทั้งไม่อาจล่วงเลยวันไปได้ จะมีพระอรหันต์รูปอื่นมาก็ตาม ไม่มีก็ตาม ท่านก็จะต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้นความเป็นพระอรหันต์แห่งพระอรหันต์ย่อมเป็นเหตุคร่าชีวิต คือเป็นเหตุให้บุคคลผู้บรรลุต้องเป็นผู้สิ้นชีวิต
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพศคฤหัสถ์ไม่สงบเพราะความที่เมื่อเป็นเพศไม่สงบ ก็เป็นเพศที่ทรามกำลังคฤหัสถ์ผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์จึงต้องบวชในวันนั้นนั่นเทียว หรือไม่ก็ต้องปรินิพพาน ขอถวายพระพร ข้อนี้ หาใช่โทษของความเป็นพระอรหันต์ไม่ ความเป็นเพศทรามกำลังนี้เป็นโทษของเพศคฤหัสถ์นั่นเทียว
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า โภชนาหารซึ่งเป็นของหล่อเลี้ยงอายุ รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ยังคร่าเอาชีวิตได้ เพราะการที่ไฟธาตุย่อยอาหารอันเป็นโกฏฐาสที่ไม่สงบ (มีข้อเสีย) อ่อนกำลังไป จึงไม่อาจย่อยได้ ขอถวายพระพร นี้ไม่ใช่โทษของโภชนาอาหาร ความที่ไฟธาตุอ่อนกำลังไปนี้ เป็นโทษของโกฏฐาสเท่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร เพราะความที่เมื่อเป็นเพศไม่สงบ ก็เป็นเพศที่ทรามกำลัง คฤหัสถ์ผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์จึงต้องบวชในวันนั้นนั่นเทียว หรือไม่ก็ต้องปรินิพพาน ขอถวายพระพร ข้อนี้หาใช่โทษของความเป็นพระอรหันต์ไม่ ความเป็นเพศทรามกำลังนี้ เป็นโทษของเพศคฤหัสถ์นั่นเทียว ฉันนั้นเหมือนกัน
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เสื่อหญ้าผืนเล็กๆ เมื่อเขาเอาก้อนหินหนักๆ วางไว้เบื้องบน ก็ย่อมฉีกขาดไป เพราะความที่เป็นของไม่แข็งแรง ฉันใด ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ เมื่อไม่อาจรองรับความเป็นพระอรหันต์โดยเพศนั้นได้ ก็ต้องบวชเสียในวันนั้นทีเดียว หรือไม่ก็ต้องปรินิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้อ่อนแอ ทรามกำลัง มีชาติกำเนิดต่ำทราม มีบุญน้อย ได้รับราชสมบัติที่แสนยิ่งใหญ่แล้ว ก็ย่อมตกไป พลาดไป ถอยกลับไป มิอาจจะรองรับอิสริยะฐานะได้ ฉันใด ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ผู้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ก็ย่อมไม่อาจรองรับความเป็นพระอรหันต์โดยเพศนั้น เพราะเหตุนั้น จึงต้องบวชในวันนั้นทีเดียว หรือไม่ก็ต้องปรินิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล
พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้. จบขีณาสวภาวปัญหาที่ ๒
คำอธิบายปัญหาที่ ๒
ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นพระขีณาสพ ชื่อว่า ขีณาสวภาวปัญหา. คำว่า ต้องบวช หรือไม่ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้นนั่นแหละ ไม่ล่วงวันนั้นไปได้ คือ ผู้เป็นคฤหัสถ์บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในวันไหน ก็ต้องบวชในวันนั้น หากไม่มีโอกาสได้บวช ก็จะต้องดับขันปรินิพพานในวันเดียวกันนั้นนั่นแหละ ไม่อาจมีอายุเกินเลยวันนั้นไปได้ เรื่องของพระเจ้าสุทโธทนะหรือสันตติมหาอมาตย์ ย่อมเป็นนิทัสสนะแสดงถึงความข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เนื้อความนอกนี้ง่ายอยู่แล้ว. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒. จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๘)
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: