วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข

สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข

"ยญฺจ  อญฺเญ  น  รกฺขนฺติ,    โย  จ  อญฺเญ  น  รกฺขติ;

ส  เว  ราช  สุขํ  เสติ,     กาเมสุ  อนเปกฺขวาติ ฯ

ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย, ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย, ดูกรมหาบพิตร !  ผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นสุข."

สุขวิหาริชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัย อนุปิยนคร ประทับอยู่ในอนุปิยอัมพวันทรงปรารภพระภัตทิยเถระผู้มีปกติอยู่เป็นสุขจึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  ยญฺจ  อญฺเญ  น  รกฺขนฺติ  ดังนี้. 

พระภัททิยเถระผู้มีปกติอยู่เป็นสุข มีพระอุบาลีเป็นที่ ๗ บวชในสมาคมกษัตริย์ ๖ พระองค์ บรรดาพระเถระเหล่านั้นพระภัททิยเถระ พระกิมพิลเถระ พระภคุเถระ พระอุบาลีเถระบรรลุพระอรหัต พระอานนทเถระเป็นพระโสดาบัน พระอนุรุทธเถระเป็นผู้มีทิพยจักษุ พระเทวทัตเป็นผู้ได้ฌาน ก็เรื่องของกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ จักมีแจ้งในกัณฑหาลชาดกเพียงแต่อนุปิยนคร. 

ก็ท่านพระภัตทิยเถระรักษาคุ้มครองพระองค์ในคราวเป็นพระราชา ก็ยังทรงเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นแก่พระองค์ผู้อันเขารักษาอยู่ด้วยการรักษามากมายดุจเทวดาจัดการรักษาและภัยที่จะเกิดแก่ พระองค์ผู้ทรงพลิกกลับไปมาอยู่บนพระที่บรรทมใหญ่ในปราสาทชั้นบน บัดนี้บรรลุพระอรหัตแล้ว แม้จะอยู่ในที่ใดที่หนึ่งมีป่าเป็นต้น ก็พิจารณาเห็นความที่พระองค์เป็นผู้ปราศจากภัย จึงเปล่งอุทานว่า „สุขหนอ สุขหนอ“. 

ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า „ท่านพระภัตทิยเถระพยากรณ์พระอรหัตผล“ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภัตทิยะมีปกติอยู่เป็นสุขในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนก็มีปกติอยู่เป็นสุขเหมือนกัน“.   ภิกษุทั้งหลายจึงทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อต้องการให้ทรงประกาศเรื่องนั้น. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้. 

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์มหาศาลผู้เกิดในตระกูลสูง เห็นโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการออกบวช จึงละทิ้งการทั้งหลายเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤาษี ทำสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น แม้บริวารของพระโพธิสัตว์นั้นได้เป็นบริวารใหญ่ มีดาบสอยู่ ๕๐๐ รูป. 

ในฤดูฝน พระโพธิสัตว์นั้นออกจากป่าหิมพานต์ แวดล้อมด้วยหมู่ดาบสเที่ยวจาริกไปในตามและนิคมเป็นต้นบรรลุถึงเมื่องพาราณสีทรงอาศัยพระราชาสำเร็จการอยู่ในพระราชอุทยานทรงอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ตลอด ๔ เดือนฤดูฝนแล้วทูลลาพระราชา.  ลำดับนั้น พระราชาทรงอ้อนวอนพระโพธิสัตว์นั้นว่า „ท่านผู้เจริญท่านก็แก่แล้วท่านจะประโยชน์อะไรด้วยป่าหิมพานต์?, ท่านจงส่งอันเตวาสิกทั้งหลายไปป่าหิมพานต์แล้วอยู่เสียในที่นี้เถิด“.

พระโพธิสัตว์ทรงหอบดาบส ๕๐๐ รูป กับอันเตวาสิกผู้ใหญ่แล้วส่งดาบสเหล่านั้นไปด้วยคำว่า „ท่านจงไปอยู่ในป่าหิมพานต์กับดาบสเหล่านี้, ส่วนเราจักอยู่ในที่นี้แหละ“, แล้วตนเองก็สำเร็จการอยู่ในพระราชอุทยานนั้นนั่นเอง ก็หัวหน้าอันเตวาสิกนั้นของพระโพธิสัตว์นั้น เป็นราชบรรพชิต ละราชสมบัติใหญ่ออกบวช กระทำกสิณบริกรรมได้สมาบัติ ๘. 

หัวหน้าอันเตวาสิกนั้นอยู่ในป่าหิมพานต์กับดาบสทั้งหลาย มีความประสงค์จะเห็นอาจารย์ จึงเรียกดาบสเหล่านั้นมาแล้วกล่าวว่า „ท่านทั้งหลายอย่าได้รำคาญ จงอยู่ในที่นี้แหละ เราเห็นอาจารย์แล้วจักกลับมา“, แล้วไปยังสำนักของอาจารย์ ไหว้แล้วกระทำปฏิสันถาร ปูลาดเสื่อลำแพนผืนหนึ่งนอนอยู่ในสำนักของอาจารย์นั่นเอง. 

ก็สมัยนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า จักเยี่ยมพระดาบส จึงเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดาบสผู้เป็นอันเตวาสิกแม้เห็นพระราชาก็ไม่ลุกขึ้น แต่นอนอยู่อย่างนั้นแลเปล่งอุทานว่า „สุขหนอ สุขหนอ“.  พระราชาทรงน้อยพระทัยว่า ดาบสนี้ แม้เห็นเราก็ไม่ลุกขึ้น จึงตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า „ท่านผู้เจริญ ดาบสนี้คงจักฉันตามต้องการ จึงสำเร็จการนอนอย่างสบายทีเดียวเปล่งอุทานอยู่".

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า „มหาบพิตร ดาบสนี้ เมื่อก่อนได้เป็นพระราชาองค์หนึ่งเช่นกับพระองค์ ดาบสนี้นั้นคิดว่า เมื่อก่อนในคราวเป็นคฤหัสถ์ เราเสวยสิริราชสมบัติ แม้อันคนเป็นอันมาก มีมือถืออาวุธคุ้มครองอยู่ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าความสุขเห็นปานนี้ จึงปรารภสุขในการบวชและสุขในฌานของตนแล้วเปล่งอุทานนี้“ 

ก็แหละครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เพื่อจะตรัสธรรมกถาแก่พระราชาจึงตรัสคาถานี้ว่า :-

 „ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วยและผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย, ดูก่อนมหาบพิตร ! ผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่เป็นสุข“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อยฺจ  อญฺเญ  น  รกฺขนฺติ  ความว่า บุคคลเหล่าอื่นเป็นอันมาก ย่อมไม่รักษาบุคคลใด.   บทว่า  โย  จ  อญฺเญ  น  รกฺขติ  ความว่า แม้บุคคลใดก็ไม่รักษาคนอื่นเป็นอันมาก ด้วยคิดว่า เราผู้เดียวครองราชสมบัติ.   บทว่า  ส  เว  ราชสุขํ  เสติ  ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลนั้นผู้เดียวไม่มีเพื่อน สงัดเงียบแล้ว เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความสุขทางกายและทางจิต ย่อมนอนเป็นสุข. ก็คำว่า นอนเป็นสุขนี้ เป็นหัวข้อเทศนาเท่านั้น ย่อมนอนเป็นสุขอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ ก็บุคคลเห็นปานนี้ย่อยมเดิน ยืน นั่งนอน เป็นสุข คือได้รับความสุขในทุกอิริยาบถที่เดียว.  บทว่า  กาเมสุ  อนเปกฺขวา  ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลเห็นปานนี้เว้นจากความเพ่งเล็งในวัตถุกามและกิเลสกาม คือประกาศจากฉันทราคะไม่มีตัณหาย่อมอยู่เป็นสุขทุกอิริยาบถ.

พระราชาได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้วมีพระทัยยินดี บังคมแล้วเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์นั่นเอง ฝ่ายอันเตวาสิกก็ไหว้พระอาจารย์แล้วไปยังป่าหิมพานต์เหมือนกัน ฝ่ายพระโพธิสัตว์อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ มีฌานไม่เสื่อม กระทำกาละแล้วบังเกิดในพรหมโลก.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัส ๒ เรื่องสืบต่ออนุสนธิกันแล้วทรงประชุมชาดกว่า อันเตวาสิกในครั้งนั้นได้เป็นพระภัททิยเถระ ส่วนครูของคณะคือเราเองแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: