มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๖)
ปัญหาที่ ๗, อภิสมยันตรายปัญหา (บุคคลผู้มีธรรมที่ทำอันตรายแก่การตรัสรู้)
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คฤหัสถ์คนใดคนหนึ่งในโลกนี้เป็นผู้ต้องปราชิก ในสมัยต่อมาอีก คฤหัสถ์ผู้นั้นได้บวช ทั้งตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่า เราเป็นคฤหัสถ์ผู้ต้องปาราชิก ทั้งใครคนอื่นก็ไม่ได้บอกเขาว่า ท่านเป็นคฤหัสถ์ผู้ต้องปาราชิก ก็คฤหัสถ์ผู้นั้นพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมนั้น เขาจะพึงมีการตรัสรู้ธรรมได้หรือไม่หนอ ?
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เขาจะมีการตรัสรู้ธรรมมิได้
พระเจ้ามิลินท์, เพราะเหตุใดหรือ พระคุณเจ้า ?
พระนาคเสน, เหตุเพื่อการตรัสรู้ธรรมใด เขาขาดเหตุนั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการตรัสรู้ธรรม
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า เมื่อรู้อยู่ ก็ย่อมมีกุกกุจจะ (ความหงุดหงิดใจ ความกลัดกลุ้มใจ) เมื่อมีกุกกุจจะก็ชื่อว่ามีเครื่องขวางกั้น เมื่อจิตถูกขวางกั้นก็ย่อมไม่มีการตรัสรู้ธรรม ดังนี้ ก็แต่ว่า สำหรับบุคคลผู้ไม่รู้อยู่ (ว่าต้องปาราชิก) ไม่เกิดกุกกุกจะ มีจิตสงบอยู่นี้ เพราะเหตุไร จึงหาการตรัสรู้ธรรมมิได้เล่า ปัญหานี้ ย่อมถึงแก่ท่านผู้หาใครเสมอเหมือนมิได้ ขอท่านจงคิดเฉลยเถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พืชมีประโยชน์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในท้องไร่ท้องนาอันไถพรวนดีแล้ว ท่านทำให้เป็น ดินเปียกนุ่มดีแล้ว ย่อมงอกงามได้มิใช่หรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ย่อมงอกงามได้ พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พืชอันเดียวกันนั้นนั่นแหละเพิ่งงอกงามบนพื้นหินแห่งภูเขาหินทึบตัน ได้หรือไม่ ?
พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เพราะเหตุใดบนดินเปียกนุ่ม พืชนั้นนั่นแหละจึงงอกงามได้ เพราะเหตุใดบนเขาหินทึบตันจึงงอกงามไม่ได้ ?
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า บนภูเขาหินทึบตันไม่มีเหตุเพื่อให้พืชนั้นงอกงาม พืชไม่งอกงามเพราะไม่มีเหตุ
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้นั้นจะพึงมีการตรัสรู้ธรรมได้ เพราะอาศัยเหตุใด เขาขาดเห็นนั้นไป เพราะไม่มีเหตุ เขาจึงไม่มีการตรัสรู้ธรรม, ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ท่อนไม้ ก้อนหิน ไม้ตะบอง ไม้ค้อน ย่อมถึงความตั้งอยู่ได้บนพื้นดิน, ขอถวายพระพร ท่อนไม้ ก้อนหิน ไม้ตะบอง ไม้ค้อน เหล่านั้นนั่นแหละพึงถึงความตั้งอยู่ในกลางหาวได้หรือไม่ ?
พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, มีเหตุอะไรในเรื่องนี้เล่า ที่ทำให้ ท่อนไม้ ก้อนหิน ไม้ตะบอง ไม้ค้อนเหล่านั้นนั่นแหละ ถึงความตั้งอยู่ได้ บนพื้นดินได้ เพราะเหตุไร ท่อนไม้เป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละจึงตั้งอยู่ในกลางหาวมิได้ ?
พระเจ้ามิลินท์, เหตุที่ทำให้ท่อนไม้ ก้อนหิน ไม้ตะบอง ไม้ค้อนเหล่านั้นนั่นแหละ ตั้งอยู่ในอากาศได้ หามีไม่ เพราะไม่มีเหตุจึงตั้งอยู่ไม่ได้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้นั้นจะพึงมีการตรัสรู้ธรรมได้ เพราะอาศัยเหตุใด เขาขาดเหตุนั้นไป เพราะไม่มีเหตุ เขาจึงไม่มีการตรัสรู้ธรรม, ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ไฟย่อมลุกโพลงได้บนบก ขอถวายพระพร ไฟนั้นนั่นแหละย่อมลุกโพลงในน้ำได้หรือหนอ ?
พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, มีเหตุอะไรในเรื่องนี้เล่า ที่ทำให้ไฟนั้นนั่นแหละ ลุกโพลงบนบกได้ เพราะเหตุใดจึงลุกโพลงในน้ำมิได้ ?
พระเจ้ามิลินท์, เหตุที่ทำให้ไฟนั้นนั่นแหละ ลุกโพลงในน้ำได้ หามีไม่ เพราะไม่มีเหตุ จึงลุกโพลงไม่ได้
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลผู้นั้นจะพึงมีการตรัสรู้ธรรมได้ เพราะอาศัยเหตุอันใด เขาขาดเหตุนั้นไป เพราะไม่มีเหตุ เขาจึงไม่มีการตรัสรู้ธรรม
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ขอท่านจงคิดอรรถาธิบายข้อนี้อีกครั้งหนึ่งเถิด ในข้อที่ว่า เมื่อไม่รู้อยู่ก็ไม่มีกุกกุจจะ เมื่อไม่มีกุกกุจจะก็ไม่มีสิ่งขวางกั้น ดังนี้นั้น ข้าพเจ้ายังไม่มีความเข้าใจ ขอท่านจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผล เถิด
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ยาพิษที่แรงกล้า ที่บุคคลไม่รู้ไปกินเข้า ย่อมคร่าชีวิตได้ไม่ใช่หรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ย่อมคร่าชีวิตได้ พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บาปที่บุคคลผู้แม้ไม่รู้กระทำ ย่อมเป็นสิ่งทำอันตรายต่อการตรัสรู้ได้, ขอถวายพระพร อนึ่ง อสรพิษกัดผู้ที่ไม่รู้ ก็ย่อมคร่าชีวิตได้ไม่ใช่หรือ ?
พระเจ้ามิลินท์, ใช่ ย่อมคร่าชีวิตได้ พระคุณเจ้า
พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บาปที่บุคคลผู้แม้ไม่รู้กระทำ ย่อมเป็นสิ่งทำอันตรายต่อการตรัสรู้ได้ ขอถวายพระพร พระเจ้ากาลิงคะ (เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ – ณัฏฐ) ผู้มาจากสกุลสมณะ ผู้เกลื่อนกล่นด้วยแก้ว ๗ ประการ เสด็จขึ้นช้างแก้วไปเยี่ยมสกุล (กษัตริย์ทั้งหลาย – ณัฏฐ) แม้ว่าพระองค์ไม่ทรงรู้อยู่ ก็ไม่อาจเสด็จข้ามไปเหนือแดนตรัสรู้ได้ เรื่องพระเจ้ากาลิงคะนี้ เป็นเหตุผลในข้อที่ว่า บาปที่บุคคล ผู้แม้ไม่รู้กระทำเข้า ก็ย่อมเป็นสิ่งอันตรายต่อการตรัสรู้นี้
พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน เหตุผลที่พระชินวรพุทธเจ้าตรัสไว้ ใครๆ ไม่อาจปฏิเสธได้ คำอรรถาธิบายในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอยอมรับตามประกาศที่ท่านกล่าวมานั้น. จบอภิสมยันตรายปัญหาที่ ๗
คำอธิบายปัญหาที่ ๗
ปัญหาเกี่ยวกับบุคคลผู้มีธรรมที่ทำอันตรายแก่การตรัสรู้ชื่อว่า อภิสมยันตรายปัญหา. คำว่า เป็นผู้ต้องปาราชิก ความว่า บุคคลชื่อว่า “ปาราชิก – ผู้แพ้” เพราะไม่อาจเจริญสิกขา ๓ เพื่อการตรัสรู้ธรรม เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้ เหตุเพราะมีธรรมที่สร้างอันตราย คือขัดขวางการเจริญสิกขา ๓ เพื่อการตรัสรู้นั้น ได้แก่เป็นผู้ถึงความเป็นปราชิกดังกล่าวนี้
ก็บุคคลผู้เป็นปาราชิกมี ๒๔ จำพวก ใน ๒๔ จำพวกนั้น
ทีแรก ๘ จำพวกก่อน คือภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ๔ ข้อ นับเป็น ๔ จำพวก และ ภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิก ๔ ข้อนับเป็น ๔ พวก บุคคล ๘ จำพวกนี้ สิ้นความเป็นสมณะแล้ว
หากว่ายังครองเพศสมณะ ปิดบัง ไม่ประกาศความสิ้นความเป็นสมณะของตนให้ภิกษุรูปอื่นทราบ แล้วลาสิกขาเวียนกลับมาสู่เพศฆราวาสแล้ว ก็ไม่อาจตรัสรู้ธรรมคืออริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ได้ ย่อมไม่อาจแม้เพียงทำวิปัสสนาญาณทั้งหลายให้เกิดได้. ต่อมา ได้แก่ อภัพพบุคคล (บุคคลผู้อาภัพต่อการตรัสรู้ธรรม) ๑๑ จำพวก ใน ๑๑ จำพวกนี้
๓ จำพวก คือ บัณเฑาะก์ (กระเทย) คน ๒ เพศ และสัตว์เดรัจฉาน เป็นอภัพพบุคคล ไม่อาจตรัสรู้ธรรมได้เพราะมีวัตถุวิบัติ (คือมีปฏิสนธิจิตเป็นอเหตุกะซึ่งอ่อนแอ ไม่อาจรองรับคุณธรรมชั้นสูงๆได้) แม้พระตถาคตก็ทรงปฏิเสธการบวช บุคคล ๓ จำพวกนี้แม้ไม่อาจตรัสรู้ธรรมได้ ก็อาจทำบุญไปสวรรค์ได้
ส่วนอีก ๘ จำพวกคือผู้ปลอมบวชซึ่งหมายถึงผู้บวชเองไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้เข้ารีตเดียรถีย์ (เปลี่ยนความนับถือไปนับถือลัทธิเดียรถีย์นั่นเอง) ผู้ฆ่ามารดา ผู้ฆ่าบิดา ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ผู้ทำพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อขึ้น ผู้ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน และผู้ประทุษร้ายพระภิกษุณี ชื่อว่าเป็นคนอาภัพ ไม่อาจตรัสรู้ธรรมได้เพราะมีกิริยาวิบัติ กล่าวคือ ผู้ปลอมบวชและผู้เข้ารีตเดียรถีย์ (ที่เข้ามาบวชในพระศาสนานี้) มีกิริยาคือการกระทำที่วิบัติคือเป็นโทษที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามการบวช แต่บุคคลเหล่านี้อาจทำบุญเพื่อไปสวรรค์ได้ ผู้กระทำอนันตริยกรรม ๕ อย่าง มีฆ่ามารดาเป็นต้น รวม ๕ จำพวก มีกิริยาวิบัติคือการทำกรรมหนักเกินไป ทั้งพระองค์ก็ทรงห้ามการบวชของบุคคลเหล่านี้ การกระทำของบุคคลเหล่านี้ เป็นทั้งสัคคาวรณ์ คือห้ามการไปสวรรค์ เป็นทั้ง มัคคาวรณ์ คือห้ามการบรรลุมรรค เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจตรัสรู้ธรรมได้
ส่วนผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ก็มีกริยาวิบัติเกี่ยวกับมีการทำร้ายทุบตีเป็นต้น ต่อพระภิกษุณีนั่นแหละ ทั้งพระองค์ ก็ทรงห้ามการบวช ๑๑ จำพวกดังกล่าวนี้ รวมกับ ๘ จำพวกข้างต้น ก็เป็นปราชิก ๑๙ จำพวก
ยังมีอีก ๕ จำพวก คือภิกษุณีที่เกิดความยินดีชอบใจในเพศฆราวาส แม้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ก็เวียนกลับมาอยู่คลุกคลีกับพวกฆราวาส ทำ เวลาให้ล่วงไปโดยมากด้วยการทำกิจน้อยใหญ่ร่วมกับพวกฆราวาส ราวกับว่าเป็นฆราวาสผู้หนึ่ง หาความ สำนึก สำเนียกว่า “เราเป็นสมณะ” มิได้ แม้ไม่มีความประพฤติที่นับว่าอัชฌาจาร (ความประพฤติเกินเลยขอบเขตคือการเสพเมถุน) ก็ถึงความเป็นปาราชิก หาการตรัสรู้ธรรมมิได้
พวกที่ท่านเรียกว่า “ลัมพี” เพราะเหตุที่มีองคชาตยาวเกินปกติคนทั่วไป ก็อย่างนั้น พวกที่ท่านเรียกว่า “มุทุปิฏฐกะ – คนหลังอ่อน” อันได้แก่พวกนักฟ้อนรำที่พยายามดัดร่างกายของตนให้อ่อนราวกับไม่มีกระดูก เพื่อประโยชน์แก่ศิลปะการฟ้อนรำของตน ก็หาการตรัสรู้ธรรมมิได้
พวกที่ชอบเสพเมถุนโดยการสอดใส่องคชาตของตนเข้าปากผู้อื่นก็หาการตรัสรู้ธรรมมิได้ และพวกที่ชื่นชมยินดีองคชาตของผู้อื่น ก็หาการตรัสรู้ธรรมมิได้ บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้ หาการตรัสรู้ธรรมมิได้เพราะมีราคะหนาแน่นเกินไป แม้เพียงวิปัสสนาญาณก็ไม่อาจทำให้เกิดได้ รวมบุคคลผู้เป็นปราชิกได้ ๒๔ จำพวก ตามประการดังกล่าวมานี้
ใน ๒๔ จำพวกนั้น พวกที่ต้องอาบัติ ๒ ฝ่าย ๘ จำพวกที่ยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน, พวกปลอมบวช, พวกเข้ารีตเดียรถีย์, และภิกษุณีที่ยินดีในเพศฆราวาส ชื่อว่า “ภิกษุปาราชิก” (ชื่อนี้หมายรวมทั้งภิกษุทั้งภิกษุณี) เพราะถึงความเป็นปาราชิกเมื่อได้บวชครองเพศเป็นภิกษุหรือภิกษุณี หากยังไม่ได้บวช ก็ยังไม่ถึงความเป็นปาราชิก
ส่วนพวกที่เหลือ มีพวกที่มีวัตถุวิบัติเป็นต้น ชื่อว่า “คิหิปาราชิก” เพราะแม้ไม่ได้บวชยังถือเพศคฤหัสถ์นั่นเทียว เมื่อมีความเป็นอย่างนั้น ก็เป็นปาราชิกได้ พระเจ้ามิลินท์ทรงหมายเอาพวกคิหิปาราชิกเหล่านี้ ปรารภแต่งเป็นปัญหาถามพระนาคเสน ก็คนเหล่านี้ แม้หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามการบวชไว้ แม้มีโอกาสได้บวช เพราะเหตุที่ตนเองไม่รู้ถึงความเป็นคนปาราชิกของตนก็ดี พระอุปัชฌาย์เป็นต้นไม่รู้ก็ดี ได้บวชแล้ว แม้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมมากมายเพียงใดก็ตาม ก็ไม่อาจตรัสรู้ธรรมได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะป่วยกล่าวไปไย ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามการบวชไว้แล้วเล่า
คำว่า เหตุเพื่อการตรัสรู้ธรรมใด, เขาขาดเหตุนั้น ความว่า การเจริญสิกขา ๓ อันเป็นส่วนเบื้องต้นซึ่งเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้อริยสัจธรรมในกาลต่อมา ใด, เขาขาดเหตุนั้นไปเพราะเหตุไรจึงขาด ? เพราะเหตุที่ตนเป็นคนปาราชิก เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจทำเหตุนั้นได้ อธิบายว่า ความไม่รู้ตนเองว่าตนเป็นคนปาราชิก ไม่มีความกลัดกลุ้มในเรื่องนี้ มิได้เป็นเหตุช่วยให้มีการตรัสรู้ธรรม. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๗. จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๔๖
ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ
ณัฏฐ สุนทรสีมะ
ที่มา : http://dhamma.serichon.us
มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) , (ตอนที่ 49) , (ตอนที่ 48) , (ตอนที่ 47) , (ตอนที่ 46) , (ตอนที่ 45) , (ตอนที่ 44) , (ตอนที่ 43) , (ตอนที่ 42) , (ตอนที่ 41) , (ตอนที่ 40) , (ตอนที่ 39) , (ตอนที่ 38) , (ตอนที่ 37) , (ตอนที่ 36) , (ตอนที่ 35) , (ตอนที่ 34) , (ตอนที่ 33) , (ตอนที่ 32) , (ตอนที่ 31) , (ตอนที่ 30) , (ตอนที่ 29) , (ตอนที่ 28) , (ตอนที่ 27) , (ตอนที่ 26) , (ตอนที่ 25) , (ตอนที่ 24) , (ตอนที่ 23) , (ตอนที่ 22) , (ตอนที่ 21 ต่อ) , (ตอนที่ 21) , (ตอนที่ 20) , (ตอนที่ 19) , (ตอนที่ 18) , (ตอนที่ 17) , (ตอนที่ 16) , (ตอนที่ 15) , (ตอนที่ 14) , (ตอนที่ 13) , (ตอนที่ 12) , (ตอนที่ 11) , (ตอนที่ 10) , (ตอนที่ 9) , (ตอนที่ 8) , (ตอนที่ 7) , (ตอนที่ 6) , (ตอนที่ 5) , (ตอนที่ 4) , (ตอนที่ 3) , (ตอนที่ 2) , (ตอนที่ 1) , ประโยชน์การอุปมาอันได้จากการศึกษาคัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์มิลินท์ปัญหาเป็นต้น , มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้ , เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า? , นิปปปัญจปัญหา - ปัญหาเกี่ยวกับธรรมที่ปราศจากเหตุให้เนิ่นช้าในวัฏฏทุกข์ , ถามว่า อานิสงส์การเจริญเมตตา ห้ามอันตรายต่างๆ เหตุไรสุวรรณสามผู้เจริญเมตตาจึงถูกยิงเล่า?
0 comments: