"อยู่" กับความไม่เที่ยง
จงพิจารณาดูเถิดว่า อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นของปรุงดังนี้แล้ว อะไรๆ ก็ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น จะต้องทำอย่างไรกับของไม่เที่ยงเหล่านี้ ? ท่านสอนให้พิจารณาดู ให้รู้จักการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง ให้เข้าใจตามที่เป็นจริง แล้ววางใจให้ถูกต้อง คือ
อย่าไปหลงรัก สิ่งที่เป็นเพียงของปรุงนั้นเลย
ไปรักของปรุงเข้า ก็คือไปรักของที่ไม่เที่ยง
เมื่อของนั้นเปลี่ยนแปลงไป คนที่ไปรักของนั้นเข้า
ก็จะต้องมีความทุกข์ โดยไม่ต้องสงสัย
การที่มีความรู้ ความเข้าใจว่า ของปรุงทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงนั้นมีประโยชน์อย่างนี้ คือมันมีประโยชน์ในทางที่จะป้องกันไม่ให้คนไปรัก ไปหลงเข้า แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนทีหลัง เมื่อคนไปหลงใหลในของปรุงเข้า ก็จะได้ผลเพียง ๒ อย่าง คือไม่หัวเราะก็ร้องไห้ จะได้หัวเราะ ในเมื่อมันยังเป็นไปตามความต้องการขณะหนึ่ง มันเป็นไปตามที่บุคคลนั้นต้องการ ก็เลยหัวเราะร่า ต่อมามันเปลี่ยนไปในรูปอื่น ไม่เป็นตามที่ต้องการก็ต้องร้องไห้ ถ้ามากไปกว่านั้นอีก ก็ร้องไห้อย่างยิ่งถึงขนาดที่จะต้องทำลายตัวเอง
นี้เป็นอันว่า การที่ไปหลงใหลในสิ่งที่เป็นของปรุง หรือของไม่เที่ยงนั้น ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าการหัวเราะ กับการร้องไห้ คิดๆ ดูเถิดมันเป็นการเหนื่อยทั้งขึ้นทั้งล่อง การหัวเราะที่เป็นอาการของความรัก ความพอใจ ความยินดีนั้น ก็เหนื่อยไปทางหนึ่ง การโกรธ การเกลียด การชัง หรือการร้องไห้ ก็เป็นการเหนื่อยไปอีกแบบหนึ่ง มันเป็นการเหน็ดเหนื่อย คือทนทุกข์ทั้งขึ้นทั้งล่อง หากแต่ว่ามีอะไรมาปิดบังไว้ ไม่ให้สัตว์ทั้งหลายรู้ว่า อาการอย่างนี้ เป็นอาการของความทุกข์ กลับเห็นเป็นอาการของความสนุกสนาน จนถึงกับบางคนได้หัวเราะก็สบายใจ บางคนได้ร้องไห้ก็ยิ่งสบายใจ ยิ่งร้องไห้มากๆ ก็หายโมโห รู้สึกว่าสบายดี ดังนี้ เพราะอำนาจความเข้าใจผิด
โดยที่แท้แล้ว อยู่เฉยๆ ยังจะดีกว่า ที่จะไปนั่งหัวเราะ หรือนั่งร้องไห้ ซึ่งเป็นอาการที่ขึ้นๆ ลงๆ ฟูๆ แฟบๆ สลับกันเช่นนั้น นี่ก็เป็นเพราะไม่รู้ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง ถ้าเกิดไปรู้ตามที่เป็นจริงเข้าเมื่อไร ก็จะเป็นไทแก่ตัว คือเป็นอิสระแก่ตัวเอง สามารถที่จะเฉยอยู่ได้การ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ เป็นผู้มีความสงบระงับ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นผู้ที่มีความเป็นอิสระ ไม่ตกไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งเหล่านั้น จนถึงกับต้องหัวเราะ จนถึงกับต้องร้องไห้
ธรรมะใกล้มือ เรื่องอนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
ชุดธรรมะ ๙ ตา : น่ารู้ไว้ (น.๒๑)
อ่าน E-book : https://pagoda.or.th/dharma-book.html
Credit: สโมสรธรรมทาน - co dhamma space
0 comments: