กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1)
[ณ กรุงราชคฤห์ เศรษฐีคณะหนึ่งซึ่งเดินทางกลับจากการทำธุระที่กรุงเวสาลี ได้เข้าไปพบพระเจ้าพิมพิสารและเล่าให้ฟังว่า]
ศ: เวสาลีเป็นเมืองที่มั่งคั่ง มีผู้คนและของกินมากมาย มีปราสาทบ้านเรือน สวนดอกไม้ และสระโบกขรณี (สระบัว) จำนวนมาก และยังมีนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองที่สะสวยมีเสน่ห์ ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ชำนาญขับร้องฟ้อนรำ ร่วมหลับนอนกับผู้ที่พร้อมให้นาง 50 กหาปณะ (200 บาท) และเพราะมีนางนี่เองที่ทำให้กรุงเวสาลียิ่งงดงาม ถ้าพวกเราจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นมาบ้างก็น่าจะดี
พส: ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงไปเสาะหาหญิงผู้มีลักษณะงดงามเช่นนั้นเพื่อเลือกมาเป็นหญิงงามเมืองของเรา
[ช่วงนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีหญิงรุ่นชื่อสาลวดีที่สวยงามมีเสน่ห์ ซึ่งถูกเศรษฐีกลุ่มนั้นเลือกมาเป็นหญิงงามเมือง ซักพักก็ชำนาญดนตรี และร่วมหลับนอนกับผู้ที่พร้อมให้นาง 100 กหาปณะ (400 บาท) ไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ ซึ่งนางคิดว่าผู้ชายย่อมไม่ชอบหญิงที่มีลูกแล้ว ถ้าคนรู้ นางก็จะไม่เป็นที่ชื่นชอบอีกต่อไป นางจึงสั่งคนเฝ้าประตูว่า]
ส: อย่าให้ผู้ชายเข้ามา ถ้ามีใครถามหาก็บอกว่าเป็นไข้นะ
[หลังจากนั้น นางก็คลอดลูกชายและกำชับสาวใช้ว่า]
ส: เธอจงเอาทารกนี้ใส่กระด้งเก่าๆแล้วเอาไปทิ้งกองขยะ
[ในตอนเช้า เจ้าชายอภัย ซึ่งกำลังกลับเข้าวังพอดีได้มองเห็นทารกที่มีฝูงกาล้อมอยู่ จึงได้ถามมหาดเล็กว่า]
อ: นั่นอะไรน่ะที่ฝูงการุมตอม?
ม: ทารก พ่ะย่ะค่ะ
อ: ยังมีชีวิตอยู่ไหม?
ม: ยังมีชีวิตอยู่ พ่ะย่ะค่ะ
อ: ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงนำทารกนั้นไปที่วังของเราให้นางนมเลี้ยง
[ด้วยคำตอบของมหาดเล็กที่ว่า ‘ยังมีชีวิตอยู่’ จึงได้ชื่อว่า ‘ชีวก’ และเพราะเจ้าชายสั่งให้เลี้ยงดูไว้ จึงได้นามสกุลว่า ‘โกมารภัจจ์’ (ผู้ที่พระราชกุมารเลี้ยง) เมื่อเวลาผ่านไป ชีวกโกมารภัจจ์พอรู้เรื่องราวแล้ว ได้ถามเจ้าชายว่า]
ช: ใครเป็นพ่อแม่ของกระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ?
อ: ชีวก เราเองก็ไม่รู้จักแม่ของเจ้า แต่เราเป็นพ่อของเจ้านะเพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้
ช: (คิด) คนที่ไม่มีศิลปวิทยาความรู้ คงยากที่จะอาศัยอยู่ในราชสกุลนี้ ถ้ายังไงเราควรต้องหาทางเรียนวิชา
______
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 จีวรขันธกะ พุทธานุญาตคหบดีจีวร), 2559, น.230-232
บาปและบุญคือเงาตามตัวไปโลกหน้า, รับนิมนต์และสวนที่ถวายโดยหญิงงามเมือง, การกล่าวไตรสรณคมน์ (การถึงที่พึ่งทั้งสาม) 3 ครั้ง, ฉันเนื้อได้ด้วยเงื่อนไข 3 ข้อ, อนุญาตน้ำปานะ, ต้อนรับพระพุทธเจ้าเพราะกลัวโดนญาติว่า, หลักพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าห้ามหรือไม่ห้ามสิ่งใด, กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1), (ตอนที่ 2), (ตอนที่ 3), (ตอนที่ 4), หมอรักษาพระพุทธเจ้า, ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณี, เหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม, พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์
0 comments: