วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

อนุโสตสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

๔ จำพวกเป็นไฉน คือ   บุคคลผู้ไปตามกระแส ๑   บุคคลผู้ไปทวนกระแส ๑   บุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว ๑   บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไปตามกระแสเป็นไฉน ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเสพกามทั้งหลายและย่อมกระทำกรรมอันเป็นบาป นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้ไปตามกระแส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไปทวนกระแสเป็นไฉน ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่เสพกามและย่อมไม่กระทำกรรมอันเป็นบาป แม้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เพราะประกอบด้วยทุกข์บ้างเพราะประกอบด้วยโทมนัสบ้าง ก็ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้ไปทวนกระแส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้วเป็นไฉน ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ผุดขึ้นเกิด ปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบกเป็นไฉน ?

บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ นี้เราเรียกว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยังไม่ปราศจากราคะ มีปรกติบริโภคกาม ชนเหล่านั้นแล ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เข้าถึงชาติ และชราบ่อยๆ ชื่อว่าไปตามกระแส เพราะฉะนั้น ธีรชนในโลกนี้ เป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้วไม่เสพกาม และไม่ทำกรรมอันเป็นบาป แม้ประกอบด้วยทุกข์ก็ละกามได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกบุคคลนั้นว่าไปทวนกระแส

นรชนใดแล ละกิเลส ๕ ประการเสียได้ เป็นผู้มีการศึกษาบริบูรณ์ มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ถึงความเป็นผู้ชำนาญในจิต มีอินทรีย์ตั้งมั่นแล้ว

นรชนนั้นแล นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่าผู้มีตนตั้งอยู่แล้ว ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล อันบุคคลใดกำจัดหมดแล้ว ถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีอยู่ บุคคลนั้นเป็นผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ถึงที่สุดแห่งโลก นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกว่าผู้ถึงฝั่ง ฯ

ที่มา : พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓

อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อนุโสตสูตร [๕]







Previous Post
Next Post

0 comments: