วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1)

แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1)

[ณ วัดโฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี มีภิกษุรูปหนึ่งทำสิ่งที่ภิกษุรูปอื่นเห็นว่าเป็นอาบัติ (โทษจากการทำผิดวินัย) แต่เจ้าตัวมองว่าไม่เป็นอาบัติ โดยกลุ่มที่เห็นว่าเป็นอาบัติได้ยกภิกษุรูปนั้นเสีย (ยกออกจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่น คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้ทำวัดร่วม = อุกเขปนียกรรม) ด้านภิกษุที่ถูกยกก็ร้องว่าไม่เป็นธรรม จากนั้นต่างคนต่างหาพวกมาสนับสนุนตน สุดท้ายคณะสงฆ์ก็ได้แตกออกเป็นฝักฝ่าย จนภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปแจ้งพระพุทธเจ้าว่า]

ภ:  ภิกษุรูปหนึ่งในวัดนี้ต้องอาบัติซึ่งเจ้าตัวไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุรูปอื่นๆ เห็นว่าเป็น และได้หาเสียงมาสนับสนุนให้ยกภิกษุรูปนั้น ส่วนภิกษุที่ถูกยกก็ไปหาภิกษุอื่นๆในชนบทที่เคยเป็นเพื่อนกันมาร้องว่าการยกนี้ไม่เป็นธรรม ด้านเหล่าภิกษุที่ให้ยกก็ตอบกลับว่าท่านทั้งหลายอย่ามาสนับสนุนภิกษุรูปนี้เลย แต่สุดท้ายก็ยังสนับสนุนอยู่เหมือนเดิม

พ:  (คิด) ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้วๆ

[พระพุทธเจ้าได้ลุกเดินไปหากลุ่มภิกษุที่ให้ยกแล้วกล่าวว่า]

พ:  ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญว่าพวกเราฉลาด พวกเราถูก แล้วไปตัดสินให้ยกภิกษุเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าพวกเธอรู้ว่าภิกษุรูปนั้นเป็นพหูสูต (ผู้มีปัญญารอบรู้) ใฝ่สิกขา (ใส่ใจข้อที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ) แล้วยังจะยกเขา ไม่ให้ร่วมกันทำอุโบสถ (ทำวัตร สวดพระปาติโมกข์) ไม่ให้ฉันด้วยกัน ไม่ให้นอนที่เดียวกัน สุดท้ายก็จะเกิดความแตกแยกขึ้น ถ้าไม่อยากให้แตกแยกกัน ก็ไม่ควรด่วนตัดสินยกภิกษุนั้น

[จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ลุกเดินไปหากลุ่มภิกษุที่ถูกยกแล้วกล่าวว่า]

พ:  ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติแล้ว อย่าสำคัญว่าไม่ต้องอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้ว่าภิกษุที่เห็นว่าเป็นอาบัตินั้น เป็นพหูสูต ใฝ่สิกขา ไม่มีอคติกับเราส่วนตัว แล้วยกเราไม่ให้ร่วมกันทำอุโบสถ ไม่ให้ฉันด้วยกัน ไม่ให้นอนที่เดียวกัน สุดท้ายก็จะเกิดความแตกแยกขึ้น ถ้าไม่อยากให้แตกแยกกัน ก็ควรยอมแสดงอาบัตินั้นเสียแม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

[ภายหลังภิกษุทั้งสองฝ่ายถึงขั้นลงมือลงไม้กันในโรงฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ติเตียนแล้ว แต่ต่อมาก็ทะเลาะวิวาทด่าทอใช้วาจาทิ่มแทงกันอีก จนภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าไปแจ้งพระพุทธเจ้าและขอให้เข้ามาช่วยพูด ซึ่งเมื่อท่านไปถึงก็พูดว่า]

พ:  อย่าเลยภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกันเลย

[ภิกษุรูปหนึ่งได้ตอบกลับว่า]

ภ:  ขอท่านมีความสุขอยู่กับปัจจุบันเถิด กรุณาอย่าเข้ามาเกี่ยวข้องเลย พวกข้าพระองค์จะจัดการกันเอง

[พระพุทธเจ้าได้กล่าวเตือนอีกครั้ง แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิม ท่านจึงเล่าเรื่องอดีตที่เกิดในกรุงพาราณสีให้เหล่าภิกษุฟัง]

_____

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 โกสัมพิขันธกะ เรื่องความวิวาทแห่งภิกษุชาวเมืองโกสัมพี), 2559, น.429-438

หลักพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าห้ามหรือไม่ห้ามสิ่งใด,  กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),   (ตอนที่ 4)หมอรักษาพระพุทธเจ้า,  ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณีเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม,  พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์,  ตถาคตเลิกให้พรแล้วคุณ 5 ข้อของการนอนแบบมีสติรู้ตัว,  แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1),  (ตอนที่ 2),  (ตอนที่ 3),  (ตอนที่ 4),   (ตอนที่ 5),  (ตอนจบ),  "คว่ำบาตร" มีที่มาอย่างไร


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: