ห้าสิ่งที่ควรทำช้า ๆ
สิเน สิปฺปํ สิเน ธนํ, สิเน ปพฺพตมารุเห;
สิเน กาโม จ โกโธ จ, อิเม ปญฺจ สิเน สิเน.
สิ่งที่ควรทำช้า ๆ ๕ ประการ คือ
๑. การเรียนศิลปะ (ต้องเพียรพยายาม) ๒. การแสวงหาทรัพย์ (ต้องขยันมั่นเพียร) ๓. การขึ้นภูเขา (ต้องดูกำลังวังชา) ๔. การเสพกามคุณทั้งห้า (ต้องมีสติ) ๕. การโกรธ (ต้องหาวิธีระงับโดยเร็ว)
(ธัมมนีติ กตกถา ๒๑๘, โลกนีติ ๙)
ศัพท์น่ารู้ :
สิเน (ช้า ๆ) ยังไม่ทราบว่า สำเร็จมาจากธาตุปัจจัยอะไรกันแน่ แปลตามกันมาว่า „ช้า ๆ“ ขอฝากไว้ก่อน ครับ อนึงในโลกนีติไตรพากย์ เป็น สินฺเน ทุกบทไป.
สิปฺปํ (ศิลป, ฝีมือ) นป. สิปฺป+อํ ควรใส่กิริยาที่สัมพันธ์กัน อุคฺคณฺเห (เรียน, ถือเอา) เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์
ธนํ (ทรัพย์, สมบัติ) นป. ควรเติมกิริยาว่า ปริเยเส, คเวเส (แสวงหา) เพื่อให้ได้ความหมาย
ปพฺพตมารุเห ตัดบทเป็น ปพฺพตํ+อารุเห (พึงขึ้นสู่ภูเขา) ปพฺพต+อํ = ปพฺพตํ (ซึ่งภูเขา, สู่บรรพต), อา+√รุห+อ+เอยฺย = อารุเห ภูวาทิ. กัตตุ. หรือ อารุห+สฺมึ = อารุเห ได้เหมือนกัน.
กาโม (ความต้องการ, กาม) กาม+สิ ในโลกนีติเป็น กามสฺส
จ (ด้วย, และ) นิบาต
โกโธ (ความโกรธ, โทสะ, ขุ่นเคือง) โกธ+สิ ในโลกนีติเป็น โกธสฺส
อิเม (เหล่านี้) อิม+โย
ปญฺจ (ห้า) ปญฺจ+โย สังขยาสัพพนาม
สิเน สิเน (ช้า ๆ, ใจเย็น ๆ) อนึ่งในโลกนีติไตรพากย์ เป็น สินฺเน
ลำดับนี้ขอนำบาฬีและคำแปลจากโลกนีติไตรพากย์ (พากย์โลกนีติ) มาเทียบเคียงไว้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไปตามโอกาสอันเหมาะสม ดังนี้
สินฺเน สิปฺปํ สินฺเน ธนํ, สินฺเน ปพฺพตมารุยฺหํ;
สินฺเน กามสฺส โกธสฺส, อิเม ปญฺจ สินฺเน สินฺเน ฯ
ศิลปย่อมาให้เป็นตอน ๆ โภคทรัพย์ย่อมมาให้ทีละน้อย การขึ้นภูเขาต้องค่อย ๆ ไป
กามคุณควรผ่อนเป็นขั้น ๆ ความโกรธควรแสดงคราวะน้อย ห้าอย่างนี้ พึงค่อยเป็นค่อยไป.
เรียนศิลป์แสวงทรัพย์ด้อม เดินไศล
สามสิ่งอย่าเร็วไว ชอบช้า
เสพกามหนึ่งคือใจ มักโกรธ
สองประการนี้ถ้า ผ่อนน้อยเป็นคุณ.
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
พึงค่อย ๆ เรียนศิลป ค่อย ๆ แสวงหาทรัพย์ ค่อย ๆ ขึ้นภูเขา ค่อย ๆ รัก ค่อย ๆ โกรธ ทั้งห้านี้ พึงค่อยเป็นค่อยไป.
Credit: Palipage : Guide to Language - Pali
0 comments: