แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนจบ)
[หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้อยู่ที่หมู่บ้านปาริไลยกะมาระยะหนึ่ง ได้ออกเดินทางไปที่วัดเชตวัน กรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ อุบาสกอุบาสิกาชาวโกสัมพี ได้คุยกันว่า]
อ: ภิกษุในโกสัมพีทำให้พระพุทธเจ้าออกไปจากเมืองของเรา เราก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เอาละ พวกเราไม่ต้องเคารพไหว้ ไม่ต้องต้อนรับภิกษุเหล่านี้อีก ถ้าจะเข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ต้องถวาย จะได้ไปเสียจากที่นี่ หรือไม่ก็สึก หรือกลับไปหาพระพุทธเจ้า
[เมื่อชาวเมืองไม่ต้อนรับ ไม่สนใจ เหล่าภิกษุในโกสัมพีจึงคุยกันว่า]
ภ: ท่านอาวุโสทั้งหลาย พวกเราควรไปกรุงสาวัตถีเพื่อยุติเรื่องนี้ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเถิด
[เมื่อพระสารีบุตรทราบข่าวว่าคณะภิกษุโกสัมพีกำลังเดินทางมา จึงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า]
ส: ได้ข่าวว่าคณะภิกษุโกสัมพีที่ทะเลาะกันกำลังเดินทางมาที่นี่ ข้าพระพุทธเจ้าควรจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไรดี?
พ: สารีบุตร เธอจงยึดธรรมเป็นหลัก
ส: ข้าฯจะทราบได้อย่างไรระหว่างธรรมกับอธรรม?
พ: ฝ่ายอธรรมคือ ภิกษุที่แสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม สิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย สิ่งที่ตถาคตไม่ได้พูดว่าตถาคตพูด สิ่งที่ตถาคตไม่ได้ทำว่าตถาคตทำ สิ่งที่เป็นอาบัติว่าไม่เป็นอาบัติ
[โดยเมื่อพระมหากัสสปะ พระมหากัจจานะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระอนุรุทธะ พระเรวตะ พระอุบาลี พระอานนท์ และพระราหุลถาม พระพุทธเจ้าก็ตอบแบบเดียวกัน]
[ขณะเดียวกัน เมื่อพระมหาปชาดีโคตมีเถรีทราบข่าว ก็เข้าไปถามพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน]
ม: ได้ข่าวว่าคณะภิกษุโกสัมพีที่ทะเลาะกันกำลังเดินทางมาที่นี่ ข้าพระพุทธเจ้าควรจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไรดี?
พ: โคตมี เธอจงฟังความสองฝ่าย พอฟังแล้วเห็นว่าฝ่ายไหนพูดได้ถูกต้องเป็นธรรม ก็จงพอใจกับฝ่ายนั้น
[โดยเมื่ออนาถบิณฑิกคหบดี และนางวิสาขามิคารมาตาถาม พระพุทธเจ้าก็ตอบแบบเดียวกัน]
[เมื่อคณะภิกษุมาถึง พระภิกษุที่ถูกยกได้เข้าไปหาเหล่าภิกษุที่สนับสนุนตนแล้วกล่าวว่า]
ภ: อาวุโสทั้งหลาย ที่ผมทำนั้นเป็นอาบัติ ควรแล้วที่ผมถูกยก ขอได้กรุณารับผมเข้าหมู่ด้วยเถิด
[เหล่าภิกษุจึงพาผู้ถูกยกเข้าไปพบพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า]
เหล่าภิกษุ: ภิกษุผู้ถูกยกรูปนี้ กล่าวว่าสิ่งที่ตนทำเป็นอาบัติ ควรแล้วที่ถูกยก ขอให้รับกลับเข้าหมู่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าควรทำอย่างไรดี?
พ: ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ภิกษุนั้นทำเป็นอาบัติ ควรแล้วที่ถูกยก เมื่อถูกยกและเห็นอาบัติแล้ว พวกเธอก็จงรับภิกษุนั้นกลับเข้าหมู่
[เมื่อรับเข้าหมู่แล้ว ทั้งหมดได้เข้าไปหาเหล่าภิกษุที่ยกและกล่าวว่า]
เหล่าภิกษุที่สนับสนุนผู้ถูกยก: อาวุโสทั้งหลาย หมู่สงฆ์แตกแยกกันเพราะเรื่องภิกษุนั้น ซึ่งต้องอาบัติและถูกยกแล้ว ซึ่งภิกษุนั้นได้เห็นอาบัติและสงฆ์ได้รับเข้าหมู่แล้ว พวกเราควรจะทำสังฆสามัคคีเพื่อยุติเรื่องทั้งหมดนี้
[เหล่าภิกษุที่ยกจึงได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า]
เหล่าภิกษุที่ยก: ภิกษุที่สนับสนุนผู้ถูกยกกล่าวว่า หมู่สงฆ์แตกแยกกันเพราะเรื่องภิกษุนั้น ซึ่งต้องอาบัติและถูกยกแล้ว ซึ่งภิกษุนั้นได้เห็นอาบัติและสงฆ์ได้รับเข้าหมู่แล้ว พวกเราควรจะทำสังฆสามัคคีเพื่อยุติเรื่องทั้งหมดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้าควรทำอย่างไรดี ?
พ: ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติและถูกยกแล้ว ซึ่งภิกษุนั้นได้เห็นอาบัติและสงฆ์ได้รับเข้าหมู่แล้ว พวกเธอจงทำสังฆสามัคคีเพื่อยุติเรื่องทั้งหมดนี้
[หลังจากเหล่าภิกษุทำสังฆสามัคคีแล้วนั้น พระอุบาลีได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]
อ: เมื่อเกิดความแตกแยกขึ้น ถ้ายังไม่ทันวินิจฉัยหรือค้นหาสาเหตุแล้วไปมุ่งทำให้สามัคคีกันเลย ถือว่าเป็นธรรมหรือ?
พ: เมื่อเกิดความแตกแยกขึ้น ถ้ายังไม่ทันวินิจฉัยหรือค้นหาสาเหตุแล้วไปมุ่งทำให้สามัคคีกันเลย ถือว่าไม่เป็นธรรม
อ: แล้วถ้ามาวินิจฉัยหรือค้นหาสาเหตุของความแตกแยกก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงสร้างความสามัคคี ถือว่าเป็นธรรมไหม?
พ: เมื่อเกิดความแตกแยกขึ้นแล้วมาวินิจฉัยหรือค้นหาสาเหตุกันก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยมาสร้างความสามัคคี แบบนี้ถือว่าเป็นธรรม
_______
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 7 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 โกสัมพิขันธกะ เสด็จจาริกสู่พระนครสาวัตถี), 2559, น.457-469
หลักพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าห้ามหรือไม่ห้ามสิ่งใด, กำเนิดหมอชีวกโกมารภัจจ์ (ตอนที่ 1), (ตอนที่ 2), (ตอนที่ 3), (ตอนที่ 4), หมอรักษาพระพุทธเจ้า, ไม่ฉันเนื้อใน 3 กรณี, เหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม, พระพุทธเจ้ารับการรักษาและรับจีวรจากหมอชีวกโกมารภัจจ์, ตถาคตเลิกให้พรแล้ว, คุณ 5 ข้อของการนอนแบบมีสติรู้ตัว, แก้ปัญหาภิกษุโกสัมพีทะเลาะกัน (ตอนที่ 1), (ตอนที่ 2), (ตอนที่ 3), (ตอนที่ 4), (ตอนที่ 5), (ตอนจบ), "คว่ำบาตร" มีที่มาอย่างไร
0 comments: