สติ สมาธิ ปัญญา
...เรานั่งอยู่มันละเอียด มันสงบ สงบในองค์ของฌาน แม้ว่าเราเดินไปเดินมาเราก็มีสติอยู่ มันสงบได้เพราะว่ามันมีสติอยู่อันนั้นมันเป็นองค์ทำให้เกิดปัญญาเราจะต้องบำเพ็ญมันอยู่อย่างนี้ถ้าหากว่าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ คล้ายๆว่าเราหยุดเหมือนไม่หยุด เราเลิกเหมือนไม่เลิก เหมือนกับสายบัวนั้น จับสายบัวขึ้นมาแล้วหักพั๊บ มันก็ขาดจากกันนะ แต่ส่วนละเอียดของใยบัวนั้นมันยังติดต่อกันนะ นั่นมันติดต่อกันอยู่อย่างนั้น
เมื่อเราออกจากสมาธิแล้ว แต่สำนึกว่ายังไม่ออก มันออกแต่การพูด ส่วนความสำนึก ความรู้สึกของเราก็เหมือนกับสายบัวที่หักออกจากกันอย่างนี้ มันก็ขาดจากกัน แต่ส่วนละเอียดของสายบัวใยบัวนั้นยังติดต่อกันอยู่ อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ที่เราเรียกว่าเราเลิกจากสมาธิ มันไม่เลิก เป็นคำพูดโดยปริยาย ความเป็นจริง ความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นนะ ความรู้สึกของเราในการกระทำเพียรนั้นมันยังติดต่อกันอยู่ เมื่อติดต่อกันอยู่เมื่อไร "สติ"ก็ยังมีอยู่ เมื่อสติมันมีอยู่ "สมาธิ" มันก็ยังมีอยู่ ประสบกับทุกข์เราก็รู้จัก ประสบสุขเราก็รู้จัก พอประสบอารมณ์ทุกข์ก็นำอารมณ์นั้นกลับมาบ้านพอจิตของเรากระทบอารมณ์ รู้สึกมีอารมณ์แล้วนะ มันก็กลับมาสู่ที่ของมัน อยู่กับที่นั่นแหละ เมื่อมีอารมณ์มากระทบอีกก็รู้อีก เมื่อรู้แล้วมันก็จัด "สมาธิ" ของมัน อยู่ในความสงบอย่างนี้ตลอดวัน ตลอดกลางวันกลางคืน มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ ทำไมมันจะไม่เกิดปัญญาล่ะ มันก็เกิดซิ อาตมาเชื่อแน่ว่าคนเราปฏิบัติพรรษาสองพรรษานี้ การปฏิบัติอย่างแท้จริงอาจจะไม่ถึง ๑๕ วันเลย อยู่ไปสองพรรษาสามพรรษา...อยู่ไปอย่างนั้นแหละ แต่การปฏิบัติจริงๆอาจไม่ถึงสิบห้าวันเลยมั้ง มันขาดมันจะไม่ติดต่อ อาการของจิตที่มันติดต่อกันอย่างนี้ ปีหนึ่งจะมีกี่วันละ ถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ โดยมากออกจากสมาธิแล้วนึกว่าออกก็ออกเลย จิตมันก็ไม่ติดต่อกัน มันไม่เกิดเป็นวงกลม
อาตมาเคยไปนั่งฟังพักเดียวเท่านั้น พระอาจารย์มั่นท่านพูดให้ฟังว่า "ขณะปฏิบัตินั้นจะต้องให้เป็นวงกลมนะท่านนะ"อาตมาได้ยินเสียงนั้นมากระทบ ท่านพูดว่า "เป็นวงกลม" เท่านั้น เกิดความรู้สึกหลายอย่าง วงกลมนี้กว้างไม่ถึง ๒ เมตร แต่ว่าวงกลมนั้นอาจจะยาวมากที่สุด เหมือนวงล้อของเกวียนนั้นแหละโคมันจะลากไปยาวจนกว่าเกวียนจะพังหรือโคจะตายนั่นแหละ มันไปสิ้นสุดตรงนั้น
ถ้าโคยังไม่ตาย เกวียนนั้นไม่พัง รอยเกวียนมันยาวไปไม่มีจบสักทีเลยฉะนั้นวงกลมเป็นอย่างนี้ มันยาวมันก็ออกจากวงกลม วงกลมนี้มันก็กลายเป็นความยาว ความยาวนั้นเมื่อเราพิจารณาแล้วมันจะเป็นวงกลม การภาวนาที่ท่านว่าให้เป็นวงกลมนั้นน่ะ คือให้มี "สติ" ติดต่อกันไม่มีเสร็จสักทีเลย คนเราหากว่าขาดสติแล้วก็เป็นบ้าเลย ขาดสติ ๕ นาที ก็เป็นบ้า ๕ นาที เอ้า!...ลองดูซิ ผู้มีสติคืนมานั้นจะหายบ้า เมื่อใครไม่มีสติควบคุมอยู่จะเป็นบ้าเลย ขาดไปชั่วโมงหนึ่งหรือสองวันสามวัน ก็เป็นบ้าชั่วโมงหนึ่งหรือสองวันสามวันทั้งนั้นแหละ "สติ" นี้เป็นของสำคัญมากกว่าเขามากที่สุดละ ดังนั้นอาตมาพิจารณาว่า การภาวนาเป็นวงกลมนี้ลึกซึ้งที่สุดที่พระอาจารย์มั่นท่านสอน แต่คนเราก็ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญาถึงขนาดนั้น เมื่อเราเข้าใจในธรรมะของท่านข้อเดียว"มันเป็นวงกลม" วงกลมมันจะจบตรงไหนล่ะ มันติดต่อกันทั้งนั้นแหละ...วงกลมนี้ วงกลมมันยาวที่สุดนั่นแหละ มันกว้างที่สุดนั่นแหละ แล้วมันก็แคบที่สุดอีกแหละ มันรู้ทั่วถึง ทำไมปัญญามันจะไม่เกิด ถ้าพิจารณาอยู่ไม่หยุดวงกลมมันจะยาว ปัญญามันจะเกิดทุกแง่ทุกมุม เมื่อเราเห็นสภาพอย่างนี้อยู่ในจิตของเราแล้ว ก็ไม่มีอะไร มันรู้จักอารมณ์ทุกๆอย่างเมื่อเราตามรักษาอยู่ อย่างตรงนี้...ลานวัดของเราตรงแคบๆนี้ เราพยายามกวาดมันอยู่เสมอ พยายามกวาดมันอยู่ ใบไม้ใบไร่มันก็ไม่มีเมื่อเรากวาดไปแล้วก็ดูอยู่ ใบไม้ที่มันปลิวมาตกเมื่อไรเราก็รู้จักเราก็หยิบมันออกเสีย ก็เพราะเรารักษาอยู่
อาการเช่นนี้ ลานวัดที่เรารักษานั้นมันก็จะไม่รกรุงรัง เพราะเรารักษา ตามรักษาอยู่ จิตใจเรานั้นมันจะสว่าง มันจะสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ก็เพราะว่าเรารักษามันอยู่ ไม่มีความประมาทอยู่ ...คนประมาทแล้วก็เหมือนคนตาย คนไม่ประมาทนั้นก็เหมือนคนไม่ตาย โอวาทครั้งสุดท้ายนั้นท่านกล่าวว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงยังความไม่ประมาทให้เกิดขึ้น"ก็เนื่องจากการภาวนา มีความรู้สึกว่ามันเป็นวงกลม...ไม่หลงอารมณ์ ถ้าไม่หลงอารมณ์มันก็ต้องรู้อารมณ์ ถ้าเราไม่รู้อารมณ์เราก็หลงอารมณ์ ถ้าเราเป็นวงกลมอยู่แล้วนะมันก็รู้อารมณ์ เมื่อรู้อารมณ์มันก็ไม่หลงอารมณ์ในเวลานั้นเราอยู่ด้วย "สติสัมปชัญญะ" ตลอดกาล ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าเราจะจำวัดหลับไป...ตื่นขึ้นมา อันนี้มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ จะเดินเหินไปทางไหน มองดูจิตของเจ้าของว่ามันมีความรู้สึกเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ทำไมปัญญามันจะไม่เกิด ทำไมมันจะไม่รู้ ทำไมมันจะไม่เห็น ที่เราภาวนาว่าไม่รู้ไม่เห็น ก็เพราะว่าเราหนีจากที่นี่ เราดูที่ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้สารพัดอารมณ์ทั้งหลายมันก็ไหลเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัว รู้ก็รู้ไม่จริง รู้แต่อารมณ์ ไม่รู้จักแยกอารมณ์กับจิตของเราออก กรณีความรู้สึกอย่างนี้มันจะรู้อารมณ์รู้จิตของเรา อันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์ อารมณ์มันเป็นอย่างนี้ จิตมันเป็นอย่างนี้ เราก็แยกออกจากกันได้ อันนี้มันเป็นกิเลส อันนี้มันไม่ใช่กิเลส อันนี้มันเป็นอารมณ์ อันนี้มันไม่ใช่อารมณ์ อันนี้เป็นความรู้ อันนี้เป็นจิต อันนี้เป็นอารมณ์ มันก็แยกออกเป็นส่วนๆ
ถึงแม้เราจะทำอะไรก็ช่างมันเถอะ ถ้ามีอารมณ์ เรารู้อารมณ์แล้วพูดไป พอพูดจบพั๊บมันก็กลับมาสู่บ้านเดิมของมัน มันไม่ส่งออกไปข้างนอก มันไม่วิ่งตามอารมณ์ไปทั่วทิศ ประโยชน์อันนี้ก็คือ กลับมาอยู่ที่ของมัน เหมือนกับแมงมุมน่ะ แมงมุมมันจะทำบ้านของมันเป็นตาข่ายใหญ่ๆ สำหรับจับสัตว์ไว้กิน เมื่อมันทำเสร็จแล้ว แมงมุมมันก็มาจับอยู่กลางบ้าน เฉยอยู่ เหมือนกับเศษอะไรอันหนึ่งที่มันทิ้งไว้อยู่ พอสัตว์แมลงต่างๆมันบินมาถูกเครื่องจับสัตว์ของมัน ถูกบ้านของมัน มันจะมีความกระเทือน แมงมุมก็ตื่นตัววิ่งออกไปจับเอาสัตว์ฆ่าแล้วเก็บไว้ เสร็จแล้วก็กลับมาอยู่ที่เก่าของมันอีก อยู่ไปๆ เมื่อแมลงบินมากระทบอีก มันก็รู้สึกอีกมันก็วิ่งออกไปจับเอาสัตว์นั้นมาอีก พอจับสัตว์ไว้ดีแล้ว มันก็กลับมาอยู่ที่เก่าของมันอีก
สติของเราก็เป็นอย่างนั้น พอมีสติอยู่มันรู้จักอารมณ์ธรรมชาติ ที่ว่าไม่ชอบใจก็รู้จัก รู้แล้วก็กลับมาอยู่ที่ของเรา อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ที่ชอบใจ มันก็รู้จัก รู้แล้วมันก็กลับมาอยู่ที่ของเราเสมอ อย่างนี้ตลอดเวลา อันนั้นธรรมชาติสัตว์มันเป็นอย่างนั้น มันจับอาหาร...มันจับสัตว์เป็นอาหาร อันนี้ก็เหมือนกันเรารู้จักอารมณ์แล้วก็ต้องอยู่อย่างนี้ เมื่อพูดแล้วทำแล้วก็กลับมาอยู่ที่ของเรา อย่างเราที่ทำงานอะไรต่างๆ เมื่อเราทำไป ความรู้สึกเราก็รู้จัก เพราะรู้อยู่เสมอ มันก็เป็นคนไม่ประมาทเท่านั้นแหละมันก็เป็นเรื่องที่ว่า ภาวนาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ติดต่อกันเป็นวงกลมอย่างนั้น ที่มันจะพร่องอยู่ก็เรียกว่ามันไม่เอาจิตจดจ่อมัน วันนี้หนึ่งภาวนาให้เป็นวงกลม สองให้คัดเอาอันดีๆไป อะไรที่มากระทบก็ให้โยมคิดว่า...อันนี้มันไม่เที่ยง เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นเป็นกัมมัฏฐานอยู่ในความรู้ของเจ้าของ ตรงนี้แหละ ตรงที่จะให้เกิดปัญญา ปัญญามันก็เกิดไปจากนี้ นอกเหนือนี้ไปเป็น "วิปัสสนา"
สมมุติ กับ วิมุตติ
"วิปัสสนา" นั้น มันจะรู้ถึง ไม่ใช่ไม่รู้ถึง ที่เรารู้กันทุกวันนี้มันรู้ไม่ถึง มันถึงเหลืออยู่ รู้ให้ถึง อันนี้เรารู้กันไม่ถึง อย่างกระโถนใบนี้ หรือถ้วยใบนี้ เรารู้กันทุกคน หรือ "ดอกไม้" อันนั้นรู้กันทุกคน ถ้าหากมีคนหนึ่งมาแกล้งพูดว่า อันนี้ "ผลไม้" เราก็จะไม่พอใจนะนี่ เพราะว่ามันเป็น "ดอกไม้" คนอื่นมาแจ้งว่าอันนี้"ผลไม้" ก็จะโต้เถียงกันนะอันนี้ โต้เถียงกัน คนที่เข้าใจว่าดอกไม้ก็ดี คนที่เข้าใจว่าผลไม้ก็ดี...เหมือนกัน คนสองคนนี้รู้ไม่ถึงจึงเถียงกัน ถ้ารู้ถึง "ดอกไม้" รู้ถึง "ผลไม้" คนทั้งสองมันจะไม่เถียงกัน ไม่เถียงยังไง? ถ้าเรารู้ว่าอันนี้มันดอกไม้ ถ้ารู้ถึงมันนะ ใครจะมาว่าอันนี้ผลไม้ เราก็สบาย หรือมีคนอื่นมาว่าใบไม้เราก็สบายมีคนหนึ่งพูดว่าดอกไม้...เราก็สบาย เพราะเรารู้ถึงมันทุกอย่าง
"ดอกไม้" นี้มันเกิดมาจากความสมมุติ คนสมมุติมาครั้งแรกสมมุติว่าชนิดนี้เป็นดอกไม้ แล้วก็ถือกันมาเรื่อยๆมา ใครจะมาว่าผลไม้ไม่ได้ ต้องทะเลาะกัน ถ้าคนแรกเขาสมมุติว่าดอกไม้นี้เป็นผลไม้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ชนิดนี้เขาเรียกว่าผลไม้ ไม่ใช่ดอกไม้ เราก็จะเรียกผลไม้เป็นดอกไม้ตลอดจนเดี๋ยวนี้ อันนี้ดอกไม้มันก็ไม่ใช่ ผลไม้มันก็ไม่ใช่ มันจะเป็นดอกไม้เพราะเราสมมุติขึ้นเดี๋ยวนี้ ถ้าสมมุติดอกไม้มันเป็นดอกไม้ ถ้าคนอื่นมาสมมุติว่าเป็นผลไม้ก็เป็นขึ้นเดี๋ยวนี้ อันนี้เราสมมุติในปัจจุบันเรียกว่าดอกไม้ คนอื่นเขาเรียกว่าผลไม้มันก็ขัดแย้งกับเรา คนหนึ่งว่าดอกไม้ คนหนึ่งว่าผลไม้ มันก็ทะเลาะกัน ทะเลาะกันเพราะคนสองคนไม่รู้ตามความเป็นจริงของมัน ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่าดอกไม้ผลไม้นี้เป็นของสมมุติขึ้นมา เป็นของสมมุติขึ้นมาเท่านั้น ถ้ารู้ถึงที่สุดแล้วดอกไม้นี้แหละผลไม้นี้มันไม่เป็นอะไร คนที่สมมุติว่าเป็นดอกไม้มันก็เพิ่งเป็นขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ แต่ตัวดอกไม้มันก็ไม่เป็นอะไรอีกแหละ มันเป็นเพราะคนสมมุติขึ้นมา ถ้าเรารู้จักเช่นนี้ ใครจะว่าผลไม้เราก็สบาย เพราะเรารู้วัตถุอันนี้ถึงที่ของมัน รู้ใบไม้ถึงใบไม้รู้ผลไม้ถึงผลไม้ ใครเขาว่าผลไม้เราก็สบาย เขาจะบอกว่าอะไรเราก็สบาย เขาจะว่าดอกมันก็สบาย ทำไมมันถึงสบาย เพราะรู้ตามความเป็นจริงของมันแล้ว อันนี้เราติด "สมมุติ" ติด "อุปาทาน"ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
เอาซิ...ดอกไม้อันนี้ ถ้ามีคนหนึ่งเขาพูดว่าผลไม้ ก็มัวแต่เถียงกันตลอดเวลา จนจะลงเอาเงินเอาทองกันเสียด้วยนะ ความเป็นจริงนั้นน่ะ อันนี้มันไม่เป็นอะไร มันถูกสมมุติขึ้นมา เป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไรมันก็ไม่รู้เรื่อง มันเป็นภาพอันหนึ่งต่างหาก ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงมันแล้ว ใครจะว่าดอกไม้มันก็เหมือนกับผลไม้เรียกว่าผลไม้ก็เหมือนดอกไม้ เพราะรู้ถึงที่สุดของมัน เหตุมันก็ไม่เกิดขึ้นมา ถ้าเรารู้จักกันทุกคนเช่นนี้ ถ้าเป็น "สมมุติ" มันก็ขัดกัน ถ้าพูดถึง "วิมุตติ" นั้นมันไม่เป็นอะไร มันตรงเป็นอันเดียวกัน เอโกธัมโม เป็นอันเดียวกันเท่านั้น ไม่แย้งกันละ พระอริยบุคคลเจ้าทั้งหลายนั้นน่ะ อยู่สักพันองค์ก็ช่างเถอะ พูดขึ้นคำเดียวองค์เดียวก็รู้จักกันหมด ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่ต้องเถียงกัน ไม่ต้องขัดข้องอะไรกันแล้ว ท่านรู้จัก เหมือนเรียกดอกไม้ท่านก็รู้จักกันตามความเป็นจริงของมัน จะมาเรียกเป็นผลไม้ท่านก็รู้จักตามความเป็นจริงของมันแล้ว ใครจะมาเรียกใบไม้ท่านก็รู้จักตามความเป็นจริงของมันแล้ว ไม่ต่อล้อต่อเถียงกับใครแล้ว มันลงกันอย่างนี้ มันพ้นจากอันนี้ไปแล้ว
อันนี้มันเป็นเรื่องสมมุติกัน ถ้าเรารู้อย่างนี้กันทุกคน เราก็พยายามให้เข้าใจกันอย่างนี้ มันถึงจะเห็น มันถึงจะถูกต้อง อย่างตาของเรานี้นะ...ตา เขาสมมุติว่าอันนี้เรียกว่าตา ก็เรียกตากันมาตลอดเวลา ทุกวันนี้ใครจะมาเรียกตาว่าเป็นหูมันก็ทะเลาะกันแล้วอันตัวได้ยินนี้ เพราะฉันยึดมั่นถือมั่นว่าอันนี้เป็นตานะ ท่านจะมาเรียกว่าหูหรือจะมาเรียกว่าจมูกนี่บ้าๆบอๆ มันก็ต้องเถียงกันละ ความเป็นจริงนั้น ถ้าคนเดิมเขาสมมุติว่าหูนี้เป็นตาเสีย ก็จะเรียกหูเป็นตามาจนทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครขัดกันแล้ว
เรียกตาเป็นหูเสียก็ไม่มีใครขัดกันแล้ว อันนี้มันเกิดจากสมมุติเท่านั้นแหละ ถ้าพ้น "สมมุติ" แล้ว มันก็เป็น "วิมุตติ" ก็ลงรอยอันเดียวกันเท่านั้นแหละ ไม่มีปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาหรอกเท่านี้แหละ มันเป็นอุปาทาน มันก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตาจริงๆแหละ หูจริงๆ จมูกจริงๆ ถ้าไปถามจมูกมันจะรู้ว่ามันเป็นจมูกไหม? ไปถามตาดูซิ...ว่ามันจะเป็นตาไหม? ไปถามหูดูซิ...ว่ามันเป็นหูไหม? เราก็เป็นบ้าเรียกกันเท่านั้นแหละ ก็ทะเลาะกันเท่านั้นแหละ ทีนี้ถ้าเข้าใจอย่างนี้ มันก็สงบแหละ เขาจะเรียกอะไรฉันก็สบายใจ
มนุษย์เป็นผู้มีใจสูง
บุคคลที่มีความทุกข์เกิดขึ้นได้ กิเลสมันชอบเป็นอย่างนั้นมันยังไม่ยอม ตัวมันไม่ยอมมันยังมีอยู่ ฉะนั้นเราจะต้องสอนกันไปเรื่อยๆ บางคนก็ติดว่าเราเป็นครูแล้วนะ เป็นครูแล้วไม่ต้องสอนกันหรอก...อย่างนี้ก็มี แต่ว่ามันยังไม่โต ใจมันไม่โต ใจมันไม่สูง ใจมันยังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ ที่เราเห็นโตๆเพราะร่างกายมันโตไม่ใช่ว่าร่างกายมันโตแล้วมันดี ถ้าใจมันไม่ดีแล้ว มันก็โตไปไม่ได้ถ้าร่างกายโตมันดี มันก็ดีกว่าหมูเท่านั้นแหละ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่าคนเยาว์ เยาวชน...คนยังเยาว์ ท่านพูดถึงเรื่อง "จิตใจ"ทำไมมันจึงเยาว์ เพราะมันชอบทะเลาะกันอยู่ เช่น บางโรงเรียนเอานักเรียนมาอบรม ว่านักเรียนมันสอนยาก มันชอบทะเลาะกันแล้วก็ถามเรื่อยๆไปว่า มีครูกี่คน มีครูสัก ๔๐ คน เคยสามัคคีกันไหม? เคยขัดแย้งกันไหม? ไม่พูด อาตมาก็เลยว่า "เด็กนักเรียนมันสอนยาก มันทะเลาะกัน ก็ควรให้อภัยมัน เพราะมันเป็นเด็กนักเรียน แต่ครูทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน ไม่ควรให้อภัยเพราะเป็นครูแล้วนี่"
ฉะนั้น เราจึงควรสอนเรื่อยไป จิตใจยังไม่ถึง "โสดาปัตติมรรค" เสียแล้วหรือเป็น "โสดาบันบุคคล" แล้วน่ะ มันยังตกนรกอยู่เรื่อย ชอบกระทำความผิดอยู่เรื่อยในใจนั่นน่ะ เห็นอยู่ว่ามันผิดก็อดไม่ได้ ไปทำจนได้ละ มันอยากทำอยู่นั่นแหละ มันไม่อยากหนี มีแต่อยากทำอยู่นั่นแหละ กลัวอย่างเดียว กลัวคนจะมาเห็น ถ้าจะทำอะไรก็มองหน้ามองหลัง กลัวคนจะเห็นเรา ถ้าคนไม่เห็นก็เลยทำ อันนี้ก็ดูถูกเจ้าของ คนที่ทำไม่ใช่คนหรือ? ไปดูแต่คนข้างนอกว่าเป็นคน ตัวที่เราทำผิดนี้ก็เป็นคนไม่รู้เรื่อง กลัวแต่คนจะเห็นเรา อันนี้ก็ดูถูกเรา เห็นเราไม่เป็นคน เลยทำความชั่วได้
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายก็ยังมีโอกาสที่จะฟังธรรมต่อไป มีโอกาสที่จะทำการปฏิบัติให้ดีขึ้นไป มองดูทุกคนที่มาที่นี่นะ คงรู้จักในใจเรามันมีอยู่ บางทีก็ทำอยู่แต่ไม่พูดเท่านั้นแหละ ให้รู้เอาเองนะ ถ้าบอกตามเป็นจริงแล้วมันครึ่งต่อครึ่ง แล้วที่มานั่งอยู่นี่หรือจะมากกว่านั้น มันถึงเป็นอย่างนี้ ถึงเนื้อแท้จริงๆมันนะ พระพุทธเจ้าท่านว่าคนน้อย มนุษย์มันน้อยที่ใจสูงๆ...มันน้อย มันยังมีอยู่เป็นธรรมดา ฉะนั้นเราจะบอกอะไรหรืออบรม...ความอบรมนั้นมันดี...เราได้ฟัง
พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญว่า ร่างกายนี้ตัวมันใหญ่ท่านสรรเสริญที่ "ใจมันสูงขึ้น" ใจมันมีคุณธรรมสูงขึ้น ใจมีความละอายยิ่งขึ้น มีความกลัวยิ่งขึ้น มีความเห็นว่ามันผิดยิ่งขึ้น ให้เห็นชัดเจนท่านจึงเรียกว่าเป็นคนโต...คนใหญ่...คนสูง
พูดถึงพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องเป็นโสดาบันบุคคล โสดาบันบุคคลแล้วอยู่ในบ้านก็ได้ ความคิดมันแตกต่างจากคนแล้ว คนนั้นไม่ต้องแนะนำ คือมันมีอะไรจะแนะนำตนเองอยู่เสมอแล้ว รู้จักผิด รู้จักถูก รู้จักการละการวาง อันนั้นไม่ต้องสอน ค่อยๆไป เรายังเห็นผิดมากหลาย ความเห็นถูกมันยังน้อย ฉะนั้นการมาอบรมหลายวันรำคาญใจ อยากจะกลับบ้าน การอบรมมันมีตั้งแต่ไหนแต่ไรมาหรอก คือทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันเปลี่ยน...สถานการณ์มันเปลี่ยนไป
การปฏิบัติที่กระทัดรัด
เทวทูตส่งข่าวทุกอิริยาบถ การยืน การเดิน การนั่ง การนอนทุกอย่าง ท่านคอยตักเตือนเราอยู่เสมอๆเลยทีเดียว วันหนึ่งจะเจ็บหัว ปวดท้อง ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เกิดทุกวัน แก่ทุกวัน เจ็บทุกวัน ตายทุกวัน แต่ก็ยังไม่เห็นกัน คือมันมืด เป็น"ปุถุชน" คนมืด มืดเพราะ "อวิชชา" "ตัณหา" "อุปาทาน" ปิดบังไว้ฉะนั้น พระบรมศาสดาท่านจึงสอนให้รู้จักความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้รู้จัก "เทวทูต" ไม่ใช่มารู้จักเหตุมัน แล้วผลมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างพระบรมศาสดาท่านสอนไว้ตามหลักธรรมะ ท่านว่า"เยธัมมา เหตุปัปพวา...ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด" เมื่อเหตุมันดับ ผลมันก็ดับไป เมื่อเหตุมันเกิดขึ้น ผลมันก็เกิดขึ้นมา ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเรามาพิจารณาสกลร่างกายเรานี้ เราจะเห็นเทวทูตผู้ส่งข่าวเราอยู่ทุกๆวัน การเคลื่อนไหวไปมา เช่นว่าวันนี้มันก็ผ่านมาถึงกลางคืน พรุ่งนี้มันก็เข้าไปถึง มันผ่านไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นลักษณะของเทวทูต เปลี่ยนแปลงไม่คงเส้นคงวา อายุสังขารของเราเปลี่ยนไปๆ
อันนี้ก็เป็นเทวทูต แต่เราไม่ค่อยจะเห็นกัน ปฏิบัติให้มันเร็วเข้า ให้มันตรงๆเข้าไป ให้มันเห็นง่ายๆ ไม่ให้มันยาก ไม่ให้มันยืดยาวอย่างนี้ ปรากฏว่าคณะทูตเมื่อวันแรกอยากจะรู้ธรรมะ ปฏิบัติให้เร็วเข้า ไม่อยากให้เนิ่นช้า อันนี้หลักที่ปฏิบัติธรรมะนี้เป็นของไม่ยืดยาว เป็นของสั้นอยู่แล้ว เป็นของกระทัดรัดและตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ที่เราทั้งหลายปฏิบัติกันให้มันยืดยาวไปนั้น ก็เพราะเรื่องของเราจับไม่ถูกนั่น...จับไม่ถูก ไปอ่านตำราบ้าง ไปดูตำราบ้าง ไปสนใจในอะไรต่างๆบ้าง เรื่องตำรานั้นมันเป็นเรื่องปราชญ์อาจารย์เขียนขึ้นมา แล้วก็เขียนตามความเข้าใจของบุคคลเมื่อเราไปอ่านแล้ว ผู้เขียนหนังสือนั้นบางคนก็เขียนอย่างหนึ่ง บางท่านก็เขียนไปอีกอย่างหนึ่ง คนละแบบ คนละแนว ถึงแม้การปฏิบัติธรรมะเป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นแต่ละลัทธิ...หลายลัทธิ หลายศาสนา ความเป็นจริงนั้น...ความจริงสัจจธรรมนั้นไม่มากอย่าง "สัจจธรรม" นั้นคือความจริงอันเดียวเท่านั้น แต่ว่ามีหลายลัทธิ มีหลายวิธี การมีหลายลัทธินั่นน่ะ มีหลายวิธีนั้น เพราะคนรุ่นหลังปรับปรุงขึ้นเสียโดยมาก ส่วนแท้จริงนั้นปรับปรุงหลายๆอย่าง ก็เพื่อให้มันง่ายขึ้น กระทัดรัดขึ้น แต่ก็ยิ่งขยายกว้างออกไป จนพวกเราทั้งหลายจับไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูก เมื่อไปวัดหนึ่งก็ทำอย่างหนึ่ง เมื่อไปหาอาจารย์หนึ่งก็เทศน์ไปอย่างหนึ่งเลยเกิดความวุ่นวายกันตลอดเวลา
พวกชาวพุทธทั้งหลายก็เลยสงสัย สงสัยใจการประพฤติ ในการปฏิบัตินี้ มันก็เลยเป็นของยืดเยื้อยืดยาวไป ความเป็นจริงนั้นหลักปฏิบัตินั้นมันอยู่ที่ตัวของเราแล้วทุกคน ทุกๆภาษา ทุกๆชาติ ทุกๆคน เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ไทยแลนด์ ทุกๆชาตินั่นแหละ มันก็ต้องมีกายกับใจสองอย่างเท่านี้
สติ สมาธิ ปัญญา
แม้ว่าจะขมก็ขมอร่อยนะโยมผู้หญิง ขมผักสะเดาอย่างนั้นแหละ ขมมะเขือพวง...ขมไปอย่างนั้นแหละ มันก็ขมอยู่แต่ว่ามันอร่อย ถ้าเปรี้ยวก็เปรี้ยวอยู่ แต่เปรี้ยวอร่อย มันไม่ทิ้งกันหรอกความอร่อยนี้แหละมันเข้าเป็นอันเดียวกัน มันเป็นเหตุให้คนได้กินได้ดื่ม มันจะเป็นคนละรสก็ช่างมัน รสขมก็ช่างมัน รสเปรี้ยวก็ช่างมัน รสหวานก็ช่างมัน แต่ว่าความอร่อยนั้นมันอยู่กับทุกรส ขมก็อร่อย อร่อยไปคนละอย่าง แต่มันก็มารวมอร่อยอย่างเดียวนี่ข้อปฏิบัติเป็นอย่างนั้น ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี นี่ท่านตัดทางให้เป็นแก่นของศาสนาของเรา เป็นแก่นของศาสนาของเรา เมื่อศีลหนึ่ง สมาธิหนึ่ง ปัญญาหนึ่ง ขยายออกไป ก็เหมือนกับสิ่งที่มันเปรี้ยว สิ่งที่มันหวาน สิ่งที่มันขม แต่เมื่อความเอร็ดอร่อยเหมือนกัน ขมก็ดี...มันอร่อยอย่างขม มันดีอย่างขม เปรี้ยวมันก็เปรี้ยวอยู่ แต่มันดีอย่างเปรี้ยว หวานมันก็หวาน แต่มันก็ดีอย่างหวาน ศีลก็ช่าง สมาธิก็ช่าง ปัญญาก็ช่าง
"ศีล" ก็คือความรักษากายวาจา "สมาธิ" ความตั้งใจมั่น"ปัญญา" ความรอบรู้ เป็นคนละอย่าง ชื่อมันศีล สมาธิ ปัญญาแต่ว่าสิ่งทั้ง ๓ นี้ ไม่เคยทิ้งกันสักครั้ง มันเกาะเกี่ยวกันอยู่เสมอเหมือนกับรสมันเฝื่อน มันขมมันขื่นนั่นแหละ แต่ว่าความเอร็ดอร่อยมันกลมเกลียวกันอยู่ มันไม่ได้ไปไหน ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี "ศีล" มันก็เรื่องกายกับวาจา "สมาธิ" กับ "ปัญญา" มันก็เรื่องจิต มันก็มี "กาย" กับ "จิต" นั่นแหละคนเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่าไปเฉยๆหรอก สิ่งเหล่านี้มันก็ออกมาจากกายกับจิตเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อรวมแล้ว คนเรานั้นก็มีกายกับจิตอย่าไปคิดอะไรให้มันมากมายเกินไปกว่านี้
กายมันก็เรื่องกายกับวาจา...มันเรื่องศีลนี่ เรื่องจิตมันก็เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา มีสองอย่างเท่านี้ นั่งอยู่ที่นี่ก็มีเท่านี้ มันจะฉลาดหรือโง่ก็มีเท่านี้ แล้วเราก็มาดูเรื่องกายกับจิตนี้ เรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี...ก็เหมือนกัน เรามีปัญญาก็รู้จักรักษาศีล คือกาย วาจา กายวาจาเรียบร้อย ไม่มีโทษ ใจมันก็มั่นเข้า สงบเข้านี่มันก็เป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบแล้วปัญญามันก็เกิด มันก็คล่องแคล่ว ในความสงบนั้น มันก็เกิดเป็นตัวปัญญา เมื่อเพิ่มปัญญาสักนิดหนึ่ง ปัญญาจะแบ่งมาหาศีลนิดหนึ่ง เมื่อแบ่งมาหาศีลนิดหนึ่ง ศีลมันก็แบ่งไปหาสมาธิสักนิดหนึ่ง เหมือนกันกับมะม่วง ถ้ามันเป็นดอกมันก็มาเพิ่มเป็นลูกอ่อนสักนิดหนึ่ง พอลูกอ่อนเกิดขึ้นมันก็เพิ่มเป็นลูกแก่ขึ้นมาอีกสักนิดหนึ่ง ลูกมันแก่สักนิดหนึ่งมันก็จะเพิ่มความห่ามของมัน มันก็จะเพิ่มกันไปจนกว่ามะม่วงใบนั้นมันจะสุก ทำไมมันถึงสุก เพราะมันเพิ่มมาตั้งแต่ดอกมันโน้น ตั้งแต่เป็นลูกเล็กๆโน้น จนถึงมันห่าม จนถึงมันสุก มันจะไม่ทิ้งกันแม้แต่ครั้งเดียว มันจะไม่ทิ้งกันสักครั้งเดียว สภาวะทั้งหลายเหล่านี้มันจะทำให้มะม่วงใบนั้นใหญ่ แต่มันจะใหญ่วันเดียวไม่ได้ มันจึงเป็นดอก เป็นลูกเล็กๆจนเป็นผลใหญ่ แก่มาก็สุก จนถึงว่ามันสุก มันก็มะม่วงใบเดียวนั่นแหละ ไม่ใช่ว่ามะม่วงเกิดมาแล้วมันจะสุกทันที มันเป็นดอกแล้วก็เป็นผลเล็กๆก่อน ต่อมาก็ห่าม มันแบ่งทีละน้อยๆไป จนกว่ามะม่วงมันสุก มีทั้งดอกมะม่วง มีทั้งรสมะม่วง สารพัดอย่าง...มันเปลี่ยน ถ้าอ่อนมันก็ฝาด นั่นรสของมัน แก่ขึ้นมาสักหน่อยหนึ่งมันก็เปรี้ยว แก่ขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง มันก็มีรสหวานมาแทรก แต่จนถึงที่สุกมันก็หวาน
ความเปรี้ยวก็ดี ความฝาดก็ดี ความหวานก็ดี คือมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้เป็นหลายอย่าง แต่ว่ามันเปลี่ยนลักษณะมันนั้นมันเป็นลักษณะเฉยๆ มันอยู่ที่มะม่วงใบเดียวกัน แม้ตลอดสีมะม่วงมันก็เปลี่ยน ครั้งแรกมันก็เขียวแล้วมันก็เปลี่ยนเป็นเหลืองรสมันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนตามมะม่วงใบเดียว ไม่ใช่หลายใบ แม้จะเป็นลูกเล็กๆก็ช่าง มันก็มะม่วงลูกนั้น แม้จะลูกใหญ่มันก็คือมะม่วงลูกนั้น แม้มันจะแก่ก็มะม่วงลูกนั้น แม้ว่ามันจะสุกมันก็มะม่วงลูกนั้น ไม่มีมะม่วงลูกอื่นจะมาให้ผลในมะม่วงลูกนั้น เป็นลูกเดียว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี นั้นชื่อมันต่างกันเหมือนกับมะม่วง ถ้ามันแก่...มันรวมเข้ามาแล้ว จะเกิดเป็นปัญญาก้อนเดียว มีอันเดียว เอโกธัมโม ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เอโกธัมโม...ธรรมมีอันเดียวเท่านั้น ไม่มีหลายอัน
เรื่องศีลมันแก่ขึ้นมันก็ไปอบรมสมาธิ สมาธิแก่ขึ้นไปก็อบรมปัญญา ก็เหมือนกับดอกมะม่วง รสมะม่วง สีมะม่วง มันก็มาลงมะม่วงลูกเดียวทำให้มันหวานเท่านั้น มันเปลี่ยนไปก็มะม่วงลูกเดียวกันนั่นแหละ ไม่ใช่อื่นไกล ครูบาอาจารย์บอกว่า ...เอโกธัมโม...ธรรมอันเดียว ไม่มีหลายอัน ที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน การทำสมาธิ การปฏิบัตินี่ มาอบรมให้กาย วาจาเรานี้บริสุทธิ์ แล้วจิตมันก็สงบ เมื่อจิตสงบแล้วความคิดอ่านมันเกิดขึ้นมาจากความสงบนั้นมันจะละเอียดมาก...มันเป็นปัญญา เมื่อปัญญาเกิดจะอบรมศีล เมื่อศีลเกิดจะอบรมสมาธิ สมาธิก็อบรมปัญญา เวียนไปจนกว่ามะม่วงลูกนั้นมันจะสุก เมื่อมันสุกแล้วมันก็ทิ้งรสฝาดของมัน ทิ้งสีเขียวของมัน ทิ้งอาการของมันคือลูกมันเล็ก ทิ้งมาจนเป็นลูกโต ทั้งรสฝาดก็ดี รสเปรี้ยวก็ดี เมื่อมาถึงมันสุกแล้วมันจะหวานเหมือนกันหมด มันจัดยังไม่เข้าล็อคกัน มันจึงไม่หวาน
อันนี้ก็เหมือนกัน ยังไม่เข้าล็อคกันก็เป็นศีล แล้วก็เป็นสมาธิ ผลที่สุดถ้าหากว่ามันเข้าล็อคกันจริงๆก็เหมือนมะม่วงลูกนั้น ลูกเล็กๆ แล้วก็โตจนสุก มันก็เข้าล็อคเดียวกันเป็นมะม่วงสุก ไม่ใช่มะม่วงลูกอื่นจะมาเพิ่มเติม มะม่วงลูกนั้นแหละที่มันลูกเล็กๆนั่นแหละ มันอ่อนนั่นแหละ มันแก่ก็มะม่วงลูกนั้นแหละ มันสุกก็มะม่วงลูกนั้นแหละ นี่ให้เรียนอย่างนี้ ทีนี้เรื่องการอบรม มันเกี่ยวแก่กายกับใจ เอา "กาย" ก้อนนี้แหละมาดู เอา "จิต" อันนี้แหละมาอบรม ไม่ได้คว้าเอาที่ไหน เรื่องสมาธิของเรานั้นมันจะมีทางสงสัยมาก เรื่องทำสมาธินี้ยาก...ยากเพราะมันสงสัยมาก พอไปนั่งดูก็ไม่สงบง่าย อันนี้เราก็ไม่สบายใจ มันวุ่นๆวายๆมันนึกคิดต่างๆนานาอย่างนี้ เราก็อยากเร่งให้มันสงบ ทำไมมันถึงไม่สงบ มันวุ่นวาย บางทีก็เลยหยุดทำ
ดังนั้น จึงให้เข้าใจว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของมัน คิดดูจิตใจของเราตั้งแต่เราออกจากท้องแม่ของเรามาโน่น อยากได้อะไรก็ร้องไห้เอา อาการอันนี้เราเคยได้รักษามันไหม ทีนี้เรามารักษาตอนแก่สักปีสองปีนี้ มันไม่ได้เสี้ยวของมันหรอก ถ้านับเวลาเทียบกันดูแล้ว ทำไมจะให้มันสงบเร็วนักละ อาตมาคิดว่า ๘ พรรษา ที่อาตมาออกไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วคิดว่า เออ!...เราบวช ๘ พรรษานี้ก็เหมือนได้พรรษาเดียว เราจะทำจิตใจให้มันสงบอีก ๒๐ พรรษา อาตมาก็พอใจแล้ว ตั้งแต่ยังเล็กอยู่ ไม่เคยคิดมากขนาดนั้น ทำไปๆ เรื่องทำไม่หยุดนั้นแหละ อันนั้นแหละมันจะให้ความรู้เรา แก้การสงสัยบางสิ่งบางอย่างได้ ก็เพราะการกระทำไม่ได้หยุด
ทำไปเรื่อยๆ มันสงบก็ทำ ไม่สงบก็ทำมันไป ขี้เกียจก็ทำขยันก็ทำ คนเราขี้เกียจไม่ทำ พอขยันมันจึงทำ มันจะเข้าข้างตัวเอง ต้องพยายามทำ การกระทำนั้นไม่ใช่นั่งสมาธิเท่านั้น เป็นเรื่องของการกระทำ เมื่อหากว่าเราไม่ตาย เราไม่หลับเสียแล้วนะให้มีความรู้สึกอยู่เสมอ ในเวลานั้น ส่วนนั้น เป็นส่วนที่เราจะปฏิบัติไปหมด ทั้งการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ๔ อิริยาบถนี่ เราจะตรัสรู้ธรรมได้ทั้งหมด ฉะนั้นอิริยาบถทั้งสี่นี้ท่านจึงไม่ให้ประมาท...พระพุทธเจ้าของเรา เห็นไหมพระอานนท์สอนพระอานนท์นอน ทำความเพียรมากจนลืมจำวัดเท่านั้นแหละถ้าวางจิตปั๊บ จิตรวมตรงนั้น ก็เลยเป็นพระอรหันต์ จะประมาทได้หรือ การนั่งอย่างนี้ถ้ากำหนดมัน นั่งก็ตรัสรู้ได้ การเกิดก็ตรัสรู้ได้ การนอนก็ตรัสรู้ได้ การไปที่ไหนก็ตรัสรู้ได้ทั้งนั้น ท่านจึงว่าอย่าประมาท คนที่ไม่ประมาทนั้นคือคนมีสติอยู่
"สติ" คือความระลึกได้อยู่เสมอ "สัมปชัญญะ" คือความรู้ตัว เราระลึกได้ว่าเราทำอะไร เรารู้อะไร เรารู้ตัวไหม เมื่อเราอยู่อย่างนี้ เมื่อเราพูดอย่างนี้ เมื่อเราเป็นอยู่อย่างนี้ เรารู้ตัวไหม เราอยู่ในสภาพอย่างไรก็ให้มันรู้จักตลอดเวลา อันนั้นแหละมันจะพาให้เกิดความรู้ความเห็น...ถ้ามันถูกอารมณ์มา ถ้าเปรียบกับคนสองคนหามท่อนไม้มาคนละข้าง...มันหนักมาก เราเป็นผู้ใหญ่นั่งดูอยู่ โอ้ย!...ท่อนไม้นั่นมันจะทับกันตายนะนั่น เราก็จะเข้าไปช่วย ผู้ที่จะเข้าไปช่วยคือ "ปัญญา" "สติ" ระลึกได้อยู่ "สัมปชัญญะ" รู้ตัวอยู่ หากมันไปไม่ไหว ผู้มีปัญญาต้องเข้าไปช่วย มีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา ทั้ง ๓ อย่าง ช่วยกันยกขึ้นมันก็เบา
อันนี้เปรียบให้ฟังเฉยๆ นี่เปรียบเป็นบุคลาธิษฐานให้ฟัง มันจะเป็นอย่างนั้น แล้วเราทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเรานั่งสมาธิเราจึงตั้งใจ จะยืน จะเดิน จะไปจะมา ก็ให้มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ถ้าเราพูดอะไรก็คงจะรู้จัก แม้ตลอดจิตเราคิดดีก็รู้จัก คิดชั่วก็รู้จัก คิดไปที่ไหนรู้หมดทั้งนั้น นี่เรื่องกาย วาจา ใจ ของเรานี่รู้จักอยู่เสมอ แต่ว่าจะละมันได้หรือไม่ได้ เราก็รู้จัก อันนี้ละได้อันนี้ละไม่ได้ก็รู้จัก ว่ามันผิดคิดอย่างนี้ มันผิดทำอย่างนี้มันผิด บางทีมันผิดก็ดื้อคิดอยู่ ดื้อทำอยู่ก็มี ในบางครั้งก็รู้จักว่าเจ้าของดื้ออยู่ ต้องพยายามแก้อยู่เสมอ การยืนหนึ่ง การนั่งหนึ่ง การนอนหนึ่ง ให้เราภาวนาอยู่หมดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าจะออกจากสมาธิแล้วฉันจะหยุดทำความเพียรแล้ว นั้นมันไม่ถูกต้องจะยังอยู่ไกลมากทีเดียว
ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา อยู่เสมอนั้น เมื่อเราออกจากสมาธิ...การนั่งนะ มันจะรู้ตัวตลอดเวลา อารมณ์ดีชั่วมามันจะรู้จัก รู้จักไปหมดทุกอย่าง รับได้หมด สำรวม อาการสำรวมอารมณ์ทั้งหลายรู้จักอยู่เสมอ อันนี้เป็นศีล มันเป็นศีลอย่างนี้ เมื่อศีลมันสังวรสำรวมอยู่อย่างนี้ก็เป็น "ศีล" แล้ว ถ้ามันสำรวมสังวรอยู่ สิ่งทั้งหลายรู้เท่ามัน รู้เรื่องเหตุผลของมันแล้ว มันก็เกิดความสงบ ก็เป็น "สมาธิ" ตรงนั้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นมามันก็วิจัยไปอีก ความรู้เกิดในคนมันเป็น "ปัญญา" รวมการเดิน การยืน การนั่ง การนอนนั่นแหละ ได้ภาวนาอยู่ทุกอิริยาบถอันนี้ไปง่าย ได้ภาวนาเต็มที่ ถ้าหากการนั่งสมาธิอย่างเดียวนั้นว่าเราได้ภาวนา เข้าสมาธิอย่างนั้น ต่อจากนั้นไปจะได้เคลื่อนภาวนาอย่างนี้ไม่ถูกต้อง
เรื่องการปฏิบัติของพระนั้น ท่านว่าวันหนึ่งกับคืนหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ท่านให้เข้านอน ๔ ชั่วโมงเป็นการพักผ่อนของเรา อีก ๒๐ ชั่วโมงนั้น ให้เรามีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาอยู่เสมอ ยืนเดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดก็ตามเป็นผู้ที่ไม่ประมาทอยู่แล้ว ถ้าเรามีทั้งกลางวันทั้งกลางคืนมันก็สว่าง หรือก่อนที่เราจะจำวัดกำหนดลมหายใจเข้าออก "พุทโธๆ" มีสติ นึกว่าเราจะหลับไปสัก ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เราจะตัดสินว่าตอนต้นกับตอนปลายนั้นมันเหมือนกัน เหมือนกับมันไม่หลับ เพราะว่าจิตมันตื่นอยู่แล้ว ในเวลาต่อไปนี้ฝันมันก็จะไม่ฝันนะ คนฝันมันตื่นมันจะฝันเป็นหรือ นี่เราเคยนอนละเมอ นอนกัดฟัน นอนกรน....อย่างนี้มันจะกรนไม่ได้หรอก พอจะกรนมันก็ตื่นแล้ว เพราะมันตื่นอยู่แล้ว
เมื่อเราตื่นขึ้นมาจริงๆ ทีนี้รู้เสมอว่าจิตของเรานั้นเหมือนไม่ได้นอน คือมันรู้ตามลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอ จับลมนั้นเป็นอาจินต์ต่อไป ก็จะรู้สึกแปลกตัวเอง นอนเหมือนไม่ได้นอน ไม่มีการหิว ไม่มีการง่วง รู้ได้หมดทุกอย่าง และไม่มีการฝัน ถ้าหากว่ามันจะฝันมันจะเป็น "สุบิน" แจ้งข่าวยิ่งกว่าฝันเข้าไปอีก มันใกล้เข้าไป มันจะเริ่มใกล้เข้าไปๆ ทุกทีๆ เราจะทำอยู่จนกว่ามันไม่ได้นอน มันก็ไม่ง่วง เมื่อเราอยากทำสมาธิพอสมควรแล้ว เมื่อมันง่วงนอนมาปั๊บ กำหนดเข้าปุ๊บ ความง่วงนอนหายเลย ไม่มีใช้ได้อย่างนั้น ความสงบของเรา ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เป็นอะไรมีสติเต็มเปี่ยม เมื่อนั่งสมาธิที่เรียกว่าอุปจารสมาธิหนึ่ง ขณิกสมาธิหนึ่ง อัปปนาสมาธิหนึ่ง มันมีอยู่ ๓ อย่าง
"อุปจารสมาธิ" นี่อย่างน้อย คือเรานั่งแล้วจะมีความปรุงแต่งอุปจาร แปลว่า ความเที่ยวไปของจิต มันไปอยู่ตรงนั้น มันไปคิดถึงอันนั้น แต่อยู่ในความสงบ มันคิดอยู่ในความสงบ มันคิดอยู่ในบ้านมัน ถ้าเป็นไก่มันก็จะเดินอยู่ในกรงไก่ ไม่ได้เดินออกจากกรงไป เป็นอุปจารสงบอยู่ ถ้าสงบไปมีความสงบยิ่งขึ้นกว่านั้นอีก ถ้าสงบจริงๆนี่ ชั่วขณะหนึ่งเป็น "ขณิกสมาธิ" อันนั้นเรียกว่าขณิกสมาธิ มันสงบจริงๆชั่วขณะหนึ่ง ไม่นาน ออกจากนั่นก็ถอนออกมาอีก มันก็เที่ยวอุปจาร มีขณิกอุปจารสมาธิมันสลับกันอยู่เรื่อยอย่างนี้แหละ เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วไม่รำคาญ มันสงบอยู่ ไม่รำคาญ ไม่วุ่นวาย เดินไปก็เดินอยู่ในวงรอบ อยู่ในกรงของมัน ไม่ได้เดินออกนอกกรงไป นี่คืออุปจารมันเที่ยวอยู่ ถึงเวลาปุ๊บก็เข้าไปอีก เงียบ สงบ สงบจริงๆ แต่นิดเดียว เรียกว่าขณิกสมาธิ สองอย่างนี้มันจะสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ก็ช่างมัน เป็นอะไรก็ช่างมัน ดูมันอยู่นั่น ทีนี้มันเที่ยวไป ทีนี้มันสงบก็ดูมันอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะรู้จะเห็นขึ้นมาแล้ว มันก็จะวิพากษ์วิจารณ์ของมันในตัว
เมื่อถูกธรรมะถูกจริตมันเข้าเวลาใดเวลาหนึ่งที่ความสงบ ความสงบเข้าไปในนั้น มันจะต่างจากอุปจารสมาธิ มันจะต่างจากขณิกสมาธิต่างจากอุปจารสมาธิ คือมันจะไม่เดินไปเที่ยว ต่างจากขณิกสมาธิอย่างไร คือมันเข้าไปอยู่นาน ถ้ามันเข้าไปอยู่ที่นั่น ทีนี้จิตมันเข้าไป อันตามที่ว่าจิตเข้าไปนี้ก็สมมุติว่าให้มันเปลี่ยนเสีย เปลี่ยนจากอุปจารเสีย เปลี่ยนเป็นขณิกสมาธิเสีย เปลี่ยนจากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิเสีย คือมันเข้าไปนาน เข้าไปอยู่นาน สงบ เมื่อเรามีความสงบอยู่ในที่นั่น ไม่มีเจ็บ ไม่มีปวด ไม่มีง่วงเหงาหาวนอน อารมณ์ทางนอกจะส่งเข้าไปไม่ถึง ถ้าเป็นแสงเทียนเรา แสงตะเกียงเรา ก็เป็นการจุดแล้วเอาโป๊ะครอบ ตัวไฟที่อยู่ข้างในจะไม่พัดไปพัดมา ไม่แกว่งไปแกว่งมาจะรุ่งโรจน์โชติการอยู่
ในเวลานั้นทำอย่างไร ในเวลานั้นเตรียมสติไว้ เตรียมสัมปชัญญะไว้ให้ดี แต่มันก็เตรียมของมันเต็มที่ละ จึงเกิดเป็นเช่นนั้นได้ ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เตรียมตัวมันหรอก อยู่นานไปถึงเวลามันก็จะเปลี่ยนสภาพออกมา เมื่อมันเปลี่ยนสภาพมันจะเกิดรู้เรื่องขึ้นมา เรื่องราวต่างๆรู้จักเรื่องของมัน คืออย่างเราไปอยู่ในตู้ ลมก็ไม่พัดไม่โบกเรา มันเป็นสภาพหนึ่ง ทีนี้เราเปิดตู้ออกมาจะถูกแดดถูกลม อาการมันต่างกันเช่นนี้ อันนี้เรียกว่าอุปจาร ปัญญามันจะเกิดที่นี่ เกิดเพราะรู้จักเรื่องราวมากระทบ มันจะได้วิพากษ์วิจารณ์อยู่นี่ วิพากษ์วิจารณ์พอสมควรแล้วมันก็สงบเข้าไปอีก เย็นสบาย อันนี้ลืมรุ่งลืมสว่างสงบไป อันนี้ไม่ต้องสงสัย อย่าลืม แต่ว่าผู้ทำสมาธินั้น ความเป็นจริงให้มันถึงขั้นนี้เสียก่อนอย่างน้อย อัปปนาสมาธิมันสงบนี่ แปลก...หากไปถึงอัปปนาสมาธินั้น เราจะลืมไม่เป็น เพราะมันเกิดด้วยสันดานเจ้าของแล้ว...ลืมไม่ได้ แม้จะตายมันก็ไม่ลืม เรื่องมันเข้ามานี่ มันไม่ลืมสักที ไปที่ไหนก็ตามไม่ลืม อันนี้เป็นของตายตัวมันอยู่แล้วต่อจากนั้นไปมีแต่เรื่องของปัญญามันจะเกิด เรื่องธรรมะ เรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา เราเห็นตามธรรมชาติความเป็นจริงของมันเสมอ
ทีนี้ต่อไปนี้ มันจะเอาอารมณ์เป็นวิปัสสนา อารมณ์ของวิปัสสนาคืออะไร? คือเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้มันจะเกิดอยู่กับจิตของเรา เช่นว่าวันนี้มันได้ความสุขมาก ก็พูดว่า "เออ!...อันนี้มันก็ไม่เที่ยงหรอก ไม่แน่นอนเลย" แน่ะ...วันนี้มันวุ่นวายเหลือเกิน เรื่องวุ่นวายนี้ก็ไม่แน่นอน วันนี้มันสงบเหลือเกินเรื่องสงบนี้ก็ไม่แน่นอน อย่าไปเข้าข้างมันสักอย่างหนึ่ง มันจะเอาความสุขมาให้เราก็ดู เอาความทุกข์มาให้ก็ดู เอาความสงบมาให้ก็ดู เราดูแล้วก็รู้ รู้ให้เหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นปุ๊บ...จะชอบใจก็ช่าง ก็ให้พูดว่า "อันนี้ไม่แน่" อันนี้เป็นของไม่แน่นอน อย่างนี้มันจะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาตลอดเวลา ทั้งที่ไม่แน่นอนนี้นะมันจะเป็นเหตุว่าให้เราไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นด้วยความรู้เท่า มันเป็นอย่างนั้น ว่าสุขมันก็แค่นั้น ทุกข์มันก็แค่นั้น
"มันเป็นสักแต่ว่า"ไม่แน่นอนสักอย่างหนึ่งเลย จิตใจของเราในเวลานั้นมันจะมีอารมณ์อยู่ก็เพราะว่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันเป็นเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อมีเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เต็มพื้นจิตของเราแล้ว มันก็ไม่เข้าไปยืดมั่นถือมั่น ก็เพราะว่าอันนั้นมันไม่แน่จะไปยึดมันทำไม อันนั้นมันไม่เที่ยงจะยึดมันทำไม ความสุขเกิดขึ้นมาก็วาง รู้ว่ามันไม่เที่ยงก็ต้องวาง ทุกข์เกิดขึ้นมารู้แล้วก็ต้องวางมัน สงบเกิดขึ้นมารู้แล้วก็ต้องวางมัน ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่งเลย นี่ปัญญามันเกิดเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่เอาที่อื่นหรอก มันเริ่มมาจากนั้นแหละ เหมือนกันกับมะม่วงที่อาตมาเล่าให้ฟัง มันเริ่มมาจากนั่นแหละ มันสุกมันก็เริ่มมาจากผลเล็กๆน่ะแหละ อย่าไปคว้าอย่างอื่นเลย อันนี้ให้หาอยู่ตรงนี้
ทีนี้เมื่อวิปัสสนามันเกิดขึ้น ความรู้ตามความเป็นจริงมันเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ความสงสัยนั้นมันก็เริ่มหายไป เริ่มหายไป ผลที่สุดความสงสัยนั้นมันก็ไม่มี จะเกิดสุข จะเกิดทุกข์ จะเกิดอะไรต่างๆก็ช่างมันเถอะ มันมีหลักฐานอยู่แล้ว มันมีปัญญาแล้วนั่นนะ ไม่สงสัยแล้ว จะอยู่ไปกี่วันมันก็ไม่สงสัยแล้ว ดูธรรมะในปัจจุบันที่มันเกิดมันดับเท่านั้นแหละ อันนี้มันก็อยู่ด้วยความสงบเรียกว่า "วิปัสสนา" ไม่ใช่ว่าวิปัสสนา...อย่าไปถือว่าบัดนี้เราเป็นโสดาบันแล้วหรือยัง เราเป็นอนาคามีแล้วหรือยัง เราเป็นอรหันต์อย่าไปว่ามัน บัดนี้เราได้ญาณอะไร อย่าไปว่ามันเลย ญาณมันไม่มีกำหนดขอบเขตมันหรอก
ถ้าหากว่าเราหมดความสงสัย อยู่ด้วยความวางแล้ว มีความสุขมา ทุกข์มา ดีมา ชั่วมา เราก็วาง อาการวางนี้มันจะเป็นญาณอะไรก็ช่างมันเถอะ มันสงบแล้ว มันพ้นจากความวุ่นวาย มันเป็นโลกุตรจิตแล้ว มันไม่พัวพันอยู่ในโลกแล้ว มันจะเป็นญาณอะไรหรือไม่ใช่ญาณอะไรก็ช่างมันเถอะ มันเป็นอยู่อย่างนั้นพอแล้วลักษณะมันพอ ไม่หวั่นไหวแล้ว อยู่ไปเพราะความรู้ อยู่ไปเพราะความรู้เท่าตามความเป็นจริง มีความรู้ไม่ยึดความรู้นั่นอีก ไม่ยึดอะไรทั้งหลายทั้งปวง ความรู้ก็ไม่ยึด ว่าไม่รู้ก็ไม่ยึด ชั่วก็ไม่ยึดดีก็ไม่ยึด ทางพระท่านว่าครั้งแรกเราสร้างความดี ครั้งแรกเราสร้างความชั่ว ต่อมาเห็นความชั่วเป็นโทษก็เลิกมันเสีย แล้วมาสร้างความดี ขยันสร้างความดี ละความชั่ว แล้วเมื่อมันติดดีแล้วเมื่อไรแล้วชั่วมันก็ห่างไปๆ แล้วเราก็มาสร้างความดีอันนี้อีกให้รู้จักมัน ถ้าไม่รู้จักดีก็ชั่วอีก เรามาสร้างความรู้สึกอย่างนี้ให้มันเหนือ...เหนือดี เหนือชั่ว ไอ้ดีนั้นมันก็เป็นโรค ชั่วมันก็เป็นโรค ไอ้ไม่ดีไม่ชั่วนั้นสร้างให้มีขึ้นมา มันอยู่เหนือดีเหนือชั่ว อยู่ด้วยความรู้ แล้วเราก็ไม่ยึดมัน อันนี้ก็เรียกว่า "มันสงบ" อยู่ไปได้รับความรู้ ขนาดนั้นมันจะไม่สงสัยอะไรแล้ว ไม่ต้องสงสัย "อนิจจัง"เป็นสิ่งที่สำคัญมาก อนิจจังไม่มีตัวมีตน แต่มีตัวมีตนของเรานั้นมันมีอยู่ ร่างกายอนิจจังมันก็บอกอยู่แล้ว ตัว "รูปธรรม" มันบอกมันไม่แน่นอน "นามธรรม"ความรู้สึกมันก็ไม่แน่นอน อนิจจังเป็นทั้งรูปทั้งนามนั่นแหละ รู้อยู่ รู้อยู่อย่างนั้น เมื่อเราเห็นอันนี้เป็นอนิจจังในเวลานั้น เราก็เข้าใกล้ธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว เริ่มจะเกิดปัญญาแล้ว ถ้าใครสนใจเรื่องอนิจจัง
พิจารณาเรื่องอนิจจังมันไม่แน่นอน มันไม่เที่ยง ไม่แน่นอนเมื่อเราเห็นอนิจจังไม่แน่นอนจริงๆ คือว่ามันไม่เที่ยง มันจะกลับตระบัดไปอีกทีหนึ่ง ความแน่นอนก็อยู่ในอนิจจังนั่นเอง ความเที่ยงที่สุดมันก็อยู่ในอนิจจังนั่นเอง ฉะนั้นเรื่องอนิจจังนี้ จึงเป็นธรรมะอันหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดปัญญา ฉะนั้นจึงว่า ผู้ที่เห็นอนิจจังนี้จึงพบพระพุทธเจ้า หรือพูดง่ายๆก็คือว่า "ตัวอนิจจัง" นี้แหละเป็นตัวพระพุทธเจ้า เข้าไปถึงอนิจจังแล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อถึงการปล่อยวางแล้ว มันก็ถึงความสงบ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็กราบพระพุทธเจ้า เราก็ใกล้พระพุทธเจ้า
คือเราเข้าใกล้ธรรมะ ที่เรียกว่าอนิจจัง อนิจจังก็เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เหมือนอนิจจัง เห็นอนิจจังแล้วก็เห็นพระพุทธเจ้า ให้มันเป็นวงกลม อาตมาเข้าใจทันทีเลย วงกลมนั้นคือความรู้สึก ความรู้สึกมีอยู่นั่นก็คือความมี "สติ" สตินั้นเป็นวงกลมไม่ขาดสาย เมื่อมีสติอยู่ก็รู้จักทุกอย่าง อาการจิตของเราที่มันจะเกิดขึ้นมานั่น ที่สุดของมันมีเวลานะ ก็เราอยู่อาศัยวงกลมนั่นอยู่มีสติอยู่ มีสัมปชัญญะอยู่แล้ว มันก็รอบรู้อยู่แล้ว มันจะเป็นศีลเป็นสังวรสำรวมอยู่ในเวลานั้น...ถ้าเรามีสติอยู่ ถ้าเราไม่มีสติอยู่เราก็ไม่รู้จัก รู้มันรู้ข้างนอก ไม่รู้ในสติ มันรู้ไปอย่างอื่นซะ ถ้าอยู่ในวงกลมอันนี้มันรู้สติ สติรู้ขึ้นมา รู้ผิดรู้ถูก อะไรก็ตามถ้าเรารู้จักมันแล้วทำจนเป็นวงกลม อันนี้ความฉลาดมันจะเกิดขึ้นมา เพราะเราสังวรสำรวมอยู่อย่างนี้
เมื่อเราทำความเข้าใจว่า บัดนี้เราทำสมาธิ นั่งสมาธิ เมื่อไปถึงที่อื่นเราหลุดจากสมาธิ พูดง่ายๆ สมาธิมันจะเป็นสองอย่างนะโยมนะเรานั่งสมาธิคือความสงบนี่ มันจะเป็นสมาธิองค์ของฌาณเพราะมันนิ่ง อิริยาบถนี้มันละเอียด.
Source: http://www.ajahnchah.org
0 comments: