วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

คนเบากว่านุ่น

คนเบากว่านุ่น

ตุลํ  สลฺลหุกํ  โลเก,      ตโต  จปลชาติโก;
ตโต  วุฑฺฒานโนวาโท,    ยติธมฺเม  ปมาทโก.

ในโลก นุ่นเป็นวัสดุเบาที่สุด,  คนกลับกลอก จัดว่าเบากว่านุ่น  คนไม่เชื่อคำผู้เฒ่า จัดว่าเบากว่านั้น  คนประมาทในธรรมของพระภิกษุ เบากว่านั้นอีก.

(ธรรมนีติ อาจริยกถา ๑๓, โลกนีติ ๑๔๖, กวิทัปปณนีติ ๔๗, มหารหนีติ ๑๔)

ศัพท์น่ารู้ :

ตุล,  ตูลํ  (นุ่น, ฝ้าย, สำลี) นป. ตูล+สิ หลังศัพท์นปุงสกลิงค์ อการันต์ให้แปลง สิ เป็น อํ ได้แน่นอน ด้วยสูตรว่า สึ. (รู ๑๙๕), ตุลา อิต. แปลว่า ตาชั่ง, ส่วน ตูล นป. แปลว่า นุ่น, ฝ้าย, สำลี.

สลฺลหุกํ  (ที่เบาสุดๆ, เบาอย่างแท้จริง) สํ+ลหุก = สลฺลหุก+สิ

โลเก  (ในโลก) โลก+สฺมึ แปลง สฺมึ เป็น เอ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สฺมาสฺมีนํ วา. (รู ๙๐)

ตโต  (กว่านั้น) ต+โต ปัจจัย

จปลชาติโก  (ที่มีชาติรวนเร, -กลับกลอก, -กวัดแกร่ง, -หวั่นไหว, -คลอนแคลน) จปล-ชาติก > จปลชาติก+สิ

วุฑฺฒานโนวาโท  (คนไม่เชื่อฟังคำสอนของผู้เฒ่า) วุฑฺฒานํ+อโนวาโท ? คำนี้ยังสงสัยอยู่ ขอฝากให้ท่านผู้รู้ช่วยพิจารณา ขออนุโมนาล่วงหน้าครับ

ยติธมฺเม  (ในธรรมของผู้สำรวมอินทรีย์, -พระภิกษุ, นักพรต) ยติ+ธมฺม > ยติธมฺม+สฺมึ, วิ. ยตตีติ ยติ (ผู้สำรวมชื่อว่า ยติ) ยต+อิ ปัจจัย  มุนาทีหิ จิ. (รู ๖๗๙), ยติสฺส ธมฺโม ยติธมฺโม (ธรรมของภิกษุ ชื่อว่า ยติธัมมะ)ปมาทโก (ผู้ประประมาท) ปมาทก+สิ

บางคัมภีร์เป็น ยติธมฺมปมาทโก แปลเหมือนกัน แต่ถ้าเขียนแยกว่า ยติ ธมฺมปมาทโก หรือ ยติ ธมฺเม ปมาทโก ก็อาจแปลได้ว่า พระภิกษุผู้ประมาทในธรรม (ซึ่งผมเคยแปลไว้เมื่อครั้งแปลในครั้งแปลกวิทัปปณนีติ ถือว่า ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ที่ถูกแล้ว ยติธมฺเม ควรติดกัน หมายถึง ธรรมของพระภิกษุ หรือของนักบวช)

ในบาทสุดท้าย ในคัมภีร์โลกนีติ เป็น ปมตฺโต พุทฺธสาสเน. ส่วนคำภีร์อื่นก็ต่างกันเล็กน้อย.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ในโลก นุ่นเป็นของเบา แต่คนสัญชาติกลับกลอกเบากว่านั้น คนไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของผู้เฒ่าเบากว่านั้นคนเลินเล่อในธรรมของนักพรตยังเบากว่านั้นอีก.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ในโลก นุ่นก็ว่าเบาที่สุดแล้ว แต่คนสัญชาติกลักกลอกยังเบากว่านั้น  คนที่ไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของท่านผู้เฒ่า ยังเบาไปกว่านั้น แต่คนเลินเล่อในธรรม ของนักพรตยังเบากว่านั้นอีก.

อาจริยกถา นิฏฺฐิตา จบแถลงอาจารย์

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali 

(1) อาจริยกถา แถลงอาจารย์ 👇(2) อ่านหัวข้อ 👉2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ 👉(3) อ่านหัวข้อ ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา

(1-3) ปณามคาถาและคำปฏิญญา,  (4) อายครูไม่รู้วิชา (5) คนเขลาที่น่าขัน,  (6) วัตร ๕ อย่างที่ศิษย์ควรทำ,  (7-8) ครูคือแบบอย่างของศิษย์,  (9) รู้ให้แน่-แก้ให้เป็น,  (10) ถึงจะไกลก็ควรไป,  (11) ร่มแห่งความสุข, (12) ทั้งหนักและน่าเชื่อถือ, (13) คนเบากว่านุ่น






Previous Post
Next Post

0 comments: