วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๗)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๗)  ปัญหาที่ ๘, ทุสสีลปัญหา (คนทุศีล)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน อะไรเป็นความแปลกกัน อะไรเป็นข้อแตกต่างกันระหว่างคฤหัสถ์ทุศีล กับ สมณะทุศีล บุคคลทั้ง ๒ นี้ มีคติเสมอเหมือนกันหรือ ทานที่ให้แก่บุคคลทั้ง ๒ มีวิบากเสมอเหมือนกันหรือ หรือว่ายังมีอะไรที่เป็นข้อแตกต่างกันอยู่เล่า ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร สมณะทุศีลยังมีคุณธรรมยิ่งกว่าคุณธรรมของคฤหัสถ์ผู้ทุศีลโดยพิเศษอยู่ ๑๐ ประการเหล่านี้ และยังชำระทักขิณาทานให้หมดจดยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะเหตุ ๑๐ ประการ

สมณะทุศีลยังมีคุณธรรมยิ่งกว่าคุณธรรมของคฤหัสถ์ทุศีลโดยพิเศษอยู่ ๑๐ ประการอะไรบ้าง ? ขอถวายพระพร มหาบพิตร สมณะทุศีลในพระศาสนานี้

– ยังเป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า  – ยังเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม  – ยังเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์  – ยังเป็นผู้มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารี  – ยังพยายามในอุเทศ (การเรียนพระบาลี) และ ปริปุจฉา (การเรียนอรรถกถา)  – ยังเป็นผู้มากด้วยการสดับตรับฟัง

– ขอถวายพระพร ผู้เป็นสมณะแม้ว่าศีลขาด เป็นคนทุศีล ไปท่ามกลางบริษัทแล้ว ก็ยังรักษาอากัปกิริยาไว้ได้ รักษาความประพฤติทางกายไว้ได้ ความประพฤติทางวาจาไว้ได้ เพราะกลัวการติเตียน

– ยังมีจิตบ่ายหน้าตรงต่อความเพียร – ยังเป็นผู้เข้าถึงสมัญญาว่า “ภิกษุ”

– ขอถวายพระพร สมณะทุศีล แม้เมื่อจะกระทำชั่วก็ย่อมประพฤติอย่างปิดบัง ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าหญิงมีสามีย่อมประพฤติชั่วช้าเฉพาะแต่ในที่ลับเท่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร สมณะทุศีล แม้เมื่อจะทำกรรมชั่ว ก็ย่อมประพฤติอย่างปิดบัง ฉันนั้นเหมือนกันแล

ขอถวายพระพร มหาบพิตร สมณะทุศีลยังมีคุณธรรมยิ่งกว่าคฤหัสถ์ผู้ทุศีลโดยพิเศษอยู่ ๑๐ ประการเหล่านี้ แล

ผู้ชำระทักขิณาทานให้หมดจดยิ่งๆ ขึ้นไปได้ เพราะเหตุ ๑๐ ประการอะไรบ้าง ?

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่ทรงเสื้อเกราะ (ผ้ากาสาวพัสตร์) อันหาโทษไม่ได้  

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะการได้ทรงเพศคนหัวโล้น ผู้มีสมัญญาว่า ฤาษี (ภิกษุ)  

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่เข้าถึงความเป็นตัวแทนสงฆ์ที่เขานิมนต์  

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็ สรณะ

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านพักอาศัยคือความเพียร

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะมีการแสวงหาทรัพย์คือพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า (อริยทรัพย์ – ณัฏฐ)

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะมีการแสดงธรรมที่ยอดเยี่ยม

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่มีพระธรรมเป็นประทีปส่องคติที่ไปเบื้องหน้า

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่มีความเห็นตรงแน่นอนว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดบุคคล

– ย่อมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่มีการสมาทานอุโบสถ

ขอถวายพระพร สมณะทุศีลยังชำระทักขิณาทานให้หมดจดยิ่งๆ ขึ้นไปได้ เพราะเหตุ ๑๐ ประการเหล่านี้แล

ขอถวายพระพร เป็นความจริงว่า สมณะทุศีล แม้ว่าแสนวิบัติ ก็ยังชำระทักขิณาทานของทายกทั้งหลายให้หมดจดได้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า น้ำ แม้ว่าแสนจะขุ่นข้น ก็ยังใช้กำจัดโคลนตม เหงื่อไคล ขี้ฝุ่นได้ ฉันใด สมณะทุศีล แม้ว่าแสนวิบัติ ก็ยังชำระทักขิณาทานของทายกทั้งหลายให้หมดจดได้ ฉันนั้น

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า น้ำร้อนแม้ว่าแสนจะ (ร้อนจน) เดือด ก็ย่อมทำไฟกองใหญ่ที่กำลังลุกโพลงให้ดับได้ฉันใด สมณะทุศีล แม้ว่าแสนวิบัติ ก็ยังชำระทักขิณาทานของทายกทั้งหลายให้หมดจดได้ ฉันนั้น

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่าโภชนาอาหาร แม้ว่าหารสชาติไม่ได้ ก็ยังใช้กำจัดความหิว ความอ่อนเพลียได้ฉันใด สมณะทุศีล แม้ว่าแสนวิบัติ ก็ยังชำระทักขิณาทานของทายกทั้งหลายให้หมดจดได้ ฉันนั้น

ขอถวายพระพร พระตถาคตผู้เป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ ทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ในทักขิณาวิภังคพยากรณ์ (ทักขิณาวิภังคสูตร) นายปกรณ์มัชฌิมนิกายอันประเสริฐว่า

โย  สีลวา  ทุสฺสีเลสุ  ททาติ,  ทานํ  ธมฺเมน  ลทฺธํ  สุปสนฺนจิตฺโต;

อภิสทฺทหํ  กมฺมผลํ  อุฬารํ,   สา  ทกฺขิณา  ทายกโต  วิสุชฺฌติ.  (ม.อ. ๑๔/๔๒๑)

แปลว่า  บุคคลใดเป็นผู้มีศีล มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อมั่นอยู่  ให้ทานที่ได้มาโดยธรรม ในบุคคลผู้ทุศีลทั้งหลาย   บุคคลนั้นย่อมได้รับผลกรรมมากมาย  ทักขิณานั้นชื่อว่า หมดจด โดยทางทายกดังนี้ (ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี  เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ)

พระเจ้ามิลินท์, น่าอัศจรรย์จริง พระคุณเจ้านาคเสน น่าแปลกจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าได้ถามปัญหาถึงเพียงนั้นแล้ว ท่านก็ได้เปิดเผยปัญหานั้น ทำให้มีรสชาติอร่อย เป็นอมตะให้น่าฟังด้วยอุปมา ด้วยเหตุผลทั้งหลายมากมาย ข้าแต่พระคุณเจ้า เปรียบเหมือนว่า พ่อครัวหรือลูกมือของพ่อครัว ได้เนื้อถึงเพียงนั้นแล้วก็ใช้เครื่องปรุงหลายอย่างต่างๆ กันมาปรุงให้สำเร็จเป็นเครื่องเสวยของพระราชา ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าได้ถามปัญหาถึงเพียงนั้นแล้ว ท่านก็ได้เปิดเผยปัญหานั้น ทำให้มีรสชาติอร่อยเป็นอมตะ ให้น่าฟังด้วยอุปมา ด้วยเหตุผลทั้งหลายมากมาย ฉันนั้น.  จบทุสสีลปัญหาที่ ๘

คำอธิบายปัญหาที่ ๘

ปัญหาเกี่ยวกับคนทุศีล ชื่อว่า ทุสสีลปัญหา.    คำว่า บุคคลทั้ง ๒ นี้ มีคติเสมอเหมือนกันหรือ ความว่า บุคคลทั้ง ๒ คือ สมณะทุศีล และ คฤหัสถ์ทุศีล นี้ มีคติคือมีอาการเป็นไปแห่งคุณสมบัติด้านความเป็นปฏิคาหก (ผู้รับเอาทาน) เสมอเหมือนกันหรือ

อธิบายว่า สมณะทุศีล ก็ยังเป็นผู้มีคุณธรรมซึ่งเป็นคุณธรรมที่ดียิ่งกว่าคุณธรรมของ คฤหัสถ์ผู้ทุศีล อยู่ถึง ๑๐ ประการ และยังชำระทักขิณาทาน คือทานที่เขาถวายให้ด้วยมีความเชื่อโลกหน้า ให้หมดจดคือให้ปราศจากมลทินที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการบันดาลผลตอบแทนมากมายแก่ทายกผู้ถวาย ความว่า ผู้เป็นสมณะเท่านั้นที่ชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้ว่าเป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่ผู้เป็นคฤหัสถ์

ใน ทักขิณาวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าตรัส ปาฏิบุคลิกทักขิณาทาน (ทักขิณาทานที่เขาให้เจาะจงบุคคล) ไว้ถึง ๑๔ ประเภท

ประเภทที่ ๑๓ ที่ว่า  “ปุถุชฺชนทุสฺสีเลสุ  ทานํ  เทติ – ย่อมให้ทานในปุถุชนคนทุศีล” 

ดังนี้นั้น บัณฑิตพึงทราบว่า คำว่า ปุถุชนคนทุศีล นี้ เป็นอันสงเคราะห์เอาคฤหัสถ์ทุศีลที่กล่าวถึงในที่นี้ ในคราวที่เขาตั้งอยู่ในฐานะเป็นปฏิคาหก ส่วนในบรรดาสังฆคตทักขิณาทาน (สังฆทาน) ๗ ประเภทนั้น ประเภทที่ ๖ ที่ว่า

“เอตฺตเก  เม  ภิกฺขู  สงฺฆโต  อุทฺทิสฺสถ  –  ขอจงคัดเลือกภิกษุจำนวนเท่านี้จากพระสงฆ์แก่กระผมเถิด

ดังนี้นั้น พึงทราบว่า คำว่า ภิกษุจำนวนเท่านี้ นี้ เป็นอันสงเคราะห์เอาสมณะทุศีลได้ด้วยทีเดียว ในคราวที่ได้รับการคัดเลือกจากสงฆ์ให้เป็นตัวแทนของสงฆ์ไปเป็นปฏิคาหกรับเอาปัจจัยไทยธรรมที่เขาเตรียมถวาย

ในบรรดาคุณธรรมพิเศษ ๑๐ ประการ คำว่า ยังเป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เป็นต้น ความว่า เพราะได้บวช บวชแล้วได้ฟังธรรม ได้ทำธุระในพระศาสนา ได้ทำกิจของสงฆ์เป็นต้นอยู่บ้าง ก็ย่อมมองเห็นความประเสริฐสุดในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ย่อมตระหนัก มีความเคารพในพระพุทธเจ้าเป็นต้น

คำว่า ก็ยังรักษาอากัปกิริยาไว้ได้ เป็นต้น ความว่า เพราะกลัวการติเตียนทำนองอย่างนี้ว่าผู้นี้ได้บวชในพระศาสนาที่ประเสริฐแล้วก็จริง แต่ก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรๆ ที่ควรได้จากการบวช แม้บวชก็เหมือนไม่ได้บวช ยังประพฤติ อย่างพวกฆราวาสทั้งหลายอยู่นั่นเอง เพราะแม้แต่อากัปกิริยาความประพฤติทางกาย ทางวาจา ก็ไม่รู้จักจะระมัดระวังสำรวม ดังนี้เป็นต้น จึงเป็นผู้รู้จักจะรักษาอากัปกิริยาเป็นต้นอยู่บ้าง

คำว่า ยังมีจิตบ่ายหน้าตรงต่อความเพียร ความว่า เพราะอยู่ท่ามกลางภิกษุผู้มีศีลทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรขวนขวายในธุระทั้ง ๒ ตนแม้เป็นคนทุศีล ย่อมเกิดความสำคัญตระหนักว่าชีวิตสมณะ เป็นชีวิตที่ทำเวลาให้ล่วงเลยไปด้วยการ ปรารภความเพียร เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมสำเหนียกโอกาส ที่จะปรารภความเพียรเพื่อทำประโยชน์ตนอยู่บ้าง

ในบรรดาเหตุที่ทำให้ชำระทักขิณาทานให้หมดจด ๑๐ ประการ (พูดถึงผู้รับ – ณัฏฐ) คำว่า ยอมชำระทักขิณาทานให้หมดจดได้ แม้เพราะความที่เข้าถึงความเป็นตัวแทนสงฆ์ที่เขานิมนต์ คือแม้ตนจะเป็นสมณะศีลขาด แม้กระทั่งว่าขาดความเป็นสมณะแล้ว เมื่อสงฆ์ยังไม่รู้ความเป็นคนศีลขาด ตั้งตรงเป็นตัวแทนของสงฆ์รับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารยังเรือนของทายกเป็นต้น ทายกแม้รู้ว่าตนเป็นคนศีลขาด หาความเป็นสมณะไม่ได้แล้ว แต่เมื่อสามารถทำใจไว้ในฐานะสงฆ์ ไม่ใช่ฐานะบุคคลแต่ละคน ว่า ผู้นี้มาในฐานะสงฆ์ เลื่อมใสในความเป็นสงฆ์อยู่ ประเคนปัจจัยไทยธรรมถวายให้อย่างครบ ความเป็นผู้ตั้งอยู่ในฐานะสงฆ์ในเวลานั้นซึ่งทายกก็สำคัญอยู่ (ทายกรู้ว่าสงฆ์ทุศีล – ณัฏฐ) ยอมชำระทักขิณาทานที่เขาถวายให้นั้น ให้หมดจดได้ (ทายกมีความเลื่อมใส – ณัฏฐ) คือทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย เช่นเดียวกับที่ได้ถวายในพระสงฆ์ผู้มีศีลทั่วไปนั่นเองเพื่อความแจ่มแจ้งในความข้อนี้ ก็ใคร่ขอสาธกเรื่องของนายบ้านผู้เป็นเจ้าของวิหาร (วัด)

มีเรื่องว่า นายบ้านผู้เป็นเจ้าของวิหารคนหนึ่ง คิดว่า เราจะถวายสังฆทาน จึงไปยังวิหาร ร้องขอต่อสงฆ์ว่า ขอจงเลือกพระภิกษุแก่กับผมสักรูปหนึ่งเถิด เจ้าข้า พระสงฆ์คัดเลือกภิกษุรูปหนึ่งไป นายบ้านได้นิมนต์ให้ภิกษุรูปนั้นนั่งบนอาสนะที่ตนปูลาดไว้อย่างดี ในสถานที่ที่ได้ชำระทำความสะอาดไว้ดีแล้ว ที่เบื้องบนเพดานประดับดอกไม้ของหอมต่างๆ วิจิตรสวยงาม ล้างเท้าให้ ทาน้ำมันให้ เสร็จแล้วก็ได้ถวายไทยธรรม ของที่ควรถวาย แก่ภิกษุรูปนั้น โดยอาการที่บุคคลทั้งหลายผู้มีความยำเกรงในพระสงฆ์ควรทำ ภิกษุรูปนั้นกลับไปแล้ว ในเวลาเย็นกลับมาที่เรือนของนายบ้านผู้นี้อีก กล่าวว่า

“อาตมาขอยืมจอบหน่อย”

อุบาสกนายบ้านผู้นั้นเวลานั้นนั่งอยู่ ก็ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ใช้เท้าเขี่ยจอบที่วางทิ้งอยู่ใกล้ตัวให้ไป พร้อมทั้งกล่าวว่า เอาไปสิ คนทั้งหลายพูดกับเขาว่า เมื่อเช้าท่านทำการบูชาสักการะพระภิกษุรูปนี้เสียดีนักหนา ไม่อาจจะกล่าวได้เลยทีเทียวพอมาเดี๋ยวนี้แม้เพียงมารยาทก็ไม่มีเหลือ เกิดอะไรขึ้น ?

อุบาสกในบ้านกล่าวว่า เมื่อเช้าเราได้ถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงแก่พระสงฆ์ แต่ว่าเวลานี้ ได้ให้คนทุศีลมันยืมจอบไป (เขารู้ว่าพระทุศีล แต่เขาทำใจได้ – ณัฏฐ) ดังนี้ ก็คนทุศีลย่อมชำระทักขิณาทานของทายกให้หมดจดได้ เพราะถ้ายกมีจิตหมดจดด้วยอำนาจแห่งความสำคัญว่า

“นี้สงฆ์, นี้มีผู้มาในฐานะสงฆ์”  ไม่ใช่สำคัญว่า  “นี้ คนทุศีล”   ตามประการดังกล่าวมานี้

คำว่า แม้เพราะมีการสมาทานอุโบสถ คือแม้เพราะยังมีความตั้งใจจะถือเอาศีลสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ในวันอุโบสถ

ในพระคาถา คำว่า ให้ทานที่ได้มาโดยธรรม คือให้ทานมีภัตตาหารเป็นต้น ที่ตนแสวงหามาได้โดยธรรม คือโดยวิธีการที่นับว่าสุจริต ไม่ใช่โดยอธรรมคือทุจริต

คำว่า ชื่อว่า หมดจดโดยทางทายก (ทายกทำทานหมดจด – ณัฏฐ) คือ ชื่อว่าหมดจดเพราะบันดาลอานิสงส์ตอบแทนมากมาย โดยทางทายก เพราะเหตุที่ทายกมีจิตเลื่อมใสไม่ขุ่นมัว ไม่ใช่โดยทางปฏิคาหกซึ่งเป็นคนทุศีล ฉะนี้แล. จบคำอธิบายปัญหาที่ ๘.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๗)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?

ภาพ : นักรบตะวันตก

วัดศาลาปูนวรวิหาร ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: