“เคล็ดลับ” ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากการ..“ควบคุมอายตนะ”
“ขอให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ และตั้งใจถือศีลนี้ ข้อเดียวเท่านั้น จะมี “ศีล” ครบทุกๆข้อ ไม่ว่าจะมีสักกี่สิบหรือกี่ร้อยข้อ. เรียกสั้นๆ ว่า ถือศีล ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้ออกไปนอกร่องนอกรอย; หมายความว่า อย่าไปปรุงเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา แล้วก็จะมีศีลโดยกําเนิด โดยปกติ ตามธรรมชาติ เป็นอัตโนมัติ ไม่มีด่างไม่มีพร้อย. นี่แหละศีลที่มาจากการควบคุมอายตนะ มีได้สมบูรณ์อย่างนี้ ดีมากอย่างนี้
พอไปถึงขั้นที่สูงขึ้นไป คือเรื่อง “สมาธิ” ต้องเกี่ยวกับการบังคับจิตให้อยู่ในอํานาจ คือบังคับจิตนี้ไม่ให้เกิดการผันแปรไปตามอารมณ์ที่มากระทบ, อารมณ์ที่มากระทบเขาเรียกกันว่า “นิวรณ์”, เมื่อมีสิ่งบางสิ่งมากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วให้เกิดความรู้สึกเป็น กามฉันทะ พยาบาท หรือ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อะไรก็ตาม เราหยุดความคิดนึกที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ หรือว่าหยุดความคิดนึกวุ่นวายทุกอย่างนั้นไม่ได้; จิตก็ถูกผลักถูกดัน ถูกปรุงแต่งให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่ควรเป็น ที่เรียกว่าฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น ผู้ที่บังคับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ นับว่าจิตมีความเป็นสมาธิอย่างดี อย่างเลิศ อยู่ในตัว, คือมีต้นกําเนิดของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ แล้วก็มีสมาธิได้โดยง่าย
ผู้ใดสามารถบังคับความรู้สึก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไว้ให้อยู่ในอํานาจได้เฉียบขาด. เหมือนทหารที่อยู่ในระเบียบวินัยที่ดี; จิตก็มีลักษณะเป็นสมาธิ, คือเป็นจิตที่สะอาด บริสุทธิ์, แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น เข้มแข็ง, เป็นจิตที่เหมาะสมที่จะทําสิ่งที่ดี ทําหน้าที่ของจิตในทางที่ดี: จิตอย่างนี้ เรียกว่าจิตที่เป็น “สมาธิ”. ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ข้างนอก: คือไม่ตกไปเป็นทาสของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์; คือไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ จิตจึงมีลักษณะเป็นสมาธิ, คือเป็นอิสระอยู่ได้ด้วยการบังคับทั้ง ๖ ทาง : คือทั้ง ทาง ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ. นี้เรียกว่าเรื่องสมาธิ เป็นเรื่องที่มีรากฐานอยู่บน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นเดียวกับเรื่องศีล.
เรื่องถัดไปก็คือ เรื่อง “ปัญญา” เป็นเรื่องความรู้ : ต้องมีความรู้ คือมีความรู้จัก มีความเข้าใจ มีความเห็นแจ้ง อย่างถูกต้อง อย่างประจักษ์ ในสิ่งนั้นๆ จึงจะเรียกว่า “ปัญญา”. ในที่นี้ก็คือ รู้แจ้ง แจ่มแจ้ง ประจักษ์ชัด ต่อสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นเอง นับตั้งแต่รู้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุให้เกิดมีความรู้สึกอย่างไร และมันจะปรุงแต่งสิ่งอะไรอื่นขึ้นมาใหม่ๆ อีกบ้าง; ก็หมายความว่า รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างถูกต้องและก็อย่างครบถ้วนแล้วเราจึงสามารถที่จะดํารงจิตใจอยู่ได้ ไม่ตกเป็นทาสของอะไร ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ: อย่างนี้ก็เรียกว่ามีปัญญา. ต้องมีความรู้จนกระทั่งสามารถควบคุม หรือว่าบังคับ หรือว่าวางเฉยต่อทุกอย่าง ที่มาเกี่ยวกับ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ได้ถึงที่สุด
นี้คือ ความลับ หรือสิ่งที่เรียกว่าเคล็ดลับ ซึ่งมีอยู่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น หมดด้วยกัน คือการกระทําที่ถูกต้อง ในเมื่อมีการกระทบกันทางอายตนะ.”
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายชุดโอสาเรตัพพธรรม ลำดับที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๔ หัวข้อเรื่อง “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับ อัฏฐังคิกมรรค วิสุทธิเจ็ด และ ไตรสิกขา” จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “โอสาเรตัพพธรรม” หน้า ๑๕๒-๑๕๔
0 comments: