วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกล้วนแต่ประกอบด้วยคัมภีรภาพ”

“พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกล้วนแต่ประกอบด้วยคัมภีรภาพ”

คัมภีรภาพ (ความลึกซึ้ง) มี ๔ ประการ คือ   ๑. ธรรม   ๒. อรรถ  ๓. เทศนา   ๔. ปฏิเวธ

บรรดาคัมภีรภาพเหล่านั้น 

๑. พระบาลี (ตนฺติ) ชื่อว่าธรรม

๒. เนื้อความแห่งพระบาลีนั้น ชื่อว่าอรรถ

๓. การแสดงบาลีตามที่กำหนดไว้อย่างดีด้วยใจนั้น ชื่อว่าเทศนา

๔. การตรัสรู้ตามความเป็นจริงซึ่งธรรมและอรรถแห่งบาลีนั้น ชื่อว่าปฏิเวธ

อีกนัยหนึ่ง

๑. เหตุ ชื่อว่าธรรม เหมือนที่ตรัสไว้ว่า “ญาณ (ความรู้) ในเหตุ ชื่อว่าธรรมปฏิสัมภิทา”

๒. ผลของเหตุ ชื่อว่าอรรถ เหมือนที่ตรัสไว้ว่า “ญาณ (ความรู้) ในผลของเหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา”

๓. บัญญัติ ท่านหมายเอาการกล่าวธรรมสมควรแก่ธรรม ชื่อว่าเทศนา หรือว่าการกล่าวธรรมด้วยสามารถแห่งอนุโลมและปฏิโลม หรือสังเขปและพิสดารเป็นต้น ชื่อว่าเทศนา

๔. การตรัสรู้ ชื่อว่าปฏิเวธ ก็ปฏิเวธนั้นเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ อธิบายว่า “การหยั่งรู้ ในธรรมทั้งหลายสมควรแก่อรรถ ในอรรถทั้งหลายสมควรแก่ธรรม ในบัญญัติทั้งหลายสมควรแก่คลองแห่งบัญญัติ โดยวิสัย (อารมณ์) โดยอสัมโมหะ (ความไม่หลงลืม) หรือว่า ความที่ธรรมเหล่านั้นๆ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในที่นั้นๆ เป็นธรรมไม่วิปริตเป็นไปกับด้วยลักษณะ อันพึงแทงตลอดได้ ดังนี้.

จริงอยู่ ธรรม ๑ อรรถ ๑ เทศนา ๑ ปฏิเวธ ๑ ในปิฎกทั้ง ๓ นั้น ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญาน้อยหยั่งลงได้ยาก (รู้ได้ยาก) เป็นที่พึ่งอันบุคคลผู้มีปัญญาน้อยไม่พึงได้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันสัตว์เล็กทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้นหยั่งให้ถึงได้โดยยาก ทั้งเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบคัมภีรภาพแม้ทั้ง ๔ อย่าง ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ ด้วยประการฉะนี้ ฯ

ขนาดเรียนทุกวันก็ยังกล่าวได้ว่า “พระบาลีนี้ยากจริงๆ”

สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณี ชื่ออัฏฐสาลินี,  พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ),  21/10/64

ภาพ : นักรบตะวันออก

วัดมุจลินทร์ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี 












Previous Post
Next Post

0 comments: