วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ความฉลาด” คืออะไร? “คนฉลาดจริง” เป็นอย่างไร?

“ความฉลาด” คืออะไร? “คนฉลาดจริง” เป็นอย่างไร?

“คนฉลาด” ที่หลายคนเข้าใจ คือเก่งในทุกเรื่อง อธิบายได้ทุกอย่าง มีเหตุ มีผล แต่แก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองและสังคมไม่ได้ นั่น ใช่ความฉลาดหรือไม่?

เมื่อความฉลาดเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องไว้ตลอดเวลา เวลาจะสอบเด็กพวกนี้จะเครียดมาก ถ้าทุจริตได้ก็จะทำเพื่อที่จะปกป้องภาพพจน์ตัวเองว่าเป็นคนฉลาด เวลาสอบตกก็ทุกข์และซึมเศร้า ก็พิสูจน์ได้ว่าไม่ฉลาดจริง

แล้วฉลาดจริง เป็นอย่างไร?

ฉลาดจริงต้องไม่ทุกข์ อาตมาวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาในเมืองไทยว่า คนที่มีฐานะดีมาก จะส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ถ้าฐานะปานกลางก็ส่งลูกไปโรงเรียนคริสต์ จบแล้วก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ก็แปลว่า ชนชั้นนำของเมืองไทย ปัญญาชน เติบโตโดยเข้าใจหลักพุทธศาสนาน้อยมาก คำสั่งสอนเพื่อพัฒนาตนหรือสังคมแทบจะไม่รู้จักเลย อาตมาว่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย และไม่น่าเป็นไปได้

ปัจจุบัน ในอังกฤษได้เพิ่มหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องความฉลาดในเรื่องพฤติกรรม ความสามารถในการปรับตัวอยู่กับชุมชน การควบคุมบริหารอารมณ์ตัวเอง ในเมืองนอกตอบรับเรื่องพวกนี้ หลายโรงเรียนมีคอร์สสอนเรื่อง “สติ” การรู้จักตัวเอง เพื่อให้อยู่ในปัจจุบันขณะ เราอยู่ในยุคที่ทางตะวันตกกำลังสำนึกถึงความบกพร่องในระบบการศึกษา ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาชีวิตมีอยู่ในพุทธศาสนา

ถ้าหากมีการพัฒนาการศึกษาตามแนว “พุทธิปัญญา” เมืองไทยก็เป็นผู้นำเรื่องนี้ แต่คนยังขาดความรู้และความศรัทธาในภูมิปัญญาตัวเอง กลับไปยกย่องตะวันตก แทนที่จะเป็นผู้นำก็เป็นผู้ตามตลอด

ถ้าเข้าใจการพัฒนาจิตใจ พฤติกรรม และการอยู่ในสังคม ต้องทำแบบองค์รวม ไม่ใช่การศึกษาแยกส่วน มีเด็กฉลาดๆ ติดยา ติดเกม เยอะมาก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับความฉลาด เราอยู่ในยุคที่หวังว่า ถ้าคนมีการศึกษาที่ดี ประเทศชาติก็เจริญ มันเป็นความเชื่องมงาย โดยถือว่า การศึกษาวัดด้วยปริญญาบัตร ถ้าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่น ก็บังคับกันว่า คนต้องมีการศึกษาจบปริญญาตรี ปริญญาโท แล้วมันจะมีผลอะไร?

คนส่วนใหญ่เข้าใจเปลือกพุทธศาสนามากกว่าหัวใจพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นระบบการศึกษาที่สมบูรณ์บริบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

แล้วความฉลาด คืออะไร?

เครื่องวัดความฉลาดที่แน่นอนที่สุด ก็คือ ศีล ๕ เพราะคนเราต้องการสุข ไม่ต้องการทุกข์ กฎแห่งกรรมมีจริง การผิดศีลคือการสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ชีวิตเราในระยะยาว เพราะฉะนั้น คนฉลาดจริงๆ ไม่มีทางผิดศีล ๕ นี่คือ แง่มุมหนึ่งที่ว่า ความฉลาดอยู่ตรงไหน?

ทุกวันนี้เรารู้ว่า คนฉลาด ไอคิวสูง แล้วมีผลดีต่อสังคมตรงไหน?

แต่ถ้าทำให้สังคมเสียหาย ฉลาดในการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เราไม่อยากให้เกียรติว่า คนที่ทำแบบนี้เป็นปัญญาชน ถ้าใช้ไอคิวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตนและครอบครัว และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น อาตมาไม่ยอมรับว่า เป็นพฤติกรรมของปัญญาชน เพราะฉะนั้น เราใช้คำว่า “ปัญญาชน” ง่ายเกินไป

 คนที่ไม่ศึกษา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะบอกว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับการศึกษา ฟังๆแล้วมันเกี่ยวกับพระมากเกินไป ที่อาตมานำไปใช้ในโรงเรียนมีการภาวนา๔ ข้อ เนื้อหาเหมือน “ไตรสิกขา” เพราะการ “ภาวนา” ไม่ได้หมายความว่านั่งหลับตา ความหมายเดิมแปลว่า “พัฒนา” ดังนั้น

๑. เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ

๒. พัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสังคม

๓. พัฒนาทางจิตใจ

๔. พัฒนาทางปัญญา

ถ้าระบบการศึกษาไปตามแนวนี้จะครบทุกด้าน อย่างเช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ก็เริ่มจากธรรมชาติใกล้สุด คือร่างกายของเรา ต้องเรียนรู้ความฉลาดในร่างกาย ต้องกินให้พอดี ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในทางที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยี การใช้อินเตอร์เน็ต เรื่องเงินทอง เสื้อผ้า แฟชั่น ก็ขยับไปสู่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

การภาวนาคือการพัฒนาจิตใจ ซึ่งสอนให้เด็กสามารถแก้ปัญหาตัวเอง เวลาน้อยใจ วิตกกังวล กลัว ซึมเศร้า จะทำอย่างไร? คนเรามีเรื่องชวนให้เครียด ชวนให้โกรธ ชวนให้มีปัญหาตลอดชีวิต สิ่งที่จำเป็นในชีวิต อย่างการเลือกคู่ ผู้ชายจะเป็นพ่อที่ดี สามีที่ดีได้อย่างไร เวลาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราเดือดร้อน จะรักษาจิตใจของตนให้ปกติได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก

ทำไมสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตระบบการศึกษาไม่สอนเลย อันนี้เป็นจุดบอดใหญ่ ทั้งๆที่แนวทางพุทธมีวัตรปฎิบัติที่ชัดเจน มีคำสอนที่จะช่วยเรื่องนี้ ถือว่าเรามีบุญมากที่ได้เปรียบตะวันตก ซึ่งไม่มีหลักแบบนี้

พระธรรมพัชรญาณมุนี (ฌอน  ชยสาโร)




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: