วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช

เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช

"อิธ  เจ  นํ [1] วิราเธสิ,     สทฺธมฺมสฺส  นิยามตํ [2];
จิรํ  ตฺวํ  อนุตปฺเปสิ [3],     เสริวายํว  วาณิโชติ ฯ

ถ้าเธอพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอนแห่งสัทธรรมในศาสนานี้, เธอจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น."

1) [อิธ เจ หิ นํ (สี. ปี.)]   2) [นิยามกํ (สฺยา. ก.)]  3) [อนุตเปสฺสสิ (สี. ปี.), อนุตปฺปิสฺสสิ (?)],

เสริววาณิชชาดก ว่าด้วยพ่อค้าชื่อเสริวะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในเมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ละความเพียรเหมือนกัน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อิธ  เจ  หิ  นํ  วิราเธสิ  ดังนี้. 

ก็พระศาสดาทรงเห็นภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลายนำมาโดยนัยก่อนนั่นแล จึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุ เธอบวชในศาสนาอันให้มรรคผลเห็นปานนี้ เมื่อละความเพียรเสีย จักเศร้าโศกตลอดกาลนาน เหมือนเสรีววาณิชเสื่อมจากถาดทองอันมีค่าแสนหนึ่งฉะนั้น“. 

ภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงเรื่องนั้น ให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงการทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏ. 

ในอดีตกาล ในกัปที่ ๕ แต่ภัทรกัปนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพ่อค้าเร่ในแคว้นเสริวรัฐ. พระโพธิสัตว์นั้น ไปเพื่อต้องการค้าขายกับพ่อค้าเร่ผู้โลเลคนหนึ่งชื่อว่าเสรีวะ ข้ามแม่น้ำชื่อว่านีลพาหะแล้ว เข้าไปยังพระนครชื่อว่าอริฏฐปุระ แบ่งถนนในนคร (ไปคนละทาง) กันแล้วเที่ยวขายสินค้าในถนนที่ประจวบกับคน. ฝ่ายวาณิชนอกนี้ยึดเอาถนนที่ประจวบเข้ากับคนเท่านั้น. 

ก็ในนครนั้นได้มีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลเก่าแก่. บุตร พี่น้องและทรัพย์สินทั้งปวงได้หมดสิ้นไป.ได้มีเด็กหญิงคนหนึ่งเหลืออยู่กับยาย. ยายหลานแม้ทั้งสองนั้น กระทำการรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีวิต. ก็ในเรือนได้มีถาดทองที่มหาเศรษฐีของยายกับหลานนั้น เคยใช้สอยถูกเก็บไว้กับภาชนะอื่น ๆเมื่อไม่ได้ใช้สอยนานาน เขม่าก็จับ. ยายและหลานเหล่านั้นย่อมไม่รู้แม้ความที่ถาดนั้นเป็นถาดทอง. 

สมัยนั้น วาณิชโลเลคนนั้น เที่ยวร้องขายของว่า „จงถือเอาเครื่องประดับ จงถือเอาเครื่องประดับ“, ได้ไปถึงประตูบ้านนั้น. กุมาริกานั้นเห็นวาณิชนั้นจึงกล่าวกะยายว่า „ยาย ขอยายจงซื้อเครื่องประดับอย่างหนึ่งให้หนู“. ยายกล่าวว่า „หนูเอ๋ย เราเป็นคนจน จักเอาอะไรไปซื้อ“. กุมาริกากล่าวว่า „พวกเรามีถาดใบนี้อยู่ และถาดใบนี้ไม่เป็นอุปการะเกื้อกูลแก่พวกเรา จงให้ถาดใบนี้แล้วถือเอา (เครื่องประดับ)“. 

ยายจึงให้เรียกนายวาณิชมาแล้วให้นั่งบนอาสนะให้ถาดใบนั้นแล้วกล่าวว่า „เจ้านายท่านจงถือเอาถาดนี้, แล้วให้เครื่องประดับอะไร ๆ ก็ได้แก่หลานสาวของท่าน“.   นายวาณิชเอามือจับถาดนั่นแล คิดว่า „จักเป็นถาดทอง จึงพลิกเอาเข็มขีดที่หลังถาด รู้ว่า เป็นทอง จึงคิดว่า เราจักไม่ให้อะไร ๆ แก่คนเหล่านี้จักนำเอาถาดนี้ไป, แล้วกล่าวว่า „ถาดใบนี้จะมีราคาอะไร? ราคาของถาดใบนี้แม้กึ่งมาสกก็ยังไม่ถึง“ จึงโยนไปที่ภาคพื้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป. 

พระโพธิสัตว์คิดว่า คนอื่นย่อมได้เพื่อจะเข้าไปยังถนนที่นายวาณิชนั้น เข้าไปแล้วออกไป จึงเข้าไปยังถนนนั้นร้องขายของว่า „จงถือเอาเครื่อง, ประดับดังนี้“, ได้ไปถึงประตูบ้านนั้นนั่นแหละ. กุมาริกานั้นกล่าวกะยายเหมือนอย่างนั่นแหละอีก.

ลำดับนั้น ยายได้กล่าวกะกุมาริกานั้นว่า "หลานเอ๋ย นายวาณิชผู้มายังเรือนนี้ โยนถาดนั้นลงบนภาคพื้นไปแล้ว, บัดนี้ เราจักให้อะไรแล้วถือเอาเครื่องประดับ“. กุมาริกากล่าวว่า „ยาย นายวาณิชคนนั้น พูดจาหยาบคายส่วนนายวาณิชคนนี้ น่ารัก พูดจาอ่อนโยน คงจะรับเอา“. ยายกล่าวว่า „ถ้าอย่างนั้น จงเรียกเขามา“, กุมาริกานั้นจึงเรียกนายวาณิชนั้นมา. 

ลำดับนั้น ยายและหลานได้ให้ถาดใบนั้นแก่พระโพธิสัตว์นั้น ผู้เข้าไปยังเรือนแล้วนั่ง.  พระโพธิสัตว์นั้น รู้ว่า ถาดนั้นเป็นถาดทอง, จึงกล่าวว่า "แม่ ถาดใบนี้มีค่าตั้งแสนสินค้าอันมีค่าเท่าถาด ไม่มีในมือของเรา". 

ยายและหลานจึงกล่าวว่า "เจ้านาย ! นายวาณิชผู้มาก่อนพูดว่า "ถาดใบนี้มีค่าไม่ถึงแม้กึ่งมาสกแล้วเหวี่ยงถาดลงพื้นไป, แต่ถาดใบนี้จักเกิดเป็นถาดทอง เพราะบุญของท่าน, พวกเราให้ถาดใบนี้แก่ท่าน, ท่านให้อะไร ๆ ก็ได้แก่ พวกเราแล้วถือเอาถาดใบนี้ไปเถิด". 

ขณะนั้นพระโพธิสัตว์จึงให้กหาปณะ ๕๐๐ ซึ่งมีอยู่ในมือและสินค้าซึ่งมีราคา ๕๐๐กหาปณะ ทั้งหมดแล้วขอเอาไว้เพียงเท่านี้ว่า "ท่านทั้งหลายจงให้ตาชั่งนี้กับถุงและกหาปณะ ๘ กหาปณะแก่ข้าพเจ้า", แล้วถือเอาถาดนั้นหลีกไป.

พระโพธิสัตว์นั้น รีบไปยังฝั่งแม่น้ำ ให้นายเรือ ๘ กหาปณะแล้วขึ้นเรือไป.   ฝ่ายนายวาณิชพาล หวนกลับไปเรือนนั้นอีกแล้วกล่าวว่า „ท่านจงนำถาดใบนั้นมา เราจักให้อะไร ๆ บางอย่างแก่ท่าน“. หญิงนั้นบริภาษนายวาณิชพาลคนนั้นแล้วกล่าวว่า „ท่านได้กระทำถาดทองอันมีค่าตั้งแสนของพวกเราให้มีค่าเพียงกึ่งมาสก, แต่นายวาณิชผู้มีธรรมคนหนึ่งเหมือนกัน, นายท่านนั่นแหละให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกเราแล้วถือเอาถาดทองนั้นไปแล้ว. 

นายวาณิชพาลได้ฟังดังนั้น คิดว่า „เราเป็นผู้เสื่อมจากถาดทองอันมีค่าตั้งแสน วาณิชคนนี้ ทำความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแก่เราหนอ“ เกิดความโศกมีกำลัง ไม่อาจดำรง สติไว้ได้ จึงสลบไป (พอฟื้น)ได้โปรยกหาปณะที่อยู่ในมือและสิ่งของไว้ที่ประตูเรือนนั่นแหละ ทิ้งผ้านุ่งผ้าห่ม ถือคันชั่งทำเป็นไม้ค้อน หลีกไปตามรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ ไปถึงฝั่งแม่น้ำนั้น เห็นพระโพธิสัตว์กำลังไปอยู่จึงกล่าวว่า „นายเรือผู้เจริญท่านจงกลับเรือ“. พระโพธิสัตว์ห้ามว่า „อย่ากลับ“. 

เมื่อนายวาณิชพาล แม้นอกนี้ เห็นพระโพธิสัตว์ไปอยู่นั้นแล เกิดความโศกมีกำลัง หทัยร้อน เลือดพุ่งออกจากปาก หทัยแตก เหมือนโคลนในบึงฉะนั้น. วาณิชพาลนั้น ผูกอาฆาตพระโพธิสัตว์ ถึงความสิ้นชีวิตลง ณที่นั้น นั่นเอง. นี้เป็นการผูกอาฆาตในพระโพธิสัตว์ของพระเทวทัตเป็นครั้งแรก.  พระโพธิสัตว์การทำบุญมีทานเป็นต้นได้ไปตามยถากรรม. 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นตรัสพระธรรมเทศนาแล้วทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วแลได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

„ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือความแน่นอน แห่งพระสัทธรรมในศาสนานี้ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน เหมือนวาณิชชื่อเสริวะ ผู้นี้ ฉะนั้น“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อิธ  เจ  นํ  วิราเธสิ  สทฺธมฺมสฺสนิยานกํ  ความว่า หากท่านพลาด คือ ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรคกล่าวคือความแน่นอนแห่งพระสัทธรรมอย่างนี้ ในศาสนานี้ อธิบายว่า ท่านเมื่อละความเพียร จะไม่บรรลุคือไม่ได้.   บทว่า  จิรํ  ตุวํ  อนุตปฺเปสิ  ความว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านเมื่อเศร้าโศกคือร่ำไรอยู่ตลอดกาลนานชื่อว่าจักเดือดร้อนใจภายหลัง ในกาลทุกเมื่อ. 

อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ท่านเกิดในนรกเป็นต้น เสวยทุกข์มีประการต่าง ๆตลอดกาลนานชื่อว่าจักเดือด ร้อนใจภายหลัง คือชื่อว่าจักลำบาก เพราะความเป็นผู้ละความเพียร คือ เพราะความเป็นผู้พลาดอริยมรรค. 

ถามว่า จักเดือดร้อนภายหลัง อย่างไร ? ตอบว่า จักเดือดร้อนภายหลัง เหมือนนายวาณิชชื่อว่าเสรีวะผู้นี้ อธิบายว่า เหมือนนายวาณิชผู้นี้ อันมีชื่ออย่างนี้ว่า เสรีวะ. ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า เมื่อก่อน วาณิชชื่อเสรีวะได้ถาดทองมีค่าหนึ่งแสน ไม่ทำความเพียรเพื่อจะถือเอาถาดทองนั้น จึงเสื่อมจากถาดทองนั้น เดือดร้อนใจในภายหลัง ฉันใด แม้เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่บรรลุอริยมรรคอันเช่นกับถาดทองที่เขาจัดเตรียมให้ ในศาสนานี้ เพราะละความเพียรเสีย เป็นผู้เสื่อมรอบจากอริยมรรคนั้น จักเดือดร้อนใจภายหลัง ตลอดกาลนาน ก็ถ้าจักไม่ละความเพียรไซร้ จักได้โลกุตรธรรมแม้ทั้ง ๔ ในศาสนาของเรา เหมือนนายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตได้เฉพาะถาดทองฉะนั้น.

พระศาสดา ทรงถือเอายอดด้วยพระอรหัตทรงแสดงพระธรรม. 

เทศนานี้แก่ภิกษุนี้อย่างนี้แล้วทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔. ในเวลาจบสัจจะภิกษุผู้ละความเพียรดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ. แม้พระศาสดาก็ทรงตรัสเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่อกันแล้วทรงประชุมชาดกว่า วาณิชพาลในกาลนั้นได้เป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นายวาณิชผู้เป็นบัณฑิตในกาลนั้นได้เป็นเราเองทรงให้เทศนาจบลงแล้ว.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 








Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: