วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ เรียนบาลีไปทำไม ? ”

“ เรียนบาลีไปทำไม ? ”

ในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา  มีผู้สื่อข่าวหลายสำนักติดต่อมายังผู้เขียน  เพื่อขอสัมภาษณ์ว่า ภาษาบาลี คือ ภาษาอะไร  สำคัญอย่างไร พระสงฆ์ท่านเรียนบาลีไปทำไม ?

เนื่องจากคำถามนี้ ยากที่จะตอบให้จบได้ในแบบสั้นๆ  ตามเวลาของสถานีโทรทัศน์ที่มีเวลาเพียงไม่กี่นาที  ผู้เขียนจึงผัดผ่อนต่อรายการต่างๆ  ที่โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ในฐานะประเด็นร้อน

โดยบอกว่า จะขอเขียนเป็นบทความให้อ่านดีกว่า  เพราะน่าจะอธิบายได้ครบทุกแง่ทุกมุมได้มากกว่า

ดังนั้น  บทความนี้ จึงเขียนขึ้น เพื่อตอบคำถามของผู้สื่อข่าวช่องต่างๆ เป็นสำคัญ

(๑)  ภาษาบาลี 

เป็นภาษาที่รักษาไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า  ถือกันว่า เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ เป็นภาษาในตระกูลอินโดยุโรเปียน  ที่มีระบบ ระเบียบ แบบแผน ไวยากรณ์ ชัดเจน เหมือนภาษาละติน   เวลาเห็นรูปคำแต่ละคำ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า แต่ละคำทำหน้าที่อะไรในทางไวยากรณ์ เช่น เป็นคำนาม คำกริยา กริยาวิเศษณ์ กริยาช่วย หรือเป็นกรรมในประโยค ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นภาษาที่มีมาตรฐานสูง   มีระเบียบแบบแผนในการใช้คำชัดเจน ไม่อาจแปลให้ผิดเพี้ยน  บิดผันไปจากรูปของคำและประโยคที่ปรากฏได้  จึงถูกเลือกให้เป็นภาษาที่ใช้ในการ

“รักษา สืบทอด คำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด”

เพื่อให้พระธรรมคำสอนยังประโยชน์โสตถิผล  แก่ประชาคมโลกให้ยาวนานที่สุด

ภาษาบาลี

มีรูปวิเคราะห์ที่มาของคำในเชิงไวยากรณ์ว่า   “พุทฺธวจนํ  ปาเลตีติ  ปาลี =  ภาษาใดย่อมรักษาไว้  ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า เหตุนั้น ภาษานั้น ชื่อว่า บาลี  แปลว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า

(๒)  พระที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

ถือว่า สำเร็จการศึกษาสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทย  เชื่อกันมาว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ในทางพระปริยัติธรรมสูง  ควรที่จะได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสืบต่อไปในอนาคต

แต่อย่างไรก็ตาม...

การเรียนภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ตายแล้ว ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ในตัวเองเหมือนกัน  กล่าวคือ หากผู้เรียน เพียงแต่เรียนจบตามหลักสูตร ไม่ได้นำเอาทักษะด้านภาษาบาลี  ไปต่อยอดด้วยการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก อันเป็นเป้าหมายเดิมแท้ของการเรียนภาษาบาลี  ก็ยังไม่นับว่า เป็นผู้แตกฉานในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด  ความรู้ภาษาบาลีที่มีอยู่นั้นเป็นเพียง “กุญแจ”   สำหรับไขตู้พระไตรปิฎกเท่านั้น   ยังไม่ใช่ตัวพระไตรปิฎกเสียเอง  ดังนั้น หากลำพังแค่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค  แต่ไม่ได้ศึกษาลงลึกต่อไปในคัมภีร์พระไตรปิฎก   ก็ยังไม่จัดว่าเป็นศาสนทายาทชั้นนำแต่อย่างใด    เป็นได้แต่เพียงผู้มีกุญแจไขตู้พระไตรปิฎกอยู่ในมือเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้  

จึงมีอยู่เสมอที่ผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยคมาแล้ว  แต่ก็ยังคงไม่สู้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น  (เพียงแต่มีความรู้ในการแปล การใช้ ภาษาบาลีตามหลักสูตรเท่านั้น)  หรือแม้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยคมาแล้ว  แต่ความคิดความอ่านก็ยังคงคับแคบ ล้าสมัย ไม่ทันโลก  (ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเรื่องราวที่ท่านเรียนล้วนเป็นอดีต)  สีลาจารวัตร สมณสารูป ก็ยังคงไม่สงบ ไม่สง่างาม  สมกับที่ครองเพศสมณะอันประเสริฐ  หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ  ยังไม่รู้ว่า ภาษาบาลีที่ตัวเองเรียน  มีค่าแค่ไหนในวงวิชาการ  (ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาแบบเดิม  ของคณะสงฆ์ที่รอวันแก้ไขมานานแสนนาน แต่ก็ยังไม่มีใครแก้)

แต่สำหรับใครก็ตาม

ที่สำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว  รู้จักนำเอาความรู้ด้านภาษาบาลีที่ตนมี   ต่อยอดไปสู่การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก  ตลอดถึงศาสตร์สมัยใหม่ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง  พระรูปนั้น หรือคนคนนั้น (หากลาสิกขาแล้ว) ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

ทุกวันนี้   ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก  ล้วนมีการเปิดสอนภาษาบาลี สันสกฤต  โดยถือว่า   เป็นภาษาโบราณตะวันออกที่มีคุณค่าสูงยิ่งในเชิงวิชาการ  และจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาเชิงลึก  ในรอบ ๑๐๐ ปีมานี้ ชาวตะวันตกทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา  หันมาตื่นตัวศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่   และหนึ่งในสิ่งที่เขาเหล่านั้นตื่นตัวขึ้นมาศึกษาก็คือ   การหันมาศึกษาภาษาบาลี สันสกฤต กันอย่างจริงจัง  และพากันแปลคำสอนของพระพุทธเจ้าออกสู่ภาษาต่างๆ อย่างมากมาย  (ว่าเฉพาะคัมภีร์พระธรรมบทอันเป็นกวีนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าล้วนๆ  ๔๒๓ บท น่าจะแปลออกไปไม่ต่ำกว่า ๕๐ สำนวน)  จนมีพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ   และภาษาอื่นๆ กระจายไปทั่วโลก  ทั้งนี้ ก็โดยอาศัย  พระไตรปิฎกฉบับบาลีแบบเถรวาท มาเป็นรากฐานที่สำคัญ

ภาษาบาลี  จึงเป็นหลักประกันความแม่นยำและความมั่นคง  ของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้

(๓) ในเมืองไทยของเรา

มีผู้ที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค  แล้วอาศัยพื้นฐานภาษาบาลีต่อยอดไปสู่ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ  ในวงวิชาการระดับชาติและนานาชาติมากมาย   ยกตัวอย่างเช่น

๑. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)   

ที่กลายมาเป็นนักปราชญ์ฝ่ายเถรวาทที่โดดเด่นที่สุดในโลกในปัจจุบัน  ในวงวิชาการพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ  ถือว่า ท่านคือหมายเลขหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาสายเถรวาท  สร้างผลงานมาสเตอร์พีซไว้ในวงวิชาการมากมาย  เช่น  พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,  ประมวลศัพท์, กาลานุกรมพระพุทธศาสนาโลก ฯลฯ

๒.  พระพรหมบัณฑิต,ราชบัณฑิต

พระนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักบริหาร  นักปราชญ์ผู้รอบรู้พระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ผู้ฟื้นฟูการศึกษาของคณะสงฆ์ให้รุ่งเรืองและเข้มแข็งยั่งยืน  จนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย ขยายสาขา  ไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก

๓. พระมหาโพธิวงศาจารย์, ราชบัณฑิต

พระนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักนิรุกติศาสตร์  ผู้เชี่ยวชาญการแต่งฉันท์ภาษาบาลีชนิดหาตัวจับได้ยาก  มีอัจฉริยภาพพิเศษในการอรรถาธิบายหลักภาษาบาลี  ผลิตพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนาไว้มากมายหลายเล่ม  เป็นคุณูปการแก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง

๔. เสฐียรพงษ์ วรรณปก อดีตสามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค  

จบเปรียญธรรม​ ๙ ประโยค แล้ว ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  สหราชอาณาจักร ต่อมาลาสิกขา กลายเป็นนักคิด นักเขียน กวี  นักแปล นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ  เป็นแบบอย่างของชาวพุทธผู้รักพระพุทธศาสนา

๕. อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ 

ผู้เขียนพระไตรปิฎก ฉบับประชาชน  คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา  ต้นแบบแห่งธรรมนิยายอิงหลักธรรมอันลือลั่นหลายเรื่อง  ผู้ร่วมก่อร่างสร้างฐานมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  มีผลงานทางวิชาการมากมายให้เอ่ยอ้างมาจนถึงปัจจุบัน

๖. ศ.ดร.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต 

อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน  อดีตสมาชิกวุฒิสภา นักคิด นักเขียน  นักภาษาศาสตร์ นักตรรกศาสตร์  ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย   นักทำพจนานุกรม  และนักบัญญัติศัพท์คนสำคัญของไทย

๗. นาวาเอกทองย้อย  แสงสินชัย 

นักเขียน นักปราชญ์ กวี นักภาษาศาสตร์  และนักวิชาการพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับชาติ  รัตนกวีผู้รจนากาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี  ที่แสนไพเราะเพราะพริ้งที่ว่า

 “วังทิพย์คือท้องทุ่ง          ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน

 ร้อนหนาวในราวเนิน        มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์

         ย่างพระบาทที่ยาตรา       ยาวรอบหล้าฟ้าสากล

 พระเสโทที่ถั่งท้น                     ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย”

๘. ศ.ดร.บรรณจบ บรรณรุจิ,ราชบัณฑิต

นักคิด นักเขียน นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา  ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี สร้างผลงานทางวิชาการไว้มากมาย  เป็นชาวพุทธชั้นนำผู้กล้าหยัดยืนพิทักษ์พระพุทธศาสนา เพียรฟื้นฟูการศึกษาภาษาบาลีให้ผู้ศึกษาสามารถนำมา สื่อสารสนทนาได้ในชีวิตประจำวัน

๙. ศ.ดร.อุทิศ ศิริวรรณ

นักคิด นักเขียน นักวิชาการ  นักนิรุกติศาสตร์ผู้เป็นนักผลิตตำรา  ให้แก่วงการศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทย  จนกล่าวได้ว่าพระหนุ่มสามเณรน้อยในเมืองไทย  ในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ล้วนใช้ตำราของท่านทั้งสิ้น ในการศึกษาภาษาบาลีตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน  จนถึงชั้นสูงสุด (ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น)  ปัจจุบันท่านกำลังอุทิศตนทำงานใหญ่ในระดับโลก  คือ การผลิตพจนานุกรมภาษาบาลี  สำหรับการสืบค้นพระไตรปิฎกโดยตรง

ผลงานทางปัญญาและวิชาการ  ที่ได้อาศัยพื้นภูมิภาษาบาลีมาเป็นฐาน  รวมทั้งศักยภาพในการบริหารจัดการ, การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก  ของนักคิด นักเขียน นักวิชาการ  นักปราชญ์เท่าที่กล่าวนามมานี้  คงพอจะการันตีได้บ้างกระมังว่า  ภาษาบาลีมีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนา  และต่อการยังประโยชน์แก่ประชาคมโลก  ได้มากน้อยเพียงไร

(๔)  ภาษาบาลี (รวมทั้งสันสกฤต)

เป็นรากฐานของภาษาไทย ที่เราชาวไทยรับมาใช้  พร้อมๆ กับที่รับเอาพระพุทธศาสนามาสู่ประเทศไทย  ทำให้ภาษาไทยกลายเป็นภาษาที่รุ่มรวยด้วยถ้อยคำมากมาย  หยิบมาใช้กันได้อย่างเพริศแพร้วพรรณราย  หันมองไปทางไหน   ก็มีแต่ภาษาบาลีแทรกปนอยู่ในภาษาไทย  ไปเสียทุกหนทุกแห่งทุกวงการก็ว่าได้

ตัวอย่างง่ายๆ คำไทยต่อไปนี้ที่เราคุ้นเคยกันดี

๑. รัฐบาล   ๒. ตึก “สันติไมตรี”   ๓. นายกรัฐมนตรี  ๔. รัฐธรรมนูญ  ๕. รัฐมนตรี  ๖. โฆษก  ๗. วุฒิสมาชิก  ๘. สัปปายสภาสถาน  ๙. ประยุทธ จันทร์โอชา (บาลี ปน สันสกฤต)  ๑๐. ทักษิณ ชินวัตร  ๑๑. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ๑๒. ธนาธร   ๑๓. ปิยบุตร  ๑๔. พัชราภา (น้องอั้ม)  ๑๕. ธนวรรธน์ (โป๊ป) ฯลฯ  ๑๖. วิทยุ  ๑๗. โทรทัศน์  ๑๘. โทรศัพท์   ๑๙. ชาตะ มรณะ สุคติ สุขภาพ โรงพยาบาล อนามัย เวชภัณฑ์  ๒๐. ธรรมศาสตร์ มหิดล จุฬาลงกรณ์ เกษตรศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช ฯลฯ

ชื่อของสถานที่สำคัญ  ถ้อยคำสำคัญทางการเมือง  นักการเมือง ดารา ที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ข้าวของ ถ้อยคำ ในชีวิตประจำวัน  มหาวิทยาลัยสำคัญของประเทศ  ล้วนแล้วแต่มีรากศัพท์เป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว   ลองย้อนมองดูชื่อและนามสกุลของเราแต่ละคนดูสิ   มีชื่อ นามสกุลของใครบ้าง ที่เป็นคำไทยแท้ๆ  เกือบร้อยทั้งร้อยของชื่อและนามสกุลคนไทยในยามน้ี  ล้วนแล้วแต่ผสมผสานด้วยภาษาบาลี สันสกฤตแทบทั้งนั้น

รู้อย่างนี้แล้ว  ก็น่าจะพอตอบได้ว่า   ภาษาบาลีนั้นสำคัญอย่างไร  และที่พระสงฆ์ท่านเรียนบาลีนั้น   ท่านเรียนสิ่งที่สำคัญมากน้อยเพียงไร   มันไร้ค่าล้าสมัยไปแล้ว  หรือว่ามันยังคงมีคุณค่าอย่างสูงยิ่งแม้ในปัจจุบัน ?

(ว.วชิรเมธี)

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔

(๓ สมเด็จ ๓ เปรียญธรรม ๙ ประโยค,พบสมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒,

จากซ้าย-ปัจจุบันคือ-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต),สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์,และอดีต-สมเด็จพระพุฒาจารย์)

Credit: พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี 

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: