สังฆโสภณ (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม)
(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๒)
บทที่ ๒ นานาปญฺหาพฺยากรณกถา (ว่าด้วยการตอบปัญหาเป็นประการต่างๆ)
เมื่อพระสารีบุตรเถระถามพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
(ทรรศนะของพระอานนท์)
พระอานนทเถระเป็นพระผู้ใหญ่ปรากฏมีชื่อเสียงดังพระเถระ (อื่นๆ) ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอานนท์เป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้เป็นพหูสูตของเรา”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ และแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสายเพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
(ทรรศนะของพระเรวตะ)
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
พระเรวตะนั้นก็เป็นพระผู้ใหญ่ปรากฏเหมือนพระเถระผู้มีชื่อเสียง ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น อนึ่ง ควรทราบความที่พระเถระนั้นเป็นใหญ่ในการบวช จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกังขาเรวตะเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้ได้ฌานของเรา”
ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
(ทรรศนะของพระอนุรุทธะ)
เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะ ท่านเรวตะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ เราขอถามท่านอนุรุทธะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
แม้พระอนุรุทธะเป็นพระผู้ใหญ่ปรากฏ เหมือนพระเถระมีชื่อเสียงด้วยศีลาทิคุณ จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอนุรุทธะเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้มีทิพยจักษุของเรา”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโอ่อ่าชั้นบน จะพึงมองดูวงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
(พรุ่งนี้อ่านต่อ ซึ่งพระมหาเถระทั้งหลายเหล่าอื่นจะมีทรรศนะเช่นไรอีก)
สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
26/10/64
สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (1), สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (2), สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (3), สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4), สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)
0 comments: