วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)

สังฆโสภณ  (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม)

(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๕ บทสรูป)

บทที่ ๕ เตสํ เถรานํ วจนสฺส สุภาสิตภาวกถา (ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงรับรองคำของพระเถระเหล่านั้นว่าเป็นสุภาษิต)

ดังพระพุทธพจน์ว่า  

“เอวํ  วุตฺเต  อายสฺมา  สารีปุตฺโต  ภควนฺตํ  เอตทโวจ   “กสฺส   นุ  โข  ภนฺเต  สุภาสิตนฺติ  ฯ   “สพฺเพสํ  โว  สารีปุตฺต  สุภาสิตนฺติ”  ฯ  

แปลว่า  “เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า” ฯ  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิต” ดังนี้ 

เพราะฉะนั้น ข้อสรูปในบทที่ ๕ นี้ คือ ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงามนั้น ต้องประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ

๑. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นพหูสูต คือเป็นผู้คงแก่เรียน, เป็นผู้ทรงสุตะ คือทรงจำพระธรรมคำสั่งสอนไว้ได้, เป็นผู้สั่งสมสุตะ คือเรียนพระพุทธพจน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถศึกษาเล่าเรียนได้ นี้เป็นทรรศนะของพระอานนท์เถระ

๒. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ยินดีในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน หมั่นประกอบวิปัสสนาเนืองนิตย์  นี้เป็นทรรศนะของพระเรวตเถระ

๓. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ คือ ความฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ดังคำว่า “ตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”  นี้เป็นทรรศนะของพระอนุรุทธเถระ

๔. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในทางปฏิบัติ มิใช่เพียงสอนสั่งเท่านั้น ดังคำว่า  “ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร” ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นทรรศนะของพระมหากัสสปเถระ

๕. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นพระธรรมกถึก สามารถกล่าวอภิธรรมกถาอันเป็นธรรมที่สุขุมละเอียดอ่อนในพระบวรพุทธศาสนาได้ คือ ต้องศึกษาเล่าเรียนจนจบถึงพระอภิธรรมปิฎกให้ได้ด้วยตนเองและสามารถสอนผู้อื่นสืบต่อได้ด้วย  นี้เป็นทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานเถระ (ข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ แต่ท่านสรรเสริญคุณแห่งการศึกษา มิได้สรรเสริญการแสดงฤทธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าก็เคยตรัสว่าการแสดงฤทธิ์ไม่สามารถทรงพระศาสนาของพระองค์ให้ยืนนานได้)

๖. ภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต คือ รู้จักสละปล่อยวาง อยู่ด้วยวิหารสมาบัติมีเมตตากรุณาเป็นอาทิ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่ทั้งที่เป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ นี้เป็นทรรศนะของพระสารีบุตรเถระ

และ ๗. พระพุทธองค์ตรัสเพิ่มเติมด้วยพระองค์เองว่า “แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าว่า ‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ) ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

เพราะฉะนั้น บทสรูปในพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า คือภิกษุผู้จะเป็นสังฆโสภณได้ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร ตนยังไม่อยู่จบพรหมจรรย์ตราบใด ต้องมีความเพียรหมั่นบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ได้ตราบเท่าชีวิตจะสิ้นไปตราบนั้นนั่นเอง

(สงฺฆโสภณกถา จบบริบูรณ์ ขออนุโมทนาที่อ่าน)

สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร, พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ),  29/10/64

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (1),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (2),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (3),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)

ภาพ :  วัดพุทธพรหมปัญโญ-วัดถ้ำเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

File Photo:  Wat Thum Muang Na which is now also known as Wat Phuttha Phrom Panyo, Chiang Dao District, Chiang Mai Province, in Northern Thailand.


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: