วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ปปัญจสัญญาเป็นเหตุก่อกรรมเวร”

“ปปัญจสัญญาเป็นเหตุก่อกรรมเวร”

การถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จต่อกันและกันแห่งชนทั้งหลาย เกิดจากแง่ต่างๆ แห่งสัญญาคือความจำได้หมายรู้อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า ๓ ประการ

ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า ๓ ประการ คือ 

๑. ตัณหา  คือความทะยานอยาก

๒. มานะ  คือความถือตัว

๓. ทิฏฐิ  คือความเห็นผิด หรือการดื้อดึงในความเห็น

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้

สัญญานั้นมีแง่ต่างๆ อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้าทั้ง ๓ ประการเหล่านั้น ดังเช่น

๑. จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์  ๒. ความประจวบกันแห่งธรรมทั้ง ๓ (คือวิญญาณ ๑ จักขุปสาท ๑ รูปารมณ์ ๑) จัดเป็นผัสสะ    

๓. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด    ๔. บุคคลเสวยอารมณ์ใด ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น (เกิดสัญญา)  

๕. บุคคลหมายรู้อารมณ์ใด ย่อมตรึกอารมณ์นั้น   ๖. บุคคลตรึกอารมณ์ใด ย่อมคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้น

๗. บุคคลคิดปรุงแต่งอารมณ์ใด เพราะความคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้นเป็นเหตุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษ ในรูปทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งทางตาทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน 

โสตวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ ฯลฯ   ฆานวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ ฯลฯ  

ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ ฯลฯ   กายวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ   

มโนวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ ฯลฯ

ดังนั้น

๑. เมื่อมีจักขุ มีรูปารมณ์ และมีจักขุวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติผัสสะ  

๒. เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติเวทนา

๓. เมื่อมีการบัญญัติเวทนา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติสัญญา  

๔. เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติวิตก (ความตรึก)

๕. เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา

(เมื่อมีบัญญัติ ความความทะยานอยาก ความถือตัว การดื้อดึงในความเห็น ก็เกิดขึ้นเข้าครอบงำบุคคลนั้น)

เพราะฉะนั้น สัญญาคือความจำได้หมายรู้อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า ๓ ประการคือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จต่อกันและกันแห่งชนทั้งหลาย

สาระธรรมจากมธุปิณฑิกสูตร และอรรถกถามธุปิณฑิกสูตร ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

17/10/64







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: