วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ

กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ

"ปุตฺโต  ตฺยาหํ  มหาราช,     ตฺวํ  มํ  โปส  ชนาธิป;

อญฺเญปิ  เทโว  โปเสติ,     กิญฺจ [1]  เทโว  สกํ  ปชนฺติ ฯ

ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์, ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระบาทไว้, แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้, ไฉนจะไม่ทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?"

1) [กิญฺจิ (ก.)]

กัฏฐหาริชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหารทรงปรารภพระนางวาสภขัตติยา จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  ปุตฺโต  ตฺยาหํ  มหาราช  ดังนี้.

เรื่องพระนางวาสภขัตติยา จักมีแจ้งใน ภัททสาลชาดก ทวาทสนิบาต. 

ได้ยินว่า พระนางวาสภขัตติยานั้น เป็นพระธิดาของเจ้าศากยะมหานาม ประสูติ ในครรภ์ของทาสีชื่อว่านาคมณฑา (ต่อมา )ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศล พระนางประสูติพระราชโอรส. ก็ภายหลัง พระราชาทรงทราบว่า พระนางเป็นทาสีจึงทรงปลดจากตำแหน่ง แม้วิฑูฑภะผู้เป็นพระโอรสก็ถูกปลดจากตำแหน่งเหมือนกัน. แม่ลูกแม้ทั้งสองก็ตั้งอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์นั่นแล.

พระศาสดาทรงทราบเหตุนั้น ครั้นในเวลาเย็นทรงห้อม ล้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระราชา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้วตรัสว่า „พระนางวาสภขัตติยาประทับอยู่ที่ไหน?“.  พระราชาจึงกราบทูลเหตุนั้น ให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสถามว่า „มหาบพิตร พระนางวาสภขัตติยาเป็นธิดาของใคร ? พระราชาทูลว่า „เป็นธิดาของเจ้ามหานามพระเจ้าข้า“. 

พระศาสดาตรัสถามว่า „เมื่อพระนางวาสภขัตติยาเสด็จมา เสด็จมาแล้วเพื่อใคร?“ พระราชาทูลว่า „เพื่อหม่อมฉัน พระเจ้าข้า“ พระศาสดาตรัสว่า „มหาบพิตร พระนางวาสภขัตติยานี้ เป็นธิดาของพระราชาและมาเพื่อพระราชา เพราะอาศัยพระราชานั่นแหละ จึงได้พระโอรส เพราะเหตุไร? พระโอรสนั้น จึงไม่ได้เป็นเจ้าของราชสมบัติอันเป็นของมีอยู่ของพระราชบิดา,  พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนได้พระโอรสในครรภ์ของหญิงหาฟืน ผู้เป็นภรรยาชั่วคราว ก็ยังได้พระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรส“.  พระราชาทรงขอพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดไว้ ให้ปรากฏแล้ว. 

ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าพรหมทัต ในกรุงพาราณสีเสด็จไปพระราชอุทยานด้วยพระยศใหญ่ เสด็จเที่ยวไปในพระราชอุทยานนั้นเพราะทรงยินดีดอกไม้และผลไม้ทรงเห็นหญิงผู้หนึ่งผู้ขับเพลงไปพลางตัดฟืนไปพลางในป่าชัฎในพระราชอุทยานทรงมีจิตปฏิพัทธ์จึงทรงสำเร็จการอยู่ร่วมกัน ในขณะนั้นเอง #พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในครรภ์ของหญิงนั้น ทันใดนั้น ครรภ์นางได้หนักอึ้งเหมือนเต็มด้วยเพชร. นางรู้ว่าตั้งครรภ์จึงกราบทูลว่า „ข้าแค่สมมติเทพ หม่อมฉันตั้งครรภ์แล้ว เพคะ“.

พระราชาได้ประทานพระธำมรงค์แล้วตรัสว่า „ถ้าเป็นธิดาเจ้าจงจำหน่ายแหวนเลี้ยงดู ถ้าเป็นบุตร เจ้าจงนำมายังสำนักของเราพร้อมกับแหวน“ ครั้นตรัสแล้วจึงเสด็จหลีกไป.   ฝ่ายหญิงนั้นมีครรภ์แก่แล้วก็ตลอดพระโพธิสัตว์. ในเวลาที่พระโพธิสัตว์นั้นแล่นอยู่ในสนามเล่น. มีคนกล่าวอย่างนี้ว่า „พวกเราถูกคนไม่มีพ่อ ทุบตีแล้ว“.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงไปหามารดาถามว่า „แม่จ๋า ใครเป็นพ่อของหนู ?“ มารดากล่าวว่า „ลูกเอ๋ย เจ้าเป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี“, พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ก็พยานอะไร ๆมีอยู่หรือจะแม่“. มารดากล่าวว่า „ลูกเอ๋ย พระราชาประทานแหวนนี้ไว้“, แล้วตรัสว่า „ถ้าเป็นธิดา พึงจำหน่ายเลี้ยงดูกัน, ถ้าเป็นบุตร พึงพามาพร้อมกับแหวนนี้“  ดังนี้แล้วก็เสด็จไป.  

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „แม่จ๋า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร? แม่จึงไม่นำฉันไปยังสำนักของพระบิดา“.  นางรู้อัธยาศัยของบุตร จึงไปยังประตูพระราชวังให้คนกราบทูลแก่พระราชาให้ทรงทราบและเป็นผู้อันพระราชารับสั่งให้เข้าเฝ้า จึงเข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ผู้นี้เป็นโอรสของพระองค์“, 

พระราชาแม้ทรงทราบอยู่ ก็เพราะทรงละอายในท่ามกลางบริษัทจึงตรัสว่า „ไม่ใช่บุตรของเรา“. หญิงนั้นกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ! นี้พระธำมรงค์ของพระองค์ พระองค์คงจะทรงจำพระธำมรงค์นี้ได้“.

พระราชาตรัสว่า „แม้พระธำมรงค์นี้ก็ไม่ใช่ธำมรงค์ของเรา“.   หญิงนั้นกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ ! บัดนี้ เว้นสัจกิริยาเสียคนอื่นผู้จะเป็นสักขีพยานของกระหม่อมฉันย่อมไม่มี, ถ้าทารกนี้ เกิดเพราะอาศัยพระองค์ อันกระหม่อมฉันเหวียงขึ้นไปแล้ว จงอยู่ในอากาศ, ถ้าไม่ได้อาศัยพระองค์เกิด จงตกลงมาตายบนภาคพื้นดิน“ แล้วจับเท้าทั้งสองของพระโพธิสัตว์เหวี่ยงไปในอากาศ.  พระโพธิสัตว์นั่งคู้บัลลังก์ในอากาศ เมื่อจะกล่าวธรรมะแก่พระบิดาด้วยเสียงอันไพเราะ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

„ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์, ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระบาทไว้, แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้, ไฉนจะในทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  ปุตฺโต  ตฺยาหํ  ตัดบทเป็น  ปุตฺโต  เต  อหํ  แปลว่า ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์. ก็ชื่อว่าบุตรนี้มี ๔ ประเภท คือ บุตรผู้เกิดในตน ๑ บุตรผู้เกิดในเขต ๑. อันเตวาสิกลูกศิษย์ ๑ และบุตรเขาให้ ๑. บรรดาบุตร ๔ ประเภทนั้น บุตรผู้อาศัยคนเกิดชื่อว่าบุตรผู้เกิดในตน. บุตรผู้เกิดในที่ทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ บนหลังที่นอน บนบัลลังก์และที่อกชื่อว่าบุตรผู้เกิดในเขต. บุคคลผู้เรียนศิลปศาสตร์ในสำนักชื่อว่าลูกศิษย์. บุตรที่เขาให้มาเลี้ยงชื่อว่าบุตรที่เขาให้ คือ บุตรบุญธรรม. แต่ในที่นี้ท่านหมายเอาบุตรที่เกิดในตน จึงกล่าวว่า บุตร. ที่ชื่อว่าพระราชา เพราะทำชนให้ยินดี ด้วยสังคหวัตถุ ๔.

พระราชาผู้ใหญ่ชื่อว่ามหาราชา พระโพธิสัตว์เมื่อจะตรัสเรียกพระราชานั้น จึงตรัสว่า มหาราช ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่. 

บทว่า  ตฺวํ  มํ  โปส  ชนาธิป  ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มหาชน พระองค์จงชุบเลี้ยง คือ จงเลี้ยงดูข้าพระบาทอยู่เถิด.   บทว่า  อญฺเญปิ  เทโว  โปเสติ  ความว่า ชนเป็นอันมากเหล่าอื่นได้แก่ พวกมนุษย์ผู้เลี้ยงช้างเป็นต้นและสัตว์ดิรัจฉานมีช้างและม้าเป็นต้น พระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้. ก็ศัพท์ว่า กิญฺจ ในบทว่า กิญฺจ เทโว สกํ ปชํ นี้ เป็นศัพท์นิบาตใช้ในความหมายว่า ติเตียนและความหมายว่า อนุเคราะห์.

พระโพธิสัตว์ทรงโอวาทว่า „ประชาชนของพระองค์ คือข้าพระบาทผู้เป็นโอรสของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงชุบเลี้ยง ดังนี้ชื่อว่าย่อมติเตียน. เมื่อตรัสว่า คนอื่นเป็นอันมาก พระองค์ทรงชุบเลี้ยงได้ดังนี้ชื่อว่าย่อมอนุเคราะห์ช่วยเหลือ. ดังนั้นพระโพธิสัตว์แม้เมื่อจะทรงติเตียนจึงตรัสว่า „ไฉนจะไม่ทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระองค์เล่า“. เมื่อพระโพธิสัตว์ประทับนั่งในอากาศทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ พระราชาได้ทรงสดับแล้วจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า „จงมาเถิดพ่อ เราแหละจักชุบเลี้ยงเจ้า“. 

มีมือตั้งพันเหยียดมาแล้ว พระโพธิสัตว์ไม่ลงในมือคนอื่น ลงในพระหัตถ์ของพระราชาเท่านั้นแล้วประทับนั่งบนพระเพลา พระราชาทรงประทานความเป็นอุปราชแก่พระโพธิสัตว์นั้นแล้วได้ทรงตั้งมารดาให้เป็นอัครมเหสี. เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว พระโพธิสัตว์นั้นได้เป็นพระราชาพระนานว่า กัฏฐวาหนะ เครื่องราชสมบัติ โดยธรรมได้เสด็จไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาทรงแสดงแก่พระเจ้าโกศลแล้วทรงแสดงเรื่อง ๒ เรื่องสืบต่ออนุสนธิแล้วทรงประชุมชาดกว่า พระมารดาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระมหามายาเทวี พระบิดาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ส่วนพระเจ้ากัฏฐวาหนราชในครั้งนั้นได้เป็นเราเองแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: