วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (3)

สังฆโสภณ (ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม) 

(วันนี้นำเสนอเป็นบทที่ ๓ )

บทที่ ๒ มหากสฺสปตฺเถรปญฺหาพฺยากรณกถา (ว่าด้วยการตอบปัญหาของพระมหากัสสปเถระ)

เมื่อพระสารีบุตรเถระถามพระอานนท์ พระเรวตะ พระอนุรุทธะว่า “ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร” พระเถระเหล่านั้นได้ตอบแล้วตามทรรศนะของตนๆ ต่อไปนี้เป็นคำถามพระมหากัสสปเถระ

(ทรรศนะของพระมหากัสสปะ)

เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ ท่านอนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ เราขอถามท่านกัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านกัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

พระมหากัสสปะก็เป็นพระผู้ใหญ่ปรากฏมีชื่อเสียงเหมือนพระเถระ (อื่นๆ) ด้วยศีลาทิคุณ จริงอยู่ ในเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหากัสสปะเป็นยอดแห่งภิกษุสาวกผู้ทรงธุดงค์ของเรา”

ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ 

๑. ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร 

๒. ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

๓. ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

๔. ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร 

๕. ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย

๖. ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ 

๗. ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด 

๘. ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี

๙. ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร

๑๐. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

๑๑. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ

๑๒. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา

๑๓. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ

๑๔. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ

ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

เพราะฉะนั้น ข้อสรูปในบทที่ ๓ นี้ คือ ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้น้อย จึงจะชื่อว่า “ผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม”

(พรุ่งนี้อ่านต่อ ซึ่งพระมหาเถระทั้งหลายเหล่าอื่นจะมีทรรศนะเช่นไรอีก)

สาระธรรมจากมหาโคสิงคสูตร

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

27/10/64

สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (1),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (2),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (3),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (4),  สังฆโสภณ - ภิกษุผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม (5)






Previous Post
Next Post

0 comments: