วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระสัพพัญญุตญาณเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่)

พระสัพพัญญุตญาณเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่)

มีคำปุจฉาว่า “ญาณสาคร เป็นไฉน ?”  มีคำตอบว่า “พระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าญาณสาคร”

ท่านอรรถาธิบายไว้ว่า “จริงอยู่ ญาณอื่นๆ ไม่อาจเพื่อจะรู้สาครนั้นว่า “นี้ชื่อว่าสังสารสาคร นี้ชื่อว่าชลสาคร นี้ชื่อว่านยสาคร แต่พระสัพพัญญุตญาณเท่านั้นอาจเพื่อรู้ได้ เพราะฉะนั้น พระสัพพัญญุตญาณ จึงชื่อว่าญาณสาคร” 

พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สัพพัญญูเท่านั้น ย่อมแทงตลอดนัยสาคร (พระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก จัดเป็นนัยสาคร)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ทรงแทงตลอดนัยสาครนี้ เมื่อทรงพิจารณาธรรมที่พระองค์แทงตลอดแล้ว ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียวตลอดสัปดาห์ว่า “เมื่อเราเสาะแสวงหาธรรมนี้หนอ ล่วงไปถึง ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัป ภายหลังเรานั่ง ณ บัลลังก์นี้ จึงยังกิเลส ๑,๕๐๐ ให้สิ้นไปแล้วแทงตลอดได้” ดังนี้  ลำดับนั้น จึงเสด็จลุกขึ้นจากบัลลังก์ ประทับยืนแลดูบัลลังก์ตลอดสัปดาห์ ด้วยพระเนตรอันไม่กระพริบ ด้วยพระดำริว่า “พระสัพพัญญุตญาณ เราแทงตลอดแล้ว ณ บัลลังก์นี้หนอ” ดังนี้

ลำดับนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายมีความปริวิตกเกิดขึ้นว่า “แม้ในวันนี้ พระสิทธัตถะพึงทำกิจที่ควรทำเป็นแน่ จึงยังไม่ละความอาลัยในบัลลังก์” ดังนี้ พระศาสดาทรงทราบวิตกของเทวดาทั้งหลาย เพื่อจะยังวิตกของเทวดาเหล่านั้นให้สงบ จึงเหาะขึ้นสู่เวหาสแสดงยมกปาฏิหาริย์

จริงอยู่ ปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงทำที่มหาโพธิบัลลังก์ก็ดี ที่สมาคมแห่งพระญาติก็ดี ที่สมาคมปาฏลีบุตรก็ดี ทั้งหมดได้เป็นเช่นกับยมกปาฏิหาริย์ ที่ทำที่ควงไม้คัณฑามพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) นั่นแหละ ครั้นทรงทำปาฏิหาริย์อย่างนี้แล้ว จึงเสด็จลงจากอากาศแล้วเสด็จจงกรมตลอดสัปดาห์ ในระหว่างแห่งบัลลังก์และสถานที่อันพระองค์ประทับยืนอยู่แล้ว ก็ใน ๒๑ วันเหล่านี้ แม้วันหนึ่ง รัศมีทั้งหลายมิได้ออกจากสรีระของพระศาสดา แต่ในสัปดาห์ที่ ๔ ทรงประทับนั่งในเรือนแก้วในทิศพายัพ ชื่อว่า เรือนแก้ว มิใช่เรือนที่สำเร็จด้วยรัตนะ แต่บัณฑิตพึงทราบสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ ว่าเป็นเรือนแก้ว

บรรดาปกรณ์ทั้ง ๗ นั้น แม้เมื่อทรงพิจารณาธรรมสังคณี รัศมีทั้งหลายก็ไม่ซ่านออกไปจากพระสรีระ เมื่อพิจารณาวิภังคปกรณ์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุปกรณ์และยมกปกรณ์ รัศมีทั้งหลายก็มิได้ซ่านออกไปจากพระสรีระ แต่เมื่อใด ก้าวลงสู่มหาปกรณ์เริ่มพิจารณาว่า  เหตุปจฺจโย  อารมฺมณปจฺจโย  ฯเปฯ  อวิคตปจฺจโย  ดังนี้  เมื่อนั้น สัพพัญญุตญาณโดยความเป็นอันเดียวกัน ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พิจารณาสมันตปัฏฐาน ๒๔ ประการ ย่อมได้โอกาส (ช่อง) ในมหาปกรณ์นั่นแหละ เปรียบเหมือน ปลาใหญ่ ชื่อว่าติมิรปิงคละ ย่อมได้โอกาสโดยความเป็นอันเดียวกันในมหาสมุทรอันลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์นั่นแหละฉันใด พระสัพพัญญุตญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้โอกาสในมหาปกรณ์ โดยความเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ ดังนี้.

เพราะฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่งญาณสาครของพระพุทธองค์จึงทำให้พระฉัพพรรณรังสี (พระรัศมี ๖ ประการ คือ ๑.นีละ (สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน)  ๒.ปีตะ (สีเหลืองเหมือนหรดาล)  ๓.โลหิตะ (สีแดงเหมือนตะวันอ่อน)  ๔.โอทาตะ (สีขาวเหมือนแผ่นเงิน) ๕.มัญเชฏฐะ (สีหงสบาทเหมือนดอกหงอนไก่) ๖.ประภัสสร (สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) ซ่านออกจากพระพุทธสรีระ.

สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณี ชื่ออัฏฐสาลินี

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

24/10/64

สาคร คือ ทะเล,  พระไตรปิฎกเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่),  พระสัพพัญญุตญาณเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่)






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: