วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สาคร คือทะเล

สาคร คือทะเล

สาคร (ทะเล) มี ๔ ประการ คือ

๑. สังสารสาคร (สาคร คือ สงสาร ได้แก่การเวียนว่ายตายเกิด)

๒. ชลสาคร (สาคร คือ น้ำมหาสมุทร ได้แก่ทะเลใหญ่)

๓. นยสาคร (สาคร คือ นัย ได้แก่ข้อสำคัญ)

๔. ญาณสาคร (สาคร คือ พระญาณ ได้แก่สัพพัญญุตญาณ)

บรรดาสาครทั้ง ๔ นั้น ชื่อว่า สังสารสาคร คือ สังสารวัฏที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า

ขนฺธานญฺจ  ปฏิปาฏิ       ธาตุอายตนานญฺจ

อพฺโภจฺฉินฺนํ  วตฺตมานา    สํสาโรติ  ปวุจฺจติ  ฯ

แปลว่า “ลำดับแห่งขันธ์ธาตุและอายตนะ ซึ่งกำลังเป็นไปไม่ขาดสาย ท่านเรียกว่า สงสาร” ฯ

๑. สงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิด ชื่อว่าสาคร เพราะเหตุที่เงื่อนเบื้องต้นของความเกิดขึ้นแห่งสัตว์เหล่านี้ย่อมไม่ปรากฏ คือไม่มีกำหนดว่า “สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วในที่สุดเพียงร้อยปีเท่านั้น เพียงพันปีเท่านั้น เพียงแสนปีเท่านั้น เพียงร้อยกัปเท่านั้น เพียงพันกัปเท่านั้น เพียงแสนกัปเท่านั้น ในกาลก่อนแต่นี้ มิได้มีเลย ดังนี้”  หรือว่า “สัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในกาลแห่งพระราชาพระนามโน้น ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามโน้น ในกาลก่อนแต่นั้นไม่มีเลย ดังนี้” 

แต่ว่า มีโดยนัยนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนเบื้องต้นแห่งอวิชชาไม่ปรากฏ, ในกาลก่อนแต่นี้อวิชชาไม่มี, แต่ภายหลังจึงมี ดังนี้”

(เพราะเหตุนั้น) การกำหนดเงื่อนมีในเบื้องต้นและที่สุดที่บุคคลรู้ไม่ได้นี้ ชื่อว่า “สังสารสาคร”

๒. มหาสมุทร คือ ทะเลใหญ่ ชื่อชลสาคร มหาสมุทรนั้นลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ขึ้นชื่อว่า การประมาณน้ำในมหาสมุทรนั้นว่ามีเท่านี้ คือ มีน้ำร้อยอาฬหกะ (อาฬหกะ เป็นชื่อมาตราตวงในภาษาบาลี คือ ๔ ทะนาน เท่ากับ ๑ อาฬหกะ) มีน้ำพันอาฬหกะ หรือมีน้ำแสนอาฬหกะไม่ได้เลย โดยที่แท้ห้วงมหาสมุทรนั้น ย่อมปรากฏว่า ใครๆ พึงนับไม่ได้ พึงประมาณไม่ได้ ย่อมถึงการนับว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่โดยแท้ นี้ชื่อว่าชลสาคร (สาครคือน้ำทะเล)

(พรุ่งนี้อ่านพระธรรมวินัยเปรียบด้วยสาคร)

สาระธรรมจากอรรถกถาธรรมสังคณี ชื่ออัฏฐสาลินี

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

22/10/64

สาคร คือ ทะเล,  พระไตรปิฎกเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่),  พระสัพพัญญุตญาณเป็นดังสาคร (ทะเลใหญ่)





Related Posts

  • ผู้ที่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานนี้ว่า  “ผู้ใดพึงเข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อว่า   “ถ้าในอดีต กรรมกิเลสไม่พึงมีแก่เรา  ในปัจจุบัน  อั… Continue Reading
  • “ขอให้ไปดีมาดี หรืออยู่ก็ดี”“ขอให้ไปดีมาดี หรืออยู่ก็ดี”ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา แด่พระตถาคตเจ้า ดังนี้ว่า “ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกั… Continue Reading
  • “อวิชชา” คืออะไร? “อวิชชา” คืออะไร?   “อวิชชา” มิใช่ความโง่เขลาทั่วๆไป“พระพุทธองค์ตรัสว่า “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ “อริยสัจ ๔” ได้แก่ ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ เหตุเกิดของท… Continue Reading
  • โรคร้าย ๓ ชนิด คือโรคร้าย ๓ ชนิด คือ๑. โรคความอยาก (อิจฺฉา)  ๒. โรคความหิว (อนสนํ)  ๓. โรคชรา (ชรา)เพราะฉะนั้น คำว่า “โรค” หมายถึง ความอยาก ๑ ความอดอยาก ๑ ความทรุดโทรม … Continue Reading
  • ความเร่าร้อนเกิดจากเหตุ ๔ ประการ คือความเร่าร้อนเกิดจากเหตุ ๔ ประการ คือ๑. ตราบใดที่เรายังต้องเดินทางไกลอยู่ ตราบนั้นเรายังต้องประสบกับความเร่าร้อนอยู่  ทางไกลนั้นมี ๒ อย่าง คือ ๑. ทางไกลอันก… Continue Reading

0 comments: