วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต

มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต   [1)]

"อุตฺตมงฺครุหา  มยฺหํ,     อิเม  ชาตา  วโยหรา;

ปาตุภูตา  เทวทูตา,     ปพฺพชฺชาสมโย  มมาติ ฯ 

ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้ เกิดขึ้นนำเอาวัยไปเสีย, เทวทูตปรากฏแล้วบัดนี้ เป็นสมัยบรรพชาของเรา"

[มขาเทว (สี. ปี.), เทวทูต (ก.)]

มฆเทวชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหารทรงปรารภการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  อุตฺตมงฺครุหามยฺหํ  ดังนี้. 

การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์นั้นได้กล่าวไว้แล้วในนิทานกถาในหนหลังนั้นแล. ก็ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งพรรณนาการเสด็จออกบรรพชาของพระทศพล.

ลำดับนั้น พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ? „ 

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายมิได้นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอย่างอื่น แต่นั่งพรรณนาการเสด็จออกบรรพชาของพระองค์เท่านั้น“.

 พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตออกเนกขัมมะในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ , แม้ในกาลก่อนก็ได้ออกเนกขัมมะแล้วเหมือนกัน“ ภิกษุทั้งหลายจึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพปกปิดให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ในกรุงมิถิลา วิเทหรัฐได้มีพระราชาพระนามว่ามฆเทวะ เป็นพระมหาธรรมราชาผู้ดำรงอยู่ในธรรม พระเจ้ามฆเทวะนั้นทรงให้กาลเวลาอันยาวนานหมดสิ้นไปวันหนึ่ง ตรัสเรียกช่างกัลบกมาว่า „ดูก่อนช่างกัลบกผู้สหาย ! ท่านเห็นผมหงอกบนศีรษะของเราในกาลใด, ท่านจงบอกแก่เราในกาลนั้น“. 

ฝ่ายช่างกัลบกก็ได้ทำให้เวลาอันยาวนานหมดสิ้นไป วันหนึ่งเห็นพระเกศาหงอกเส้น หนึ่งในระหว่างพระเกศาทั้งหลายอันมีสีดังดอกอัญชัน ของพระราชา จึงกราบทูลว่า „ข้าแต่สมมติเทพ พระเกศาหงอกเส้น หนึ่งปรากฏแก่พระองค์“. 

พระราชาตรัสว่า „สหาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงถอนผมหงอกนั้นของเราเอามาวางในฝ่ามือ“ เมื่อพระราชาตรัสอย่างนั้น ช่างกัลบกจึงเอาแหนบทองถอนแล้วให้พระเกศาหงอกประดิษฐานอยู่ในฝ่าพระหัตถ์ของพระราชา. 

ในกาลนั้น พระราชายังมีพระชนมายุเหลืออยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นพระราชาได้ทรงเห็นผมหงอกแล้ว ก็ทรงสำคัญประหนึ่งว่า พระยามัจจุราชมายืนอยู่ใกล้ ๆและประหนึ่งว่า ตนเองเข้ามาอยู่ในบรรณศาลาอันไฟติดโพลงอยู่ฉะนั้น, ได้ทรงถึงความสังเวช จึงทรงพระดำริว่า „ดูก่อนมฆเทวะผู้เขลา เจ้าไม่อาจละกิเลสเหล่านั้นจนทราบเท่าผมหงอกเกิดขึ้น“ 

เมื่อพระเจ้ามฆเทวะนั้นทรงรำพึงถึงผมหงอกที่ปรากฏแล้ว ความเร่าร้อนภายในก็เกิดขึ้น พระเสโทในพระสรีระไหลออก ผ้าสาฎกได้ถึงอาการที่จะต้องบิด (เอาพระเสโท) ออก. 

พระเจ้ามฆเทวะนั้นทรงพระดำริว่า „เราควรออกบวชในวันนี้แหละ“ จึงทรงประทานบ้านชั้นดีอันเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งทรัพย์เจ็ดพันแก่ช่างกัลบก, แล้วรับสั่งให้เรียกพระโอรสพระองค์ใหญ่มาตรัสว่า „ดูก่อนพ่อ ผมหงอกปรากฏบนศีรษะของพ่อแล้ว พ่อเป็นคนแก่แล้ว ก็กามของมนุษย์พ่อได้บริโภคแล้ว, บัดนี้ พ่อจักแสวงหากามอันเป็นทิพย์นี้เป็นกาลออกบวชของพ่อ เจ้าจงครอบครองราชสมบัตินี้ ส่วนพ่อบวชแล้วจักอยู่กระทำสมณธรรมในอัมพวันอุทยานชื่อมฆเทวะ“. 

อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชานั้นผู้มีพระประสงค์จะบวชอย่างนั้นแล้วทูลถามว่า „ข้าแต่สมมติเทพอะไรเป็นเหตุแห่งการทรงผนวชของพระองค์?“   พระราชาทรงถือผมหงอก ตรัสพระคาถานี้แก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า :-

„ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้เกิดแล้ว เป็นเหตุนำวัยไป เทวทูตปรากฏแล้ว, นี้เป็นสมัยแห่งการบรรพชาของเรา“. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  อุตฺตมงฺครุหา ได้แก่ ผม จริงอยู่ ผมทั้งหลายเรียกว่า อุตฺตมงฺครุหา เพราะงอกขึ้นบนเบื้องสูงแห่งอวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้น คือว่า บนศีรษะ. 

บทว่า  อิเม  ชาตา  วโยหรา  ความว่า พ่อทั้งหลาย จงดู ผมหงอกเหล่านั้นเกิดแล้วชื่อว่าเป็นเหตุนำเอาวัยไป เพราะนำเอาวัยทั้ง ๓ ไป โดยภาวะปรากฏผมหงอก. 

บทว่า  ปาตุภูตา ได้แก่ บังเกิดแล้ว. มัจจุชื่อว่าเทวะ ที่ชื่อว่าเทวทูต เพราะเป็นทูตแห่งเทวะนั้นจริงอยู่ เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏบนศีรษะ บุคคลย่อมเป็นเหมือนยืนอยู่ในสำนักของพญามัจจุราช เพราะฉะนั้น ผมหงอกทั้งหลายท่านจึงเรียกว่า ทูตของเทวะคือมัจจุ ที่ชื่อว่าเทวทูต เพราะเป็นทูตเหมือนเทวะ ดังนี้ก็มีเหมือนอย่างว่า บุคคลย่อมเป็นเหมือนผู้อันเทวดาผู้มีทั้งประดับและตกแต่งแล้วยืนในอากาศกล่าวว่า ท่านจักตายในวันชื่อโน้น ฉันใด เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏแล้วบนศีรษะย่อมเป็นเช่นกับเทวดาพยากรณ์ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมหงอกทั้งหลายท่านจึงกล่าวว่า เป็นทูตเหมือนเทพ ที่ชื่อว่าเทวทูตเพราะเป็นทูตของวิสุทธิเทพทั้งหลาย ดังนี้ก็มี. 

จริงอยู่ พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทอดพระนครเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและบรรพชิต เท่านั้น ก็ถึงความสังเวช เสด็จออกบวช.   สมดังที่ตรัสไว้ว่า :-

„ดูก่อนมหาบพิตร เพราะอาตมภาพเห็นคนแก่ คนป่วยไข้ได้ความทุกข์ คนตายอันถึงความสิ้นอายุและบรรพชิตผู้ครองผ้ากาสาวะ จึงได้บวช“ ดังนี้. (เถรคาถา ๗๓ -คล้ายกัน)

โดยปริยายนี้ ผมหงอกทั้งหลายท่านจึงเรียกว่า เทวทูต เพราะเป็นทตแห่งวิสุทธิเทพทั้งหลาย. ด้วยบทว่า ปพฺพชฺชาสมโย มมํ นี้ท่านแสดงว่า นี้เป็นกาลแห่งการถือสมณเพศอันได้ชื่อว่าบรรพชา เพราะอรรถว่า ออกจากความเป็นคฤหัสถ์ของเรา. 

พระเจ้ามฆเทวะนั้น ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วจึงสละราชสมบัติบวชเป็นฤาษีในวันนั้นเอง ประทับอยู่ในมฆอัมพวันนั้นนั่นแหละ เจริญพรหมวิหาร ๔อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ดำรงอยู่ในฌานอันไม่เสื่อม สวรรคตแล้วบังเกิดในพรหมโลกจุติจากพรหมโลกนั้นได้เป็นพระราชาพระนามว่าเนมิ ในกรุงมิถิลานั่นแหละอีก สืบต่อวงศ์ของพระองค์ที่เสื่อมลง จึงทรงผนวชในอัมพวันนั้นนั่นแหละ เจริญพรหมวิหาร กลับไปเกิดในพรหมโลกตามเดิมอีก. 

แม้พระศาสดา ก็ได้ตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ได้ออกแล้วเหมือนกัน“, ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วจึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ ในเวลาจบอริยสัจ ภิกษุบางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามีบางพวก.ได้เป็นพระอนาคามีพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ๒ เรื่องนี้สืบต่ออนุสนธิกันด้วยประการดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า ช่างกัลบกในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ บุตรในครั้งนั้นได้เป็นพระราหุลในบัดนี้ ส่วนพระเจ้ามฆเทวะได้เป็นเราตถาคตแล.

Credit: Palipage : Guide to Language - Pali

22. กุกฺกุรชาตกํ - ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า , 21.  กุรุงฺคมิคชาตกํ - ว่าด้วยกวางกุรุงคะ , 20.  นฬปานชาตกํ  -  เหตุที่ไม้อ้อเป็นรูทะลุตลอด ,  19. อายาจิตภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการเปลื้องตน , 18.  มตกภตฺตชาตกํ - ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ , 17. มาลุตชาตกํ - ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม , 16. ติปลฺลตฺถมิคชาตกํ - ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน , 15. ขราทิยชาตกํ - ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท , 14.  วาตมิคชาตกํ - ว่าด้วยอำนาจของรส , 13. กณฺฑินชาตกํ - ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง , 12. นิคฺโรธมิคชาตกํ - ว่าด้วยการเลือกคบ , 11.  ลกฺขณมิคชาตกํ - ว่าด้วยผู้มีศีล , 10. สุขวิหาริชาตกํ - ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข , 09. มฆเทวชาตกํ - ว่าด้วยเทวทูต , 08. คามณิชาตกํ  - ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้ , 07. กฏฺฐหาริชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้ากัฏฐวาหนะ ,  06. เทวธมฺมชาตกํ  -  ว่าด้วยธรรมของเทวดา , 05. ตณฺฑุลนาฬิชาตกํ - ว่าด้วยราคาข้าวสาร,  04. จูฬเสฏฺฐิชาตกํ - ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้ , 03. เสริววาณิชชาตกํ - ว่าด้วยเสรีววาณิช , 02. วณฺณุปถชาตกํ - ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน , 01. อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: