วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๙)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๙)   ปัญหาที่ ๓, ขีณาสวสติสัมโมสปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระอรหันต์ยังมีความหลงลืมสติอยู่หรือไม่ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความหลงลืมสติ แล พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีความหลงลืมสติหรอก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็แต่ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังอาจต้องอาบัติได้ มิใช่หรือ ?

พระนาคเสน, ใช่ มหาบพิตร พระอรหันต์ทั้งหลายอาจต้องอาบัติได้

พระเจ้ามิลินท์, ต้องอาบัติในวัตถุ (ในเรื่อง) อะไรบ้าง ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งหลายยังอาจต้องอาบัติในเรื่องสร้างกุฏิ ในเรื่องสื่อข่าว ในเรื่องสำคัญเวลาวิกาล ว่าเป็นกาล ในเรื่องสำคัญภิกษุผู้ปวารณาแล้ว ว่ายังมิได้ปวารณา ในเรื่องสำคัญภัตที่มิได้เป็นเดนภิกษุ ไข้ว่าเป็นเดนภิกษุไข้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พวกท่านกล่าวกันว่า ภิกษุพวกที่ต้องอาบัติ ย่อมต้องอาบัติเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะหาความเอื้อเฟื้อ ในพระวินัยบัญญัติมิได้ ประการหนึ่ง, เพราะความไม่รู้ประการหนึ่ง พระคุณเจ้า พระอรหันต์ยังมีความไม่เอื้อเฟื้อที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติอยู่หรือ ?

พระนาคเสน, ไม่มีหรอก ขอถวายพระพร

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติได้ และพระอรหันต์ก็มีความเอื้อเฟื้อไซร้ ถ้าอย่างนั้น พระอรหันต์ก็ยังมีความหลงลืมสติ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระอรหันต์ไม่มีความหลงลืมสติหรอก แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ก็จงทำข้าพเจ้าให้เข้าใจด้วยเหตุผลเถิด ในข้อที่ว่า พระอรหันต์ไม่มีความหลงลืมสติ แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องอาบัติได้นั้น มีเหตุผลอะไร ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร การกระทำที่เศร้าหมองมี ๒ อย่าง คือ  – ที่เป็นโลกวัชชนะ (เป็นโทษในโลก) ๑, และ – ที่เป็น ปัณณัตติวัชชะ (เป็นโทษในพระวินัยบัญญัติ) ๑

ขอถวายพระพร ที่เป็นโลกวัชชะ เป็นไฉน ? ตอบว่า ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐, อกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้เรียกว่า โลกวัชชะ

ชื่อว่า ที่เป็น ปัณณัตติวัชชะ เป็นไฉน ? การกระทำที่ไม่สมควรแก่ผู้เป็นสมณะทั้งหลาย ไม่อนุโลมแก่ความเป็นสมณะใด ย่อมมีอยู่ในโลก อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นโทษสำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายในการกระทำนั้นว่า พวกเธอไม่ควรล่วงละเมิดตลอดชีวิต.  

ขอถวายพระพร   - การฉันในเวลาวิกาลซึ่งไม่เป็นโทษสำหรับชาวโลกนั้น จัดว่าเป็นโทษในพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้า - การพรากภูตคาม (ต้นไม้) ซึ่งไม่เป็นโทษสำหรับชาวโลกนั้น จัดว่าเป็นโทษในพระศาสนาของพระชินเจ้า  - การเล่นน้ำซึ่งไม่เป็นโทษสำหรับชาวโลกนั้น จัดว่าเป็นโทษในพระศาสนาของพระชินเจ้า

ขอถวายพระพรมหาบพิตร การกระทำเห็นเช่นนี้ อันมีประการดังกล่าวมากระนี้ มีชื่อว่า เป็นโทษในพระศาสนาของพระชินเจ้า นี้เรียกว่า บัณณัตติวัชชะ, พระขีณาสพเป็นผู้ไม่สามารถประพฤติละเมิดการกระทำที่เป็นโลกวัชชะนั้นได้ เมื่อท่านไม่รู้อยู่ ท่านก็อาจต้องอาบัติเศร้าหมองที่เป็น บัณณัตติวัชชะ, ขอถวายพระพร อันการจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์รูปไหนๆ เพราะว่าท่านไม่มีกำลังที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ขอถวายพระพร พระอรหันต์ท่านก็ยังมีการไม่รู้จะแม้ชื่อแม้โคตรของหญิงชายทั้งหลายได้ พระอรหันต์นั้นก็ยังมีการไม่รู้จักเส้นทางบนแผ่นดินได้ ขอถวายพระพร วิมุตตินั่นเทียว พระอรหันต์รูปไหนๆ ก็รู้จัก พระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ย่อมรู้สิ่งที่เป็นวิสัยของท่าน ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าผู้เป็นสัพพัญญูเท่านั้น ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบขีณาสวสติสัมโมสปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับว่า พระขีณาสพมีความหลงลืมสติได้หรือไม่ ชื่อว่า ขีณาสวสติสัมโมสปัญหา.  คำว่า ในเรื่องสร้างกุฏิ คือในกุฏิการสิกขาบท โดนเกี่ยวกับว่าให้เขาสร้างกุฏิในที่ที่สงฆ์มิได้อนุมัติเห็นชอบ ด้วยสำคัญว่าสงฆ์อนุมัติเห็นชอบ เป็นต้น.  คำว่า ในเรื่องสื่อข่าว คือในสัญจริตตสิกขาบท ที่มีบัญญัติห้ามภิกษุถึงความเป็นผู้สื่อข่าว ให้หญิงได้รู้จักชาย, ให้ชายได้รู้จักหญิง เพื่อประโยชน์แก่การจับคู่ของคนทั้ง ๒.  คำว่า ในเรื่องสำคัญเวลาวิกาล ว่าเป็นกาล คือในวิกาลโภชนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันในเวลาวิกาล คือเลยเที่ยงวันไปแล้ว พระอรหันต์อาจต้องอาบัติในสิกขาบทข้อนี้ได้ เพราะสำคัญเวลาที่เป็นวิกาล ว่าเป็นกาลคือเป็นเวลาที่ทรงอนุญาตให้ฉันได้.   

คำว่า ในเรื่องสำคัญภิกษุผู้ปวารณาแล้ว ว่ายังไม่ได้ปวารณา คือในทุติยปวารณาสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติห้ามภิกษุเชื้อเชิญภิกษุอื่นผู้ฉันแล้ว ปวารณาแล้ว (ปฏิเสธการฉันอีก) ให้ยินดีพอใจด้วยของเคี้ยวของกินที่ไม่ใช่เดน (คือเป็นของใหม่) อีก พระอรหันต์ต้องอาบัติข้อนี้ได้ เพราะสำคัญว่าเป็นภิกษุผู้ยังไม่ได้ฉัน ยังไม่ได้ปวารณา.   คำว่า ในเรื่องสำคัญภัตที่มิได้เป็นเดนภิกษุไข้ ว่าเป็นเดนภิกษุไข้ คือในปฐมปวารณาสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติห้ามภิกษุผู้ฉันแล้ว ปวารณาแล้ว ฉันภัต (อาหาร) ที่ไม่เป็นเดนของภิกษุไข้ คือที่ภิกษุไข้ยังไม่ได้ฉัน ยังไม่ได้ปวารณา พระอรหันต์ต้องอาบัติข้อนี้ได้ เพราะสำคัญว่าเป็นภัตที่ภิกษุไข้ฉันแล้ว ได้ปวารณาแล้ว

อกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ชื่อว่า โลกวัชชะ เป็นโทษในโลก เพราะเกี่ยวกับยังสัตว์ผู้ประกอบกรรมเหล่านี้ ให้เสวยผลคือความทุกข์ในโลกทั้ง ๓ นี้ เพราะเป็นกรรมชั่ว ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติห้ามไว้ก็ตาม ไม่ทรงบัญญัติห้ามไว้ก็ตาม ส่วนการฉันในเวลาวิกาลเป็นต้น ชื่อว่า ปัณณัตติวัชชะ เพราะเป็นโทษเกี่ยวกับว่าทรงบัญญัติห้ามไว้เท่านั้น มิได้เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐, เป็นโทษสำหรับผู้บวชถือเพศภิกษุนี้เท่านั้น มิได้เป็นโทษสำหรับผู้เป็นฆราวาส และชื่อว่าเป็นโทษก็เพราะเป็นข้อที่ทรงบัญญัติห้ามไว้ เหตุเพราะ การกระทำอย่างนั้นๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะของคนทั้งหลาย ไม่เหมาะแก่สมณะเพศ ภิกษุผู้ล่วงละเมิดก็ย่อมต้องอาบัติ เมื่อต้องอาบัติก็ย่อมเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการปลงอาบัติ นับว่าเป็นโทษก็อย่างที่กล่าวมานี้เท่านั้น ไม่ใช่เพราะเป็นกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ในโลกทั้ง ๓, พึงทราบว่าพระอรหันต์มีการต้องอาบัติส่วนที่เป็นปัณณัตติวัชชะเท่านั้น และต้องอาบัติข้อนั้นๆ เพราะสำคัญผิดบ้าง เพราะไม่ได้สังเกตุหรือสำเหนียกบ้าง ไม่ใช่ด้วยอำนาจกิเลส เพราะท่านละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้สิ้นแล้ว ไม่ใช่ด้วยอำนาจความหลงลืมสติ เพราะความหลงลืมสติมีสภาวะเป็นอกุศล ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้เป็นพระอรหันต์.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาที่ ๔ โลเก นัตถิภาวปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในโลกนี้พระพุทธเจ้าก็ปรากฏ, พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ปรากฏ, พระสาวกของพระตถาคตก็ปรากฏ, พระเจ้าจักรพรรดิก็ปรากฏ, พระราชาประจำประเทศก็ปรากฏ, เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ปรากฏ, คนมีทรัพย์ก็ปรากฏ, คนไร้ทรัพย์ก็ปรากฏ, คนมั่งคั่งก็ปรากฏ, คนเข็ญใจก็ปรากฏ, ชายที่ปรากฏเพศเป็นหญิงก็ปรากฏ, หญิงที่ปรากฏเพศเป็นชายก็ปรากฏ, กรรมดีกรรมชั่วก็ปรากฏ, สัตว์ผู้เสวยวิบากของกรรมดีกรรมชั่วก็ปรากฏ, ในโลก สัตว์ผู้เป็นอัณฑชะ เกิดในไข่ เป็นชลาพุชะ เกิดในมดลูก เป็นสังเสทชะ เกิดในที่ชื้นแฉะ เป็นโอปปาติกะ ผุดเกิดทันทีก็มีอยู่ สัตว์ผู้ไม่มีเท้า สัตว์ผู้มี ๒ เท้า สัตว์ผู้มี ๔ เท้า สัตว์ผู้มีเท้ามากมาย ก็มีอยู่ในโลก ยักษ์ รากษส กุมภัณฑ์ อสูร ทานพ คนธรรพ์ พวกเปรต พวกปีศาจ ก็มีอยู่ , ฯลฯ กอไม้ ต้นไม้ ดวงดาว ป่าไม้ แม่น้ำ ภูเขา ทะเล ปลา เต่า ทุกอย่างมีอยู่ในโลก พระคุณเจ้าขอจงบอกข้าพระเจ้าถึงสิ่งที่ไม่มีในโลก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในโลกนี้ไม่มีสิ่ง ๓ อย่างเหล่านี้ ๓ อย่างอะไรบ้าง ?

สิ่งที่มีเจตนาก็ตาม ไม่มีเจตนาก็ตาม ซึ่งไม่แก่ไม่ตาย ไม่มีในโลก ๑,   ความที่สังขารทั้งหลายเป็นของเที่ยง ไม่มี ๑,  ว่าโดยปรมัตถ์ สิ่งที่บุคคลอาจเข้าไปถือเอาว่าเป็นสัตว์ได้ ไม่มี ๑

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.   จบโลเก นัตถิภาวปัญหาที่ ๔

คำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาถามถึงความไม่มีอยู่ในโลก ชื่อว่า โลเก นัตถิภาวปัญหา.   คำว่า  สิ่งที่บุคคลอาจเข้าไปถือเอาว่าเป็นสัตว์ได้ไม่มี  ความว่า ชื่อว่าไม่มี ก็เพราะเป็นเพียงขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เป็นไปตามปัจจัยอันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๔

ปัญหาที่ ๕, อกัมมชาทิปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในโลกนี้ สิ่งที่บังเกิดจากกรรมก็ปรากฏอยู่ สิ่งที่มันเกิดจากเหตุก็ปรากฏอยู่ สิ่งที่บังเกิดจากอุตุก็ปรากฏอยู่ ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าถึงสิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ ในโลก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในโลกนี้ สิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ มี ๒ อย่างเหล่านี้ ๒ อย่างอะไรบ้าง ขอถวายพระพร อากาศเป็นสิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ พระนิพพาน ก็เป็นสิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ ขอถวายพระพร สิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ มี ๒ อย่างเหล่านี้ แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ขอจงอย่าลบหลู่คำของพระชินเจ้าเลย ท่านไม่รู้ก็ขอจงอย่าตอบปัญหาเลย

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อาตมาภาพกล่าวอะไรไม่ถูกต้องหรือ ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์รับสั่งกับอาตมาภาพอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้านาคเสน ขอจงอย่าลบหลู่คำของพระชินเจ้าเลย ท่านไม่รู้ก็ขอจงอย่าตอบปัญหาเลย

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ก่อนอื่น การที่ท่านจะกล่าวว่า อากาศ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดจากกรรม มิได้เกิดจากเหตุ มิได้เกิดจากอุตุ ดังนี้ นี้ ก็ถูกต้องแล้วละ พระคุณเจ้านาคเสน ก็แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกสาวกทั้งหลาย ถึงเหตุหลายร้อยอย่างที่เป็นหนทางทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ท่านก็กลับมากล่าวเสียอย่างนี้ว่า พระนิพพาน เป็นสิ่งที่มิได้เกิดจากเหตุ

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร เป็นความจริงว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอกสาวกทั้งหลาย ถึงเหตุหลายร้อยอย่างที่เป็นหนทางทำพระนิพพานให้แจ้ง ก็แต่ว่า จะเป็นอันตรัสบอกถึงเหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ก็หาไม่

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในข้อที่ท่านกล่าวว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่ แต่เหตุทำให้พระนิพพานธรรมนั้นเกิดขึ้น หามีไม่ นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าสู่ที่มืดยิ่งกว่ามืด เข้าป่าเสียยิ่งกว่าป่า เข้าสู่ที่รกเสียยิ่งกว่าที่รก พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่แล้ว ไซร้ ถ้าอย่างนั้น แม้เหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นก็พึงปรารถนาได้

พระคุณเจ้านาคเสน เปรียบเหมือนว่า สำหรับผู้เป็นบิดาของบุตรย่อมมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ผู้เป็นบิดาแม้ของบิดาก็พึงปรารถนาได้เหมือนกัน ฉันใด สำหรับผู้เป็นอาจารย์ของศิษย์ย่อมมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ผู้เป็นอาจารย์แม้ของอาจารย์ก็พึงปรารถนาได้เหมือนกัน ฉันใด พืชของหน่อไม้ย่อมมีอยู่ เพราะเหตุนั้น พืชแม้ของพืช ก็พึงปรารถนาได้เหมือนกัน ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่เพราะเหตุนั้น แม่เหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ก็พึงปรารถนาได้เหมือนกัน ฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต้นไม้ก็ดี เครือเถาก็ดี เมื่อมียอดได้ เพราะเหตุนั้น แม้กลาง แม้โคน ก็ย่อมมีได้เหมือนกันฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่ไซร้ เพราะเหตุนั้น แม้เหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ก็พึงปรารถนาได้เหมือนกัน ฉันนั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงมิได้ตรัสเหตุแห่งทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ไว้

พระเจ้ามิลินท์ เอาเถอะ พระคุณเจ้านาคเสน ขอท่านจงแสดงให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผลเถิด ข้าพเจ้าจะพึงรู้ได้โดยประการใดเล่า ว่าเหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่ แต่เหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นไม่มี

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้นก็ขอพระองค์จงทรงเงี่ยพระโสตสดับอย่างเคารพเถิด ขอจงทรงสดับด้วยดีเถิด อาตมาภาพจะขอกล่าวถึงเหตุผลในความข้อนั้น ขอถวายพระพร บุรุษอาจใช้กำลังตามปกติ ละจากที่นี้เข้าไปสู่ภูเขาหินมะพานได้ มิใช่หรือ ? (เดินไปได้ – ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, ได้พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นอาจใช้กำลังที่มีตามปกติลากเอาภูเขาหิมพานต์มา ณ ที่นี้ ได้หรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลอาจกล่าวถึงมรรค เพื่ออันทำพระนิพพานให้แจ้งได้ แต่ไม่อาจแสดงเหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นได้.   ขอถวายพระพร มหาบพิตร บุรุษอาจใช้กำลังที่มีตามปกติขึ้นเรือไปสู่มหาสมุทรได้ มิใช่หรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, ได้ พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ก็แต่ว่าบุรุษผู้นั้นจะใช้กำลังที่มีตามปกติดึงเอาฝั่งไกลของมหาสมุทรมายังที่นี่ ได้หรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์, มิได้หรอก พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น บุคคลอาจกล่าวถึงมรรค เพื่ออันทำพระนิพพานให้แจ้งได้ แต่ไม่อาจแสดงเหตุทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นได้ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระนิพพานเป็นอสังขตธรรมหรือ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถูกต้อง พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม อันปัจจัยอะไรๆ ก็มิได้สร้างขึ้น ขอถวายพระพร ใครๆ ก็ไม่ควรกล่าวถึงพระนิพพานว่า เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดขึ้น ว่าเป็นอดีต ว่าเป็นอนาคต ว่าเป็นปัจจุบัน ว่าอันจักขุวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าอันโสตวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าฆานวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าอันชิวหาวิญญาณพึงรู้ได้ หรือว่าอันกายวิญญาณพึงรู้ได้

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระนิพพานไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอดีต ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่จักขุวิญญาณพึงรู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่โสตวิญญาณพึงรู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ฆานวิญญาณพึงรู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ชิวหาวิญญาณพึงรู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่กายวิญญาณพึงรู้ได้ ไซร้ ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน ก็เป็นอันว่าพวกท่านระบุถึงพระนิพพานอันไม่มีอยู่เป็นธรรมดาว่า พระนิพพานมีอยู่จริง (พูดในสิ่งที่เลื่อนลอย – ณัฏฐ)

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระนิพพานมีอยู่จริง พระนิพพานเป็นสิ่งที่มโนวิญญาณจะพึงรู้ได้ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบย่อมมองเห็นพระนิพพานได้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ที่ประณีต ที่ตรง ที่หาธรรมเครื่องขวางกั้นมิได้ ที่ปราศจากอามิส แล

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ก็พระนิพพานนี้เป็นเช่นกับอะไร พระนิพพานเป็นสิ่งที่อาจแจ่มแจ้งว่าเป็นของมีอยู่จริงเป็นธรรมดา ด้วยอุปมาทั้งหลาย โดยประการใด ขอท่านจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจพระนิพพานที่อาจแจ่มแจ้งได้ด้วยอุปมาทั้งหลายนั้น ด้วยเหตุผลทั้งหลายเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ธรรมดาว่าลม มีอยู่จริงหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, ใช่ มีอยู่จริง พระคุณเจ้า

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เอาละ ขอพระองค์จงแสดงลม โดยสีบ้าง โดยสันฐานบ้าง โดยความเป็นของละเอียดบ้าง โดยความเป็นของหยาบบ้าง โดยความยาวบ้าง โดยความสั้นบ้าง เถิด

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ใครๆ ไม่อาจที่จะระบุลม โดยสีเป็นต้น ได้หรอก ลมนั้น มิได้เข้าถึงการจับถือด้วยมือ หรือเข้าถึงการบีบคลำได้ แปลว่าลมนั้นก็มีอยู่จริง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าหากว่าใครๆ ไม่อาจระบุลม โดยสีเป็นต้น ได้ไซร้ ถ้าอย่างนั้นลมก็หามีอยู่จริงไม่

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าก็รู้อยู่ เป็นของที่ซึมซาบอยู่ในใจของข้าพเจ้าแล้วว่าลมมีอยู่จริง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อาจที่จะระบุถึงลม โดยสีเป็นต้น ได้

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้น พระนิพพานก็มีอยู่จริง แต่ใครๆ ก็ไม่อาจที่จะระบุถึงพระนิพพานโดยสี หรือว่าโดยสัณฐานเป็นต้น ได้

พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ท่านชี้แจงอุปมาได้ดีแล้ว ท่านแสดงไขเหตุผลได้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้ อย่างนี้ว่า พระนิพพานมีอยู่จริง.  จบอกัมมชาทิปัญหาที่ ๕

คำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่มิได้เกิดจากกรรมเป็นต้น ชื่อว่า อกัมมชาทิปัญหา.  คำว่า  สิ่งที่บังเกิดจากกรรม  คือสิ่งที่เป็นผลของกรรมดีและกรรมชั่ว ที่สัตว์ได้ก่อไว้.  คำว่า  สิ่งที่บังเกิดจากเหตุ  คือสิ่งที่บังเกิดจากเหตุที่ทำให้เกิดอื่นๆ นอกเหนือจากกรรมและอุตุ.  คำว่า  สิ่งที่บังเกิดจากอุตุ  คือสิ่งที่บังเกิดจากความเย็นหรือความร้อน หรือสิ่งที่บังเกิดเพราะความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล.  คำว่า  อากาศ  พระเถระกล่าวหมายเอาอัชฎากาศ คือที่โล่งเวิ้งว้างอันเป็นที่โคจรแห่งไปมาแห่งหมู่นก แห่งพระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นที่ตั้งแห่งโลกธาตุ แห่งจักรวาล

คำว่า  เหตุหลายร้อยอย่าง  เป็นต้น  ได้แก่ เหตุมีบารมี ๑๐ ประการ ฌาน ๕ ที่เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ปฏิปทา ๔ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างสามารถแตกได้เป็นร้อยนัย พันนัย ไปตามความต่างกันแห่งอธิบดี ๔ เป็นต้น อันล้วนสงเคราะห์ได้ว่าเป็น “มรรค” เพราะเป็นดุจหนทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน ก็เหตุเหล่านี้เป็นเพียงเหตุในเบื้องต้นบ้าง ในที่สุดบ้าง เพื่ออันทำพระนิพพานให้แจ้ง คือกระทำให้เป็นอารมณ์แก่จิต โดยประจักษ์ ดุจบุรุษเล็งดูผลมะขามป้อมบนฝ่ามือ ฉะนั้น ความว่า เป็นสัมปาปกเหตุ – เหตุบรรลุ จะเป็นเหตุที่ทำผลคือพระนิพพานให้บังเกิด เหมือนอย่างที่กรรมดีกรรมชั่วทำผล คือความสุขความทุกข์ให้บังเกิดแก่สัตว์ ก็หาไม่

คำว่า ถ้าหากว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่ ฯลฯ ก็พึงปรารถนาได้ ความว่า คำยืนยันที่ว่า เหตุทำพระนิพพานให้แจ้งมีอยู่ นั่นเอง ย่อมเป็นคำที่ส่อแสดงว่า พระนิพพานก็มีเหตุทำให้เกิดขึ้นด้วยทีเดียว เพราะถ้าหากว่า พระนิพพานไม่มีเหตุทำให้เกิดขึ้นเสียก่อนไซร้ บุคคลจะกระทำพระนิพพานที่ไหนให้แจ้งได้เล่า เพราะยังไม่มี เพราะฉะนั้น แม้เหตุที่ทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นก็พึงปรารถนาได้

คำว่า  เพราะพระนิพพานเป็นอสังขตธรรม  ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ทำให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมด ชื่อว่า สังขตธรรม (ธรรมที่ปัจจัยพร้อมเพรียงกันทำขึ้น) ได้แก่ ขันธ์ ๕ พระนิพพานไม่ใช่สังขตธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อสังขตธรรม อธิบายว่า มีอยู่โดยประการที่ไม่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

ถามว่า ทราบได้อย่างไรว่า พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม ?

ตอบว่า ทราบได้โดยสูตร จริงอย่างนั้น ตรัสไว้ใน อาชาตสูตร อย่างนี้ว่า

"ภิกฺขเว   อชาตํ   อภูตํ   อกตํ   อสงฺขตํ,  โน   เจตํ  ภิกฺขเว  อภวิสฺส    อชาตํ   อภูตํ   อกตํ   อสงฺขตํ,   นยิธ   ชาตสฺส  ภูตสฺส  กตสฺส  สงฺขตสฺส  นิสฺสรณํ   ปญฺญาเยถ."   (ขุ.อิ. ๒๕/๒๙๒)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้วมีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดังนี้เป็นต้น.

คำว่า ใครๆ ไม่ควรกล่าวถึงพระนิพพานว่า เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ หรือว่า อันกายวิญญาณพึงรู้ได้ คือ เพราะเหตุที่พระนิพพานเป็นอสังขตะนั่นเอง จึงเป็นธรรมที่มิได้มีความเกิดขึ้นและดับไปตามปัจจัย เพราะเหตุนั้น ใครๆ จึงไม่ควรกล่าวถึงพระนิพพานว่า เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ ว่าเป็นปัจจุบัน ว่าพึงเห็นได้ด้วยตา ว่าพึงสดับได้ด้วยหู ว่าพึงดมได้ด้วยจมูก ว่าพึงลิ้มได้ด้วยลิ้น ว่าพึงสัมผัสแตะต้องได้ด้วยกาย

คำว่า พระนิพพานเป็นสิ่งที่มโนวิญญาณจะพึงรู้ได้ คือพระนิพพานเป็นสิ่งที่ใจพึงรู้ได้ ความว่า เป็นสิ่งที่มรรคจิตอันเป็นไปทางมโนทวารจะพึงรู้ได้ โดยการกระทำให้เป็นอารมณ์โดยประจักษ์ ที่เรียกว่า เป็นการกระทำให้แจ้ง

คำว่า ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ฯลฯ ที่ปราศจากอามิส คือด้วยมรรคจิตนั้นนั่นแหละ เป็นคำที่ระบุประเภทมโนวิญญาณผู้รู้พระนิพพาน ก็มโนวิญญาณคือมรรคจิตนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์เพราะปกติจากมลทินมีราคะเป็นต้น ชื่อว่าประณีต ก็เพราะความเป็นโลกุตระ ชื่อว่าตรง เพราะปราศจากธรรมเครื่องสร้างความ คดงอ มีทิฏฐิเป็นต้น ชื่อว่าหาธรรมเครื่องขวางกั้นไม่ได้ เพราะปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้น ชื่อว่าปราศจากอามิส เพราะไม่ใช่กามคุณอันเป็นอามิสคือเหยื่อของตัณหา ฉะนี้แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๕

ปัญหาที่ ๖ กัมมชาทิปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในบรรดาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากกรรม อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ อะไรเป็นสิ่งที่เกิดจากอุตุ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่เกิดจากกรรม ไม่เกิดจากเหตุ ไม่เกิดจากอุตุ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร สัตว์ผู้มีเจตนาทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากกรรม ไฟและพืชที่เกิดมาทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ แผ่นดิน ภูเขา น้ำ ลม ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากอุตุ สิ่ง ๒ อย่างเหล่านี้คืออากาศและนิพพาน เป็นสิ่งที่ไม่เกิดจากกรรม ไม่เกิดจากเหตุ ไม่เกิดจากอุตุ ขอถวายพระพร ก็แล พระนิพพาน ใครๆ ไม่ควรกล่าวว่าเกิดจากกรรม ว่าเกิดจากเหตุ ว่าเกิดจากอุตุ ว่าเกิดขึ้นแล้ว ว่ายังไม่ได้เกิดขึ้น ว่าอาจทำให้เกิดขึ้น ว่าเป็นอดีต ว่าเป็นอนาคต ว่าเป็นปัจจุบัน ว่าอันจักขุวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าอันโสตวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าอันฆานวิญญาณพึงรู้ได้ ว่าอันชิวหาวิญญาณพึงรู้ได้ หรือว่าอันกายวิญญาณพึงรู้ได้ ขอถวายพระพร ก็แต่ว่า พระนิพพาน อันมโนวิญญาณจะพึงรู้ได้ คือเป็นสิ่งที่พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบนั้น เห็นด้วยญาณที่หมดจด (คือญาณในมรรคจิต ผลจิต โลกุตระ – ณัฏฐ)

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ปัญหาที่น่ารื่นรมย์ใจ ท่านก็ได้วินิจฉัยดี จนหมดสงสัย ถึงความแน่นอนใจได้ ความคลางแคลงใจก็ถูกตัดเสียได้ ท่านนับว่าเป็นผู้ประเสริฐยอดเยี่ยม องอาจในหมู่คณะ แล.   จบกัมมชาทิปัญหาที่ ๖

คำอธิบายปัญหาที่ ๖

ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากกรรมเป็นต้น ชื่อว่า กัมมชาทิปัญหา.  พืช แม้ว่าเกิดจากอุตุ แต่เพราะเหตุที่มีความแปลกไปจากสิ่งที่เกิดจากอุตุอื่นๆ มีแผ่นดิน เป็นต้น โดยเกี่ยวกับมีความเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับแห่งความเจริญงอกงาม กล่าวคือ มีการแตกหน่อแล้วเป็นลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ในกาลต่อมา ซึ่งความเป็นอย่างนี้เนื่องกับเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ช่วยอุปถัมภ์ เช่นว่า ดิน โอชะในดิน น้ำ ความตกต้องตามฤดูกาลแห่งฝนเป็นต้น ไม่ใช่สักแต่อุตุเท่านั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวเสียว่า พืชเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุ พึงทราบว่า คำว่าไฟและพืช เป็นเพียงนิทัสสนะ ความจริงสิ่งที่เกิดจากเหตุมีมากมายไม่อาจระบุชื่อและนับจำนวนได้ เเม้นคำว่า แผ่นดิน ภูเขา เป็นต้น ก็อย่างนี้เหมือนกัน.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๖.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๔๙)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: