วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

คนทำชั่วก็เป็นคนชั่ว ส่วนคนทำดีก็เป็นคนดี

คนทำชั่วก็เป็นคนชั่ว ส่วนคนทำดีก็เป็นคนดี

แต่กรรมดีและกรรมชั่วบางครั้งชาตินี้เราอาจจะยังไม่ได้เห็นผลของกรรมนั้น เพราะเราเกิดมาแล้วยังต้องเสวยผลของกรรมเก่าอยู่

ท่านอธิบายไว้ว่า

บุคคลผู้ประกอบบาปกรรมมีทุจริตทางกายเป็นต้น ชื่อว่าคนบาป

ท่านกล่าวว่า “ก็คนบาปแม้นั้น เมื่อยังเสวยสุขอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งสุจริตกรรมในปางก่อนอยู่ จึงเห็นแม้บาปกรรมว่า “ดี”

เพราะบาปกรรมของเขานั้นยังไม่ให้ผลในปัจจุบันภพหรือสัมปรายภพเพียงใด คนทำบาป ย่อมเห็นบาปว่า “ดี” เพียงนั้น

แต่เมื่อใดบาปกรรมของเขานั้นให้ผลในปัจจุบันภพหรือในสัมปรายภพ เมื่อนั้น คนทำบาปนั้น เมื่อเสวยกรรมกรณ์ต่างๆ ในปัจจุบันภพ และทุกข์ในอบายในสัมปรายภพอยู่ ย่อมเห็นบาปว่า “ชั่ว” ถ่ายเดียว

ส่วนบุคคลผู้ประกอบกรรมดีมีสุจริตทางกายเป็นต้น ชื่อว่าคนดี

ท่านกล่าวว่า “คนทำกรรมดีแม้นั้น เมื่อเสวยทุกข์อันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งทุจริตในปางก่อน ย่อมเห็นกรรมดีว่า “ชั่ว”

เพราะกรรมดีของเขานั้นยังไม่ให้ผลในปัจจุบันภพหรือในสัมปรายภพเพียงใด คนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่า “ชั่ว” อยู่เพียงนั้น

แต่เมื่อใด กรรมดีนั้นให้ผล เมื่อนั้นคนทำกรรมดีนั้น เมื่อเสวยสุขที่อิงอามิสมีลาภและสักการะเป็นต้นในปัจจุบันภพ และสุขที่อิงสมบัติอันเป็นทิพย์ในสัมปรายภพอยู่ ย่อมเห็นกรรมดีว่า “ดีจริงๆ” ดังนี้

ดังพระพุทธพจน์ว่า

ปาโปปิ  ปสฺสติ  ภทฺรํ     ยาว  ปาปํ  น  ปจฺจติ
ยทา  จ  ปจฺจติ  ปาปํ     อถ  (ปาโป)  ปาปานิ  ปสฺสติ.
ภทฺโรปิ  ปสฺสติ  ปาปํ    ยาว  ภทฺรํ  น  ปจฺจติ
ยทา  จ  ปจฺจติ  ภทฺรํ     อถ (ภทฺโร)  ภทฺรานิ  ปสฺสติ.

แปลความว่า

“แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใด บาปเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่ว

ฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี” ดังนี้แล ฯ

สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรค (เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ

21/7/65

คนที่อวดฉลาดมักไม่รู้สึกตัวว่าตนโง่ศีล , ชีวิตมิได้มีแต่วันนี้ , บุญบาปล้วนแต่เป็นเครื่องข้อง , ความกังวล มักเกิดจากความยึดถือด้วยตัณหาในฐานะ ๓ อย่าง , เครื่องกั้นมิให้สิ้นไปจากอาสวะ , บางครั้งต้องอยู่คนเดียวให้เป็น , มัวร่าเริงหรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ ? , เหตุที่จะนำสุขมาให้ คือการรักษาคุ้มครองจิตไว้ให้ได้ , ลมรังควานต้นไม้ที่ทุพพลภาพได้ฉันใด , จิตประณีตเริ่มจาก , คุณสมบัติของคนดีเริ่มจาก , “บัณฑิตนั้น พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และตั้งอยู่ในธรรม” ,  ถ้าเจอคนแบบนี้ไม่ต้องกลัว ไม่เท่าไรหรอก ? , อาปายิกสูตร , ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ? , เหตุเกิดแห่งอกุศลกรรม , การจะไปมาหาสู่เข้าเป็นพวกเดียวกัน หรือคบค้ากัน หรือคบค้าสมาคมกัน , อามิสกับธรรมพระพุทธองค์มักแสดงไว้คู่กันเสมอ , ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรผิดเลย ,  เหตุไฉนผิวพรรณจึงผ่องใส ? , ทุกข์ปรากฎที่ไหนต้องดับที่นั้น , รู้เพื่อละ , การดับทุกข์ได้จริงและถูกต้อง ต้องไม่ทำบาปดับทุกข์ , การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเป็นการดี









Previous Post
Next Post

0 comments: