คนที่ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน จัดเป็นผู้มีความดำริอันจมดิ่งลง...
คนที่ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน จัดเป็นผู้มีความดำริอันจมดิ่งลง จัดเป็นผู้เกียจคร้าน คนเช่นนี้ย่อมไม่บรรลุคุณวิเศษอันต่างโดยคุณมีปัญญาเป็นต้น
ดังพระพุทธพจน์ว่า
“อุฏฺฐานกาลมฺหิ อนุฏฺฐหาโน
ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต
สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต
ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ”
แปลว่า
“ก็บุคคลยังหนุ่มแน่นมีกำลัง (แต่) ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมลงแล้ว ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา”
ท่านอธิบายความหมายของคำไว้ดังนี้ว่า
คำว่า “ไม่ขยัน” คือไม่พยายาม.
คำว่า “ยังหนุ่มแน่น” คือ เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นคนรุ่นหนุ่ม.
คำว่า “มีกำลัง” คือ ทั้งถึงพร้อมด้วยกำลัง.
คำว่า “เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน” คือ เป็นผู้เข้าถึงซึ่งความเป็นผู้เกียจคร้าน กินแล้วๆ ก็นอน
คำว่า “มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมลงแล้ว” คือ ผู้มีจิตประกอบด้วยความดำริอันจมดิ่งลงแล้ว เพราะมิจฉาวิตก (ความตรึกนึกคิดในทางที่ผิด) ๓ ประการ คือ
๑. กามวิตก ตรึกนึกคิดในเรื่องกาม
๒. พยาบาทวิตก ตรึกนึกคิดในการพยาบาทปองร้ายคนอื่น
๓. วิหิงสาวิตก ตรึกนึกคิดในการเบียดเบียนคนอื่น
คำว่า “ขี้เกียจ” คือ ผู้ไม่มีความเพียร.
คำว่า “เกียจคร้าน” คือ บุคคลนั้นเกียจคร้านมาก
ดังนั้น เมื่อไม่เห็นอริยมรรคอันพึงเห็นด้วยปัญญา จึงชื่อว่า ย่อมไม่ประสบ คือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอันต่างโดยคุณมีฌานเป็นต้น
เพราะฉะนั้น เด็กหรือวัยรุ่นที่ขยันในกาลที่ควรขยัน ย่อมประสบความสำเร็จได้ ดังนี้.
_____
สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรค (เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ
22/7/65
หรือ "พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี" ประดิษฐานบนยอดเขานาคเกิด คล้ายกับพระพุทธรูปประจำฮ่องกง The Hong Kong Big Buddha ศิลปะแบบร่วมสมัย ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาวสุริยกันตะ จากพม่า
0 comments: