วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่"

วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกกาลเวลาขึ้นมาตรัสสั่งสอน เป็นธรรมิกถาหรือถ้อยคำที่เป็นข้อธรรมะ หรือเรียกสามัญว่าเป็นสุภาษิตเตือนใจ ดั่งเช่นว่าตรัสสอนภิกษุให้พิจารณาเนืองๆ ว่าวันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และได้ตรัสสอนไว้อีกว่าความเพียรควรเร่งรีบทำในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้ และได้ตรัสสอนถึงสภาพของกาลเวลาไว้ว่า กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้มีสติพิจารณาถึงกาลเวลา เพื่อที่จะได้เกิดปัญญารู้จักว่า จะใช้กาลเวลาอย่างไร ดังที่ตรัสสอนบอกวันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ ก็เพื่อพิจารณาเข้ามาดูว่า เราควรจะใช้กาลเวลาที่มาถึงจำเพาะหน้าประกอบกระทำอะไร และคำว่า อะไร นี้ทุกคนเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า

ทุกคนต่างต้องมีกิจที่พึงทำอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เช่นเมื่อยู่ในวัยเรียนก็คือตั้งใจเล่าเรียนศึกษา เมื่อพ้นวัยเรียนถึงวัยทำการงาน ก็ประกอบการงานเป็นอาชีพ และการงานที่พึงทำอย่างอื่น และโดยเฉพาะภิกษุนั้น ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตราบเท่าบรรลุถึงนิพพาน หรือวิมุติความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง เมื่อยังไม่บรรลุถึงวิมุตินิพพานก็ต้องปฏิบัติในไตรสิกขาเรื่อยไป จะหยุดว่าเพียงพอแล้วมิได้ แม้ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นฝ่ายฆราวาสก็มีหน้าที่ปฏิบัติธรรม อันอาจรวมเข้าได้ในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เช่นเดียวกัน จนกว่าจะสิ้นกิเลสจึงจะเสร็จกิจแห่งการปฏิบัติในไตรสิกขา เมื่อยังไม่สิ้นกิเลสก็ต้องปฏิบัติธรรมคือไตรสิกขานี้เรื่อยไปเช่นเดียวกัน

กิจที่พึงทำทุกวัน

เพราะฉะนั้น กิจที่พึงทำเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้คือในปัจจุบัน และในโลกหน้าคือในภายหน้า ก็เป็นกิจที่พึงทำอยู่ทุกวัน การปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ก็พึงปฏิบัติ พึงกระทำอยู่ทุกวันเช่นเดียวกัน เป็นกิจที่พึงทำ เพราะฉะนั้น จึงพึงประกอบกระทำกิจเหล่านี้ให้งอกงามขึ้นทุกวันๆ โดยไม่ให้กาลเวลาล่วงไปปราศจากประโยชน์ และได้ทรงกำชับอย่างหนักแน่นไว้อีกว่า ควรกระทำความเพียรปฏิบัติกิจที่พึงทำดังกล่าวนั้นตั้งแต่ในวันนี้ ไม่ควรจะผลัดเพี้ยนว่าพรุ่งนี้ๆ เพราะใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาต่อวันพรุ่งนี้

ข้อที่ตรัสเตือนไว้ถึงกาลเวลา

และยังได้ตรัสเตือนไว้ถึงชีวิตอีกว่า การที่ปล่อยให้กาลเวลาล่วงไปเปล่าปราศจากประโยชน์อะไร ย่อมทำให้ชีวิตนี้แม้ที่ดำรงอยู่เป็นชีวิตเปล่า และถ้าซ้ำร้ายใช้ชีวิตนี้ประกอบกระทำการที่ชั่วผิดต่างๆ เป็นบาปอกุศลทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็ทำให้ชีวิตนี้เป็น ทุชีวิตะ คือชีวิตชั่ว แต่ถ้าใช้ชีวิตนี้ประกอบคุณงามความดีต่างๆ ประกอบกิจที่พึงทำต่างๆ ตามหน้าที่ๆ พึงกระทำของตน ให้บรรลุถึงความสำเร็จตามที่สามารถจะพึงบรรลุได้ ก็ชื่อว่าทำชีวิตนี้ให้เป็น สุชีวิตะ คือชีวิตที่ดี

ชีวิตดีชีวิตชั่วเนื่องกับกาลเวลา

การที่ใครจะมีชีวิตเปล่า หรือว่ามีชีวิตชั่ว หรือว่ามีชีวิตดี ก็ย่อมเกี่ยวเนื่องกับกาลเวลา และการงานที่ไม่กระทำ หรือกระทำในกาลเวลานั้นๆ และก็เป็นธรรมดาที่กาลเวลานั้นๆ ไม่ใช่ล่วงไปเปล่า ย่อมทำให้ชีวิตนี้ของทุกๆ คนล่วงไปด้วย แต่เมื่อยังมีสันตติคือความสืบต่อของชีวิต ชีวิตก็ดำเนินต่อไปตามกาลเวลา แต่ในที่สุดเมื่อถึงกาลเวลา กายนี้ก็ต้องแตกสลายชีวิตนี้ก็ดับ

เพราะฉะนั้น จึงเรียกความดับของชีวิตดังกล่าวว่า กาลกิริยา ที่แปลว่าทำ กาละ คือกาลเวลา อันหมายความว่าเป็นกาลเวลาที่สิ้นสุดของชีวิตในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ทุกคนเมื่อระลึกถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสเกี่ยวแก่กาลเวลาดังกล่าวมานี้ มาถูกกาลเวลากินชีวิตอยู่ทุกวันให้ล่วงไป และกาลเวลานั้นก็ล่วงไปเองด้วย จึงเรียกว่ากินตัวเองด้วย พร้อมกับกินสัตว์ทั้งหลาย คือทำชีวิตของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาในโลกนี้ให้ล่วงไป

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงสมควรที่จะน้อมระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมา และปฏิบัติใช้กาลที่ล่วงไปนี้ไม่ให้เปล่าประโยชน์ ไม่ให้เป็นชีวิตเปล่า และไม่ใช้ชีวิตประกอบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ อันทำให้เป็นชีวิตชั่ว และใช้กาลเวลาประกอบกิจที่พึงทำตามหน้าที่ของตน และกิจที่พึงทำคือกุศลสุจริตต่างๆ บุญต่างๆ ตลอดถึงการปฏิบัติธรรม

ความไม่ประมาทในชีวิต

และเพื่อให้เป็นความสำคัญของการใช้ชีวิตให้เป็นชีวิตดีดั่งนี้ จึงได้ตรัสเอาไว้อีกว่า บุคคลที่ทุศีลมีจิตไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย ถึงจะดำรงชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี แต่ความดำรงชีวิตอยู่ของผู้มีศีล มีจิตเพ่งพินิจตั้งมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่า (เริ่ม) ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่า เมื่อทุกคนได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเกี่ยวแก่กาลเวลาดังที่กล่าวมา และตั้งใจที่จะใช้กาลเวลาวันหนึ่งๆ ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ ปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ในศีล และมีจิตเพ่งพินิจตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย หรือกล่าวโดยสรุปว่าเจริญศีลสมาธิปัญญาอยู่ทุกวันๆ ถึงจะต้องสิ้นไปในวันนั้นก็ไม่ต้องเสียใจ และภูมิใจว่าเราได้ใช้กาลเวลาให้เป็นประโยชน์ ประกอบกระทำกิจที่พึงทำต่างๆ ปฏิบัติธรรมเจริญศีลสมาธิปัญญาต่างๆ

ถ้าหากว่าถึงจะมีอายุยืนนานตั้งร้อยปี แต่ใช้ชีวิตให้เป็นโมฆะชีวิตคือชีวิตเปล่า ให้เป็นทุชีวิตะคือชีวิตชั่ว ก็ไม่ประเสริฐอะไร เพราะเมื่อเป็นชีวิตเปล่า อายุยืนไปเท่าไหร่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร และยิ่งซ้ำร้ายใช้ชีวิตชั่วร้าย ยิ่งมีชีวิตยืนนานก็เป็นโอกาสให้ยิ่งประกอบความชั่วร้ายมากขึ้น สร้างบาปอกุศลธรรมมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้บังเกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำความดีในวันหนึ่งๆ ปฏิบัติเจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาในวันหนึ่งๆ อยู่ทุกวัน จะตายวันไหนก็ดีทั้งนั้น ประเสริฐทั้งนั้น ประเสริฐกว่าคนที่มีอายุยืนๆ ตั้งร้อยแต่ว่าไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ หรือซ้ำร้ายกลับใช้ชีวิตกระทำความชั่วร้ายดังกล่าว

เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่ทุกๆ คนจะมีความตั้งใจที่จะรับฟัง และปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ทุกคนเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ประมาทในชีวิตเป็นต้น จะใช้ชีวิตทุกวันๆ ประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ กิจที่เป็นหน้าที่ๆ พึงทำ ปฏิบัติธรรม และเจริญศีลสมาธิปัญญา แล้วก็ทำความสำนึกว่า เมื่อเราปฏิบัติอยู่ดังนี้เราก็จะมีความอุ่นใจ มีความสบายใจ มีความสว่างใจอยู่ทุกวันๆ จะตายวันไหนก็ไม่ต้องกลัว เพราะว่าในปัจจุบันเรามีคติคือการไปที่ดี เป็นสุคติ ดั่งนี้ ต่อไปก็ย่อมมีสุคติคือคติที่ดี การไปที่ดี การถึงที่ดีไม่ต้องสงสัย จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่กลัวตาย จะทำให้เป็นผู้กล้า เป็นผู้ที่สามารถ ที่จะกระทำกิจที่พึงทำ ที่จะทำความดี ที่จะปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันทุกเวลา

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ วันนี้ก็เจริญด้วยอายุวรรณะสุขะพละ พรุ่งนี้ก็เจริญด้วยอายุวรรณะสุขะพละ เป็นผู้ที่มีความสว่างไปอยู่ทุกวันๆ อันนี้เป็นพรสำคัญของชีวิต เพราะฉะนั้น จึงขออำนวยพรนี้แด่ท่านสาธุชนทุกท่าน ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่าน

จากพระธรรมเทศนาเรื่องกาลเวลา  โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณสังวร

ฟังเสียงธรรมบรรยายนี้ได้ที่ :  กาลเวลา  

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: