คำว่าโลก มาจากโลกธาตุ ท่านใช้ในความหมายว่า "ดู, เห็น, แลดู" ฉะนั้นโลกจึงแปลว่า "สิ่งที่บุคคลดู, หรือเห็น, หรือแลดู" ท่านกล่าวว่าโลกมี ๓ ประเภท คือ :- ๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร ๒. สัตตโลก โลกคือหมู่สัตว์ ๓. โอกาสโลก โลกคือภิภพ
ในโลกทั้ง ๓ นั้น สังขารท่านเรียกว่าโลก เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เช่น สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา แปลว่า "สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร" สัตว์ (สังขาร) นี้ถูกปรุงแต่งขึ้นจากปัจจัยต่างๆ คือจากกรรม จิต อุตุ และอาหาร เมื่อสังขารถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาแล้วมีอันต้องแตกสลายย่อยยับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นสังขารโลกต้องพิจารณารู้เห็นโดยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างนี้
หมู่สัตว์ (ทุกจำพวก) ในโลกท่านก็เรียกว่าโลก ท่านอธิบายไว้ว่า "หมู่สัตว์นั้นเป็นที่ปรากฏให้เราเห็นกุศล (บุญ) อกุศล (บาป) ผลของกุศลและอกุศลนั้น (ผลของบุญและบาป)" ดังนั้นจึงเห็นสัตว์ทั้งหลายดีหรือเลวแตกต่างกันและมีสุขหรือทุกข์แตกต่างกันตามอำนาจของผลบุญและบาปที่ทำกันมา
ส่วนโอกาสะกล่าวคือจักรวาลท่านเรียกว่าโลก เพราะเห็นหรือปรากฏโดยอาการอันวิจิตรงดงามยิ่งนัก โลกใบนี้งดงามด้วยดวงดาวในเวลากลางคืนและสว่างไสวด้วยดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน จักวาลก็งดงามด้วยเอกภพซึ่งอยู่ในรูปแบบที่ซับซ้อนและเป็นระบบระเบียบมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ และดวงดาว
เพราะฉะนั้น โลกจึงเป็นที่ประชุมแห่งสังขารคือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา เป็นที่ประชุมแห่งหมู่สัตว์ที่เกิดมาตามอำนาจกรรมและต้องเสวยผลของกรรมนั้น และเป็นที่เห็นหรือปรากฏโดยอาการอันวิจิตร
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "สูทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้เถิด อันตระการตาดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่" จงใช้ปัญญาพิจารณาดูโลกให้เห็นโลกตามความเป็จริงแล้วสร้างกรรมดีไว้เถิดจะได้อยู่เหนือโลกคือถึงซึ่งโลกุตระ
ถึงแม้ว่าโลกนี้จะสับสนวุ่นวายแต่ก็ไม่ควรทำตนให้เป็นคนรกโลก (น สิยา โลกวฑฺฒโน ไม่ควรเป็นคนรกโลก)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์
0 comments: