สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ แปลว่า "จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ"
ตั้งจิตไว้ในธรรมอะไรจึงชื่อว่าตั้งไว้ชอบแล้ว ? เมื่อตั้งจิตไว้ชอบย่อมได้อานิสงส์อะไรบ้าง ? ในบทพระบาลีนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายขยายความไว้อย่างไรบ้าง ? เชิญท่านพิจารณาธรรมและบูชาธรรม
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ แปลว่า "จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ" ท่านพระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่า ทสสุ กุสลกมฺมปเถสุ สมฺมาฐปิตตฺตา สมฺมาปณิหิตํ แปลว่า "จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ เพราะตั้งจิตไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ” (กุศลกรรมบถ หมายถึง ทางแห่งกรรมดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติ มีการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามเป็นต้น) หรือในเวลาที่เราตั้งใจทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ชอบเหมือนกัน
ท่านอธิบายไว้อีกว่า “ถึงแม้ว่ามารดาบิดาบางคนจะมีทรัพย์มากมายเท่าใดก็ตาม เมื่อจะให้ทรัพย์แก่บุตร ย่อมอาจให้ทรัพย์สำหรับไม่ต้องทำการงานอะไรๆ เลย แต่สามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้อย่างสบายๆ เพียงอัตภาพเดียวเท่านั้น (เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น) มารดาบิดาผู้สามารถให้สิริคือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้ง ๔ แก่บุตรได้นั้นไม่มี ไม่ต้องพูดถึงการให้ทิพยสมบัติหรือฌานสมาบัติต่างๆ ไม่มีมารดาบิดาคนไหนให้ลูกได้ ยิ่งโลกุตรสมบัติไม่ต้องพูดถึงเลย แต่จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบในกุศลกรรมบททั้ง ๑๐ ประการนั้นสามารถให้สมบัติทั้งหมดนั้นได้ ให้ได้ทั้งโลกียสมบัติและโลกุตรสมบัติ”
กรรมบถ คือทางแห่งกุศลกรรม ได้แก่การกระทำที่นับว่าเป็นความดี -ที่เป็นกายกรรม มี ๓ อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม -ที่เป็นวจีกรรม มี ๔ คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ -ที่เป็นมโนกรรม มี ๓ คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม (สัมมาทิฐิ)
สาธุขอให้ท่านผู้อ่านผู้ปฏิบัติตามจงได้โลกุตรสมบัติทุกๆ ท่าน
พระมหาวัชระ เชยรัมย์
0 comments: