บุญเกิดด้วยทาน ๑ ศีล ๑ และ ภาวนา ๑
ทำไมการให้ทานจึงนับว่าเป็นบุญ ก็เพราะว่าการให้ทานมุ่งที่จะลดและขจัดความตระหนี่ พระพุทธองค์ให้ความสำคัญกับการจัดการกับความตระหนี่มาก ในโอกาสหนึ่งพระพุทธองค์ตรัส จิตที่ยังมีความตระหนี่ครอบงำอยู่ไม่สามารถเข้าฌานได้
พระพุทธองค์ตรัสถึงความตระหนี่ ๕ อย่าง
๑. ตระหนี่ในลาภ คือทรัพย์สมบัติเงินทอง คือความยึดมั่นถือมั่นว่านี่ของเรา อย่ามายุ่ง ผู้ที่ตระหนี่ในลาภมักจะมองคุณค่าของตัวเองประเมินได้ด้วยวัตถุหรือตัวเลขในบัญชีธนาคาร ตระหนี่อย่างนี้ใจคับแคบที่สุด
๒. ตระหนี่ในวรรณะ ความตระหนี่นี้อาจเริ่มตั้งแต่ต้องการจะสวยคนเดียว จะหล่อคนเดียว จิตจะเครียดและวุ่นวายกับภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่วรรณะไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความสวยงามของร่างกาย ผู้ตระหนี่ในวรรณะคือผู้ที่ตระหนี่ในการดูดีของตนเอง เช่น ต้องการเป็นที่ชื่นชมคนเดียว เป็นที่ประทับใจ เป็นที่น่าทึ่ง น่าเคารพนับถือคนเดียว เมื่อรู้สึกว่าเราดูดีในสายตาของคนอื่นในนัยใดนัยหนึ่ง ความตระหนี่มักเกิดขึ้น หวงแหนเอาไว้ โดยถือว่าคุณค่าของเราประเมินได้ด้วยความรู้สึกของคนอื่นที่มีต่อเรา
สองข้อต่อไปนี้เน้นที่พระสงฆ์ คือ
๓. ตระหนี่ในอาวาส คือกีดกันไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่พรรคพวกหรือไม่ถูกจริตเข้ามาอยู่อาศัย ข้อนี้จะเห็นชัดในพระสงฆ์ที่หวงแหนกุฏิหรือเสนาสนะ ในวัดป่าสายหลวงพ่อชาจึงมีข้อวัตรปฏิบัติว่า ถ้าพระเดินทางไปไหนเป็นเวลานานก็ต้องสละกุฏิท่าน โดยถือว่าไม่ใช่กุฏิท่านแล้ว ท่านไม่มีสิทธิ์กลับมาอยู่กุฏิหลังนี้ต่อไป
๔. ตระหนี่ในตระกูล ความตระหนี่นี้เกิดขึ้นเมื่อพระมีลูกศิษย์หรืออุปัฏฐากที่ศรัทธาเลื่อมใสและใจบุญ แล้วท่านพยายามกีดกันไม่ให้เกิดศรัทธาหรือพยายามไม่ให้ลูกศิษย์ของท่านไปทำบุญกับพระองค์อื่นหรือสำนักอื่น
ข้อ ๓ และ ๔ ถึงเน้นที่สงฆ์ แต่ผู้ครองเรือนก็คงได้คติธรรมได้บ้างเหมือนกัน
๕. ตระหนี่ในธรรม ข้อนี้เป็นได้กับทั้งพระและโยม คือผู้ที่ต้องการยกตนข่มท่านด้วยภูมิธรรม ถ้ามีเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยหรือเทคนิคอะไรต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลในการปฏิบัติของตน ก็เก็บไว้ไม่ให้ใครทราบ เพราะไม่ต้องการให้ใครเก่งเท่าหรือเก่งกว่าตน
ความตระหนี่ ๕ อย่างนี้ แก้ยากเหมือนกัน แต่การปลูกฝังนิสัยในการให้ทาน ให้รู้จักปล่อยวางในขั้นหยาบจะให้แนวทางและเป็นพลังในการระงับความตระหนี่ที่ละเอียดขึ้นไป
พระอาจารย์ชยสาโร
Credit: ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร/ Dhamma by Ajahn Jayasaro
ภาพ : นักรบตะวันออก
"พระพุทธรูปปางนาคปรก" วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี
วัดนี้ผู้คนทั่วไปจะนึกถึง พระอธิการศุภรัตน์ ฐิตธมฺมปาโล (หลวงเตี่ย) หลวงเตี่ยท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่บุดดา ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางชูศรีเจริญสุข ในจังหวัดสิงห์บุรี ด้วยความที่เห็นองค์พระพุทธรูปปางนาคปรกที่องค์ใหญ่สะดุดตา จึงเกิดความสนใจที่จะแวะเข้าไปเยี่ยมชมวัดนี้ เมื่อเข้ามาในวัดพบกับพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ และอุทธยานเจ้าแม่กวนอิม บรรยากาศดูเงียบสงบ ทราบมาว่าเป็นวัดที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติธรรม
จุดน่าสนใจ เช่นพระอุโบสถกลางน้ำ , กำแพงพญานาค, พิพิธภัณฑ์หิน ที่สร้างขึ้นจากความชอบเก็บสะสมหินสวยงามของหลวงเตี่ย และรูปปั้นพยานาคที่มีขนาดลำตัวยาว จนอยากที่จะกลับไปชมเก็บรายละเอียดให้ครบอีกสักครั้ง ด้านข้างกันมีอุทธยานเจ้าแม่กวนอิม ศิลปะแบบจีน มีรูปปั้นองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ประทับอยู่บนมังกร พระหัตถ์ซ้ายถือแจกันน้ำอมฤต พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิวอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประพรมน้ำอมฤต บนพระเศียรมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
ที่มา : https://singburi.mots.go.th/news_view.php?nid=728
0 comments: