คิดให้รอบคอบ เรื่องชอบกับชัง
การที่เราชอบใครสักคนหรือชังใครสักคน เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ?
ฟังเรื่องเทียบก่อน แล้วค่อยตอบ
การกระทำใดๆ ก็ตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด จะต้องมีองค์ประกอบด้วยเสมอ ถ้าทำครบองค์ประกอบ ๑... ๒... ๓... การกระทำนั้นถือว่าผิดตามกฎหมาย
ผู้พิพากษาเมื่อตัดสินการกระทำใดๆ ถ้าผู้ทำทำครบองค์ประกอบที่กำหนดว่าเป็นความผิด แม้ผู้ทำจะเป็นคนที่ผู้พิพากษาชอบ ผู้พิพากษาก็ต้องตัดสินว่าทำความผิด ถ้าผู้ทำทำไม่ครบองค์ประกอบ แม้ผู้ทำจะเป็นคนที่ผู้พิพากษาชัง ผู้พิพากษาก็ต้องตัดสินว่าไม่ได้ทำความผิด
นี่คือใช้ข้อกำหนดตามกฎหมายเป็นเกณฑ์
แล้วการที่เราชอบใครสักคนหรือชังใครสักคน เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์?
ถ้าดูกันตามความเป็นจริง ก็คงจะต้องตอบว่า เราใช้ความพอใจส่วนตัวของเราเป็นเกณฑ์
คนคนนี้ ถ้าทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ถูกใจเรา ตรงกับที่เราคิด เราก็ชอบเขา
คนคนโน้น ถ้าทำอย่างโน้น พูดอย่างโน้น คิดอย่างโน้น ไม่ถูกใจเรา ไม่ตรงกับที่เราคิด เราก็ชังเขา
เราชอบเราชังไปตามใจเรา ใช่หรือไม่
เมื่อเอาใจตัวเองคือใจของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ๑๐๐ คน ก็ ๑๐๐ ใจ คนคนเดียวกันนั่นเอง ทำ พูด หรือคิดแบบเดียวกันนั่นเอง คนหนึ่งชอบ แต่อีกคนหนึ่งชัง องค์ประกอบหรือสาเหตุที่ทำให้เราชอบหรือชังใครสักคนอาจมีได้หลายประการ ยกมาสักประการหนึ่ง เช่น -
เราชอบคนคนนี้ ใครชอบคนที่เราชอบ เราก็ว่าเขาดี ดี-ที่มาช่วยเราชอบ แต่ถ้าใครชังคนที่เราชอบ เราก็ว่าเขาไม่ดี หน็อย มาเกลียดคนที่เราชอบได้อย่างไร
เราชังคนคนนี้ ใครชังคนที่เราชัง เราก็ว่าเขาดี ดี-ที่มาช่วยเราชัง แต่ถ้าใครชอบคนที่เราชัง เราก็ว่าเขาไม่ดี หน็อย ไปชอบคนที่เราเกลียดทำไม
นี่เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งในหลายๆ ตัวแปรที่เป็นเหตุให้เราชอบใครหรือชังใคร
ทีนี้ เมื่อเราชอบหรือชังใครไปแล้ว ปฏิกิริยาที่มีต่อคนคนนั้นก็จะแตกต่างกัน ตัวอย่างที่เข้าใจกันทั่วไปก็เช่น -
กรณีรับประทานอาหารได้มาก ถ้าเป็นคนที่เราชอบ เราก็จะว่าเขาเจริญอาหารดี กินเก่ง แต่ถ้าเป็นคนที่เราชัง เราก็จะว่าตะกละ
กรณีตอบปัญหาไม่ถูก ถ้าเป็นคนที่เราชอบ เราก็จะว่าน่ารัก ซื่อดี แต่ถ้าเป็นคนที่เราชัง เราก็จะว่าโง่ เซ่อ
กรณีตอบปัญหาถูกต้อง ถ้าเป็นคนที่เราชอบ เราก็จะว่าเก่ง ฉลาด แต่ถ้าเป็นคนที่เราชัง เราก็จะว่าอวดรู้ อวดฉลาด
จะเห็นได้ว่า เพราะเอาความพอใจเป็นเกณฑ์ การที่ใครจะชอบใครหรือชังใครจึงคาดเดาไม่ได้ เอาอะไรเป็นมาตรฐานไม่ได้ และเพราะชอบหรือชังนั่นเอง ปฏิกิริยาหรือการแสดงออกของเราจึงไม่เป็นมาตรฐาน
ในฐานะผู้กระทำ คือผู้ชอบหรือผู้ชัง เราอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้ากลับกัน-ในฐานะผู้ถูกกระทำ คือคนที่ถูกชอบหรือถูกชังอย่างไม่มีมาตรฐานเช่นนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร ลองคิดดู
บางคน-หลายคนอาจบอกว่า ฉันไม่แคร์ ใครจะชอบฉัน ใครจะชังฉัน ฉันไม่แคร์ (ฉันไม่ได้ขอข้าวใครกิน) และฉันจะชอบใครหรือชังใคร มันก็เป็นสิทธิของฉัน เป็นเรื่องส่วนตัวของฉัน คนอื่นไม่มีสิทธิ์มาก้าวก่าย แต่ไม่ว่าใครจะแคร์หรือใครจะไม่แคร์ ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ถ้ามนุษย์ไปอยู่ตามลำพังในป่าหิมพานต์ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกัน ก็สบายเลย จะหกคะเมนตีลังกาอย่างไรไม่ต้องแคร์อะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป กฎเกณฑ์กรอบกติกา-ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร-ต้องมาทันที ต้องมีทันที อย่างที่รู้กันว่า เสรีภาพของคนหนึ่งย่อมถูกจำกัดด้วยเสรีภาพของอีกคนหนึ่ง
การจะชอบใคร การจะชังใคร จึงไม่พ้นที่จะต้องมีกรอบกติกาอะไรสักอย่าง
ยิ่งเมื่อชอบหรือชังแล้วเก็บนิ่งสงบอยู่ในใจไม่ได้ ต้องมีปฏิกิริยาหรือการแสดงออก กรอบกติกาก็ยิ่งจำเป็น เมื่อถูกชอบหรือถูกชัง คนเราควรมีสิทธิ์ที่จะคิดได้ว่าเราได้รับความเป็นธรรมจากผู้ชอบผู้ชังบ้างหรือเปล่า และเมื่อเป็นผู้ชอบหรือผู้ชัง คนเราก็ควรมีหน้าที่ตรวจสอบตัวเองว่าเราให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกชอบถูกชังแค่ไหน
ชอบหรือชัง พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร
พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีเมตตาต่อกัน
เมตตาคือการมองเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนรักของเรา
มีหลักคำสอนว่า ในสังสารวัฏคือการเวียนตายเวียนเกิดอันหาจุดเริ่มต้นและจุดจบไม่พบนี้ ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยเกิดเป็นอะไรๆ กันมาก่อน
ดังนั้น จะต้องโกรธเกลียดชิงชังกันทำไมในเมื่อคนที่เราโกรธเกลียดชิงชังนั้นครั้งหนึ่งคือพ่อเรา แม่เรา พี่เรา น้องเรา ผัวเรา เมียเรา ลูกเรา หลานเรา ญาติเรา ครูเรา ศิษย์เรา เพื่อนเรา เจ้านายเรา ลูกน้องเรา ฯลฯ
เราจะโกรธเกลียดชิงชังคนเหล่านี้-เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น-ไปทำไม
ถ้าเห็นว่าใครทำดี ก็ควรอนุโมทนากับเขา
ถ้าเห็นว่าเขาทำผิดทำชั่ว ก็อย่านิ่งเฉย ควรช่วยทักท้วงติงเตือนกันด้วยความปรารถนาดี
ยิ่งถ้าแน่ใจว่าการทำผิดทำชั่วของเขาจะก่อให้เกิดโทษใหญ่ภัยมหันต์แก่สังคมส่วนรวม และถ้าเรายืนยันว่าเราปรารถนาดีต่อสังคมส่วนรวมจริงๆ เราก็ยิ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถในการทักท้วงติงเตือนอย่างนุ่มนวลแนบเนียนมากกว่าปกติหลายเท่า
แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีด่าว่าหรือรุมกระทืบ
เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งด่าว่าหรือรุมกระทืบได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องหาวิธีด่าว่าหรือรุมกระทืบตอบกลับได้เช่นกัน-อันเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ
ที่เกิดความขัดแย้งกันทั่วไปในสังคมก็เพราะเรานิยมใช้วิธีนี้-วิธีด่าว่ากัน รุมกระทืบกัน
ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน (พระอภัยมณี)
เราเป็นไมตรีปรานีกับเขา แต่เขาไม่เป็นไมตรีปรานีกับเรา จะทำอย่างไร ยอมเป็นเบี้ยล่างเขาร่ำไป ยอมสยบให้คนชั่วคนเอาเปรียบสังคมร่ำไป
ตรงนี้แหละคือที่มาของกลไกการปกครองที่ทุกสังคมต้องจัดให้มีและต้องบริหารให้เข้มแข็ง หลักพื้นฐานคือบริหารจิตใจของผู้บริหารก่อน เรื่องก็จะวนกลับไปที่พระศาสนาซึ่งมีหน้าที่บริหารจิตใจของผู้คนในสังคม ถึงตอนนี้ก็จะมีเสียงดังออกมาว่า ผู้บริหารการพระศาสนานั่นแหละที่จะต้องบริหารจิตใจตัวเองก่อนใครอื่น
ในที่สุดก็จะเห็นความจริงว่า ไม่ว่าจะคิดไปสักเท่าไรๆ เรื่องมันก็จะมาลงที่-จิตใจของมนุษย์ทั้งสิ้น และพื้นที่ในจิตใจของมนุษย์ก็จะมี ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือชอบกับชัง ถ้าบริหารจัดการเรื่องชอบกับชังไม่ได้หรือไม่ดี ก็ยากที่จะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ทิ้งไว้ให้คิดกันแค่นี้แหละครับผม
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔, ๑๕:๐๕
หมายเหตุ: ภาพประกอบอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่อง เป็นภาพที่ญาติมิตรท่านหนึ่งส่งมาให้ทางไลน์ ท่านบอกว่าให้เอาภาพไปขยายดู จะเห็นเรื่องราวพุทธประวัติปรากฏอยู่ในภาพ ผมเห็นว่าคนทำภาพเขาทำได้ลึกซึ้งดี ก็เลยเอามาฝากไว้ในบทความเรื่องนี้ครับ
0 comments: