วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ผู้ยิ่งด้วยปัญญา หากมีใจกรุณา ย่อมนำหมู่คณะให้รอดพ้นภัย”

“ผู้ยิ่งด้วยปัญญา หากมีใจกรุณา ย่อมนำหมู่คณะให้รอดพ้นภัย”

การเล่าเรียนวิชาการทางพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งคุณและโทษ อาจดีอาจเสียก็ได้ คือ

๑. ปริยัติใดอันบุคคลเรียนไม่ดี คือเรียนเพราะเหตุมีการโต้แย้งกันเป็นต้น ปริยัตินี้ ชื่อว่า ปริยัติเปรียบด้วยงูพิษ 🐍

๒. ปริยัติใด อันบุคคลเรียนดีแล้ว คือจำนงอยู่ซึ่งความบริบูรณ์แห่งคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นนั่นแล เรียนแล้ว ไม่ได้เรียนเพราะเหตุมีความโต้แย้งเป็นต้น ปริยัตินี้ ชื่อว่า ปริยัติมีประโยชน์ที่จะออกจากวัฏฏะ 🙏

๓. ส่วนพระขีณาสพ ผู้มีขันธ์อันกำหนดรู้แล้ว มีกิเลสอันละแล้ว มีมรรคอันอบรมแล้ว มีธรรมอันไม่กำเริบแล้ว แทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันกระทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใด เพื่อต้องการแก่อันดำรงไว้ซึ่งประเพณี เพื่อต้องการแก่อันตามรักษาซึ่งวงศ์ (แห่งพระพุทธศาสนา) ปริยัตินี้ ชื่อว่า ปริยัติของท่าน "ผู้ประดุจขุนคลัง"💰

เพราะฉะนั้น ผู้เล่าเรียนพระปริยัติแล้ว หากมีใจกรุณากระทำกิจให้สมกับปัญญา ย่อมเป็นคุณทั้งแก่ตนและนำพาหมู่คณะให้รอดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้

ดังความปรากฏในอารัมภกถา ในอรรถกถาธรรมสังคณี ชื่ออัฏฐสาลินี มีใจความรำลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบรมศาสดาว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงมีพระราชหฤทัยประกอบด้วยพระมหากรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงทรงประกาศพระอริยสัจจธรรม อันเป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากวัฏทุกข์”  สมดังพระบาลีว่า

กรุณา วิย สตฺเตสุ      ปญฺญา  ยสฺส  มเหสิโน

เญยฺยธมฺเมสุ  สพฺเพสุ    ปวตฺติตฺถ  ยถารุจึ ฯ

แปลความว่า

“ปัญญาคือพระสัพพัญญุตญาณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นไปทั่วแล้วในไญยธรรมทั้งปวง ตามความพอพระทัย ประดุจพระกรุณาที่ทรงแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายฉะนั้น”

เพราะฉะนั้น ผู้ยิ่งด้วยปัญญา หากมีใจกรุณา ย่อมนำหมู่คณะให้รอดพ้นภัยได้ ดังนี้แล.

สาระธรรมจากอารัมภกถา ในอรรถกถาธรรมสังคณี ชื่ออัฏฐสาลินี

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) 

7/10/64







Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: