วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

มีเสียงหวานไพเราะเหมือนน้ำผึ้งเดือนห้าได้อย่างไร ?

มีเสียงหวานไพเราะเหมือนน้ำผึ้งเดือนห้าได้อย่างไร ?

(ทำอย่างไรจึงจะมีคุณค่าสูงสุดในตัว โดยมิต้องแต่งแต้มสีสัน)

พระโมฆราชเถระ เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ๑ ใน ๑๖ คนที่ถูกอาจารย์ส่งไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า ณ ปาสาณเจดีย์

ในบรรดามาณพทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพนับว่าเป็นผู้มีปัญญาดีกว่ามาณพทั้งหมด จึงคิดที่จะทูลถามปัญหาเป็นคนแรก แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า  “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงรอให้มาณพคนอื่น ๆ ถามก่อนเถิด” จึงได้มีโอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ โดยกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุดังนั้น จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า จงถอนความเห็นว่ามีตัวตนของเราเสีย ทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็น”

โมฆราชมาณพได้บรรลุธรรม และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยนับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ที่สำคัญของพระพุทธศาสนา พระโมฆราชเถระนั้น เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ท่านมีใจยินดีในการครองจีวรเศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านว่า  “เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง”

พระโมฆราชเถระได้ประกาศประวัติในอดีตชาติของตนไว้ว่า

“ข้าพเจ้านำน้ำผึ้งรวงที่ไม่มีโทษ (มีตัวผึ้งออกแล้ว) ใส่เต็มหม้อแล้ว ใช้มือทั้ง ๒ ข้างประคอง น้อมถวายพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงรับด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ครั้นเสวยน้ำผึ้งนั้นแล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ

ฯลฯ

ข้าพเจ้าละโยคะที่เป็นของมนุษย์ได้แล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือภพได้แล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ” ดังนี้เป็นต้น.

พระโมฆราเถระแม้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง แต่ก็เป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ปรารถนาแห่งมหาชนทั้งปวง ดังน้ำผึ้งเดือนห้ามีสีตามธรรมชาติตั้งแต่สีเหลืองอ่อนถึงน้ำตาล แต่มีความใสไม่ขุ่นทึบ เป็นที่ต้องการแห่งมหาชน เพราะอุดมไปด้วยสรรคุณทั้งปวง ดังนี้แล.

สาระธรรมจากโมฆราชเถราปทาน

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

29/9/64

มีเสียงหวานไพเราะเหมือนน้ำผึ้งเดือนห้าได้อย่างไร ? ,    พระโมฆราชเถระ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง 










Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: