จูฬนนฺทิยชาตกํ - ผลของกรรมดีกรรมชั่ว
"อิทํ ตทาจริยวโจ, ปาราสริโย ยทพฺรวิ [1];
มาสุ ตฺวํ อกริ [2] ปาปํ, ยํ ตฺวํ ปจฺฉา กตํ ตเป ฯ
ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำตัวท่านให้เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้น เป็นถ้อยคำของท่านอาจารย์."
"ยานิ กโรติ ปุริโส, ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ;
กลฺยาณการี กลฺยาณํ, ปาปการี จ ปาปกํ;
ยาทิสํ วปเต พีชํ, ตาทิสํ หรเต ผลนฺติ ฯ
บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน, ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี, ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว, บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น."
1) [โปราณาจริโยพฺรวิ (ก.)] 2) [อกรา (สี. ปี.)]
อรรถกถาจุลลนันทิยชาดกที่ ๒
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิทํ ตทาจริยวโจ ดังนี้.
ความย่อมีอยู่ว่า วันหนึ่งพวกภิกษุประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า „ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าพระเทวทัตเป็นผู้กักขฬะหยาบช้า โผงผาง ประกอบการมุ่งปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กลิ้งศิลา ปล่อยช้างนาฬาคิรี มิได้มีแม้แต่ขันติเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ ในพระตถาคตเลย.“
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?“ เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตกักขฬะ หยาบคาย ไร้กรุณามิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเทวทัตก็กักขฬะ หยาบคายไร้กรุณาเหมือนกัน“ แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า. :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นวานรชื่อนันทิยะ อยู่ในหิมวันตประเทศ มีน้องชายชื่อว่าจุลลนันทิยะ ทั้งสองพี่น้องมีวานร ๘๔,๐๐๐ เป็นบริวาร ปรนนิบัติมารดาซึ่งตาบอด อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ. วานรสองพี่น้องให้มารดาพักนอนที่พุ่มไม้ เข้าไปป่าหาผลไม้ที่มีรสอร่อยได้แล้ว ส่งไปให้มารดา. ลิงที่นำมามิได้เอาไปให้มารดา. มารดาถูกความหิวครอบงำจนผอมซูบซีดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก.
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์จึงถามมารดาว่า „แม่จ๋า ลูกส่งผลไม้มีรสอร่อยมาให้แม่ ไฉนแม่จึงซูบผอมนักเล่า?“ มารดาตอบว่า "ลูกเอ๋ย แม่ไม่เคยได้เลย“ พระโพธิสัตว์คิดว่า „เมื่อเรายังปกครองฝูงวานรอยู่ แม่ของเราคงตายเป็นแน่ เราจะละฝูงวานรไปปรนนิบัติแม่เท่านั้น.“
พระโพธิสัตว์จึงเรียกจุลลนันทิยะมากล่าวว่า „นี่แน่ะ น้อง น้องจงปรกครองฝูงวานรเถิด พี่จักปรนนิบัติแม่เอง." ฝ่ายจุลลนันทิยะจึงกล่าวว่า „พี่จ๋า น้องไม่ต้องการปกครองฝูงวานร น้องก็จะปรนนิบัติแม่บ้าง.“ พี่น้องทั้งสองนั้นมีความเห็นเป็นอันเดียวกันฉะนี้แล้วจึงละฝูงวานรพามารดาออกจากหิมวันตประเทศ อาศัยอยู่ที่ต้นไทรชายแดน ปรนนิบัติมารดา.
ครั้งนั้น มีพราหมณ์มาณพชาวกรุงพาราณสีผู้หนึ่ง เรียนจบศิลปะทุกประการ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในเมืองตักกสิลา อำลาอาจารย์ว่า „กระผมจักไป.“
ฝ่ายอาจารย์ก็รู้ด้วยอานุภาพวิชชาในตนว่า „มาณพนั้นเป็นคนกักขฬะ หยาบช้า โผงผาง“ จึงสั่งสอนว่า „แน่ะพ่อ เจ้าเป็นคนกักขฬะ หยาบช้า โผงผาง ถ้าขืนเป็นอย่างนี้จะไม่มีผลสำเร็จเช่นเดียวกันตลอดกาล ย่อมต้องพบความพินาศ ความทุกข์อย่างใหญ่หลวงท่านอย่าได้เป็นคนกักขฬะ หยาบช้า อย่าได้ทำกรรมอันให้เดือดร้อนในภายหลังเลย“ ดังนี้แล้ว จึงส่งไป.
พราหมณ์มาณพนั้นไหว้อาจารย์แล้วไปสู่กรุงพาราณสี มีครอบครัวแล้ว เมื่อไม่สามารถจะเลี้ยงชีพด้วยศิลปะอย่างอื่น จึงคิดว่า „เราจักยึดเอาคันธนูเป็นที่พึ่งเลี้ยงชีวิต คือจักหากินทางเป็นพราน“ ออกจากกรุงพาราณสี อยู่ที่บ้านชายแดน ผูกสอดธนูและแล่งธนูเสร็จแล้ว เข้าป่าล่าเนื้อนานาชนิด เลี้ยงชีพด้วยการขายเนื้อ.
วันหนึ่งเขาหาอะไรในป่าไม่ได้เลย กำลังเดินกลับพบต้นไทรอยู่ที่ริมเนิน คิดว่า „น่าจะมีอะไรอยู่ที่ต้นไทรนี้บ้าง“ จึงเดินตรงไปยังต้นไทร. ขณะนั้นวานรสองพี่น้องนั่งอยู่ระหว่างค่าคบ ให้มารดาเคี้ยวกินผลไม้อยู่ข้างหน้า เห็นพราหมณ์มาณพนั้นเดินมา คิดว่า „ถึงจะเห็นมารดาเรา ก็คงจะไม่ทำอะไร“ จึงแอบอยู่ระหว่างกิ่งไม้.
ฝ่ายบุรุษโผงผางผู้นั้นมาถึงโคนต้นไม้แล้ว เห็นมารดาของวานรนั้นแก่ทุพพลภาพตาบอด คิดว่า „เราจะกลับไปมือเปล่าทำไม? จักยิงนางลิงตัวนี้เอาไปด้วย“ จึงโก่งธนูหมายจะยิงนางลิงแก่ตัวนั้น.
พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงกล่าว „พ่อจุลลนันทิยะบุรุษผู้จะยิงมารดาของเรา. พี่จะสละชีวิตให้แทนมารดา เมื่อพี่ตายไปแล้ว น้องจงเลี้ยงดูมารดาเถิด“ จึงออกจากระหว่างกิ่งไม้กล่าวว่า „ท่านผู้เจริญขอท่านอย่าได้ยิงมารดาของเราเลย มารดาของเราตาบอด ทุพพลภาพเราจะสละชีวิตให้แทนมารดา ขอท่านอย่าได้ฆ่ามารดาเลย จงฆ่าเราเถิด“ รับปฏิญญาของบุรุษนั้นแล้วจึงไปนั่งในที่ใกล้ลูกศร.
บุรุษนั้นปราศจากความกรุณา ยิงพระโพธิสัตว์ตกลงแล้วขึ้นธนูอีกเพื่อจะยิงมารดาของพระโพธิสัตว์ด้วย. จุลลนันทิยะเห็นดังนั้น คิดว่า „บุรุษผู้นี้ใคร่จะยิงมารดาของเรา มารดาของเราแม้จะมีชีวิตอยู่วันเดียว ก็ยังได้ชื่อว่ารอดชีวิตแล้ว เราจักสละชีวิตให้แทนมารดา“ จึงออกจากระหว่างกิ่งไม้กล่าวว่า „ท่านผู้เจริญท่านอย่ายิงมารดาของเราเลย เราจักสละชีวิตให้แทนมารดาท่านยิงเราแล้วเอาเราสองพี่น้องไป จงไว้ชีวิตแก่มารดาของเราเถิด“ รับปฏิญญาของบุรุษนั้นแล้ว นั่งในที่ใกล้ลูกศร.
บุรุษนั้นจึงยิงจุลลนันทิยะนั้นตกลงแล้วคิดว่า „เราจักเอาไปเผื่อเด็ก ๆ ที่บ้าน“ จึงยิงมารดาของวานรทั้งสองด้วยตกลง หาบไปทั้ง ๓ ตัว มุ่งหน้า ตรงไปบ้าน.
ครั้งนั้น สายฟ้าได้ตกลงที่บ้านของบุรุษชั่วนั้น ไหม้ภรรยาและลูกสองคนพร้อมกับบ้าน เหลือแต่เพียงเสากับขื่อ.
ขณะนั้นบุรุษผู้หนึ่ง พบบุรุษชั่วนั้นที่ประตูบ้านนั่นเองจึงเล่าความเป็นไปให้ฟัง. บุรุษชั่วผู้นั้นถูกความเศร้าโศกถึงบุตรและภรรยาครอบงำ ทิ้งหาบเนื้อและธนูกับแล่งไว้ตรงนั้นเอง ปล่อยผ้า เปลือยกายประคองแขนร่ำไห้เข้าไปที่เรือน ขณะนั้น ขื่อหักตกลงมาถูกศีรษะแตก แผ่นดินแยกออกเป็นช่องเปลวไฟแลบขึ้นมาจากอเวจีมหานรก.
บุรุษชั่วผู้นั้นกำลังถูกแผ่นดินสูบ ระลึกถึงโอวาทของอาจารย์ได้ คิดว่า „ท่านปาราสริยพราหมณ์เห็นเหตุนี้ จึงได้ให้โอวาทแก่เรา“ ได้กล่าวคาถาสองคาถารำพันว่า :-
„ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำตัวท่านให้ เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้นเป็นถ้อยคำของท่านอาจารย์.“
„บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน, ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว, บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.“
อธิบายแห่งคาถานั้นว่า ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า เจ้าอย่าได้ทำบาปนะ บาปใดเจ้าทำไว้ บาปนั้นจะเผา ผลาญท่านในภายหลัง นี่เป็นคำของท่านอาจารย์ บุรุษทำกรรม เหล่าใดไว้ทางกายทวาร วจีทวารและมโนทวาร เมื่อเขากลับได้ผลของกรรมนั้นย่อมพบกรรมเหล่านั้นเองในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมเสวยผลดี แต่ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเสวยผลชั่วช้าลามกไม่น่าปรารถนา แท้จริงแม้ในทางโลกบุคคลหว่านพืชเช่นใดไว้ย่อมนำไปซึ่งพืชนั้น คือย่อมเก็บผลได้รับผล เสวยผล อันสมควรแก่พืชนั้นเอง.
บุรุษผู้ชั่วช้านั้นคร่ำครวญอยู่อย่างนั้นเอง เข้าไปสู่แผ่นดินเกิดในอเวจีมหานรก.
พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตกักขฬะหยาบช้ามิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็กักขฬะ หยาบช้าไร้กรุณาเหมือนกัน“ แล้วทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาทรงประชุมชาดก. บุรุษพรานในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้ อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้เป็นสารีบุตร จุลลนันทิยวานรได้เป็นอานนท์ มารดาวานรได้เป็นมหาปชาบดีโคตมีส่วนมหานันทิยวานร คือเราตถาคตนี้แล. จบอรรถกถาจุลลนันทิยชาดกที่ ๒
Credit: Palipage: Guide to Language - Pali
0 comments: