วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“นิพพาน” ไม่ใช่ถิ่นฐาน ไม่ใช่ดินแดน ไม่ใช่เมืองแก้ว ไม่ใช่สุขาวดี

“นิพพาน” ไม่ใช่ถิ่นฐาน ไม่ใช่ดินแดน ไม่ใช่เมืองแก้ว ไม่ใช่สุขาวดี

ถ้านิพพานของพระพุทธเจ้าเป็น “ดินแดน” ท่านก็ต้องบอกไว้นานแล้ว และเราก็ต้องเจอ(ในหลักฐานพระไตรปิฎก) เพราะแม้แต่เพียงคำที่ไม่สำคัญ เป็นแค่อุปมาอุปไมย ก็ยังอยู่ดีมิได้หายไปไหน

ยิ่งกว่านั้น ถ้านิพพานเป็นดินแดนจริงอยู่แล้ว จะต้องอุปมาอีกทำไม?

สถานที่ ถิ่นฐาน ดินแดน ทั้งหลาย มีแต่ที่เป็นโลก เป็นภพ เท่านั้น “นิพพาน” เป็น “โลกุตตระ” พ้นจากโลก พ้นจากภพ ทั้งหมดแล้ว จึงไม่เป็นสถานที่ หรือ ถิ่นแดนใดๆ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “กรณีธรรมกาย” หน้า ๒๓๓-๒๓๔

คำแปลศัพท์ คำว่า “นิพพาน” ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านใช้กัน ในความหมายสามัญเชิงรูปธรรม แปลว่า “การดับ” เช่น “อัคคินิพพาน” คือดับไฟ หายร้อน อย่างสิ่งที่ถูกเผามา เมื่อดับไฟแล้วเย็นลง แต่เมื่อนำมาใช้ในทางธรรม ก็มีความหมายพิเศษเชิงนามธรรม หมายถึงการดับกิเลส ดับทุกข์ โดยดับเพลิงกิเลส หรือดับไฟโลภะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟทุกข์ ไฟโศก หมดความเร่าร้อน สงบเย็น...”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “กรณีธรรมกาย” หน้า ๒๓๑

“ภาวะแห่งนิพพาน”

“เมื่อสังสารวัฏฏ์หายไป ก็กลายเป็นวิวัฏฏ์ขึ้นเองทันที เป็นของเสร็จพร้อมอยู่ในตัว ไม่ต้องเดินทางออกจากสังสารวัฏฏ์ที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏฏ์อีกแห่งหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการพูดในเชิงภาพพจน์ หรืออุปมา

เมื่อ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดับไป “นิพพาน”ก็ปรากฏแทนที่พร้อมกัน จะพูดให้มั่นเข้าอีกก็ว่า การดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั่นแหละ! คือ “นิพพาน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จาก : หนังสือ “พุทธธรรม” ฉบับปรับขยาย หน้า ๓๓๒

“นิพพาน” คือ “ว่างจากกิเลส”

“คำว่า “นิพพาน” เราได้ยินคนแก่ๆพูดว่า ตายแล้วขอให้ไปเกิดในเมืองแก้ว อมตนคร เมืองแก้ว กล่าวคือ พระนิพพาน มีปราการ ๗ ชั้น อะไรทำนองนี้ เพราะมีใครสอนเขาอย่างนั้นว่าเป็นนคร เป็นเมือง อยู่ที่นั่น ที่นี่ บางทีก็เอาไปปนกันกับสุขาวดีของฝ่ายฮินดู หรือฝ่ายมหายาน อย่างนี้เป็น “นิพพาน”

บางคนก็เข้าใจไปว่า นิพพาน ก็คือ สวรรค์ นั่นเอง แต่ว่าคูณด้วยสิบ คูณด้วยร้อย คูณด้วยพัน คูณให้มากๆเข้าไปก็แล้วกัน สวรรค์นี้คูณกำลังสิบ กำลังร้อย กำลังพัน แล้วก็คือ “นิพพาน” อย่างนี้ก็มี

นี่คือ พวกวัตถุนิยมที่มัวเมาในกามคุณ ไปเอาความหมายของนิพพานเป็นอย่างเดียวกับสวรรค์

ทีนี้ ทางที่ถูกต้องสิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” นั้น ก็คือ ความว่าง สะอาด สว่าง สงบที่สุด เพราะไม่มีความรู้สึกที่เป็นกิเลส หรือเป็นความทุกข์ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากธรรมบรรยาย “การมองสิ่งทั้งปวงในด้านใน” เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔

“พระนิพพานไม่ใช่เป็นจิต ไม่ใช่เป็นเจตสิกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตโดยอาศัยจิตนั้น ไม่ใช่มีรูปร่าง เป็นก้อน เป็นตัว อันเป็นประเภทรูปธรรม

ไม่ใช่บ้านเมือง ไม่ใช่ดวงดาว หรือดวงโลก โลกใดโลกหนึ่ง และยิ่งกว่านั้น พระนิพพานไม่ใช่สิ่งที่มีความเกิดขึ้นมา ไม่ใช่สิ่งที่มีความดับลงไป หรือทั้งเกิดและดับสลับกันไปในตัว แต่พระนิพพานเป็นสภาวะธรรมชาติชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ต้องตั้งต้นการมีของตนเหมือนสิ่งอื่น แต่ก็มีอยู่ตลอดไป และไม่รู้จักดับสูญ เพราะไม่มีเวลาดับหรือแม้แต่แปรปรวน

เป็นสภาพซึ่งแม้จะพูดว่ามีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงก็ยังน้อยไป พูดว่าอยู่คู่กับสิ่งทั้งปวงก็ยังน้อยไป เพราะเป็นสภาพที่เป็นอยู่เช่นนั้นโดยตัวเอง ตลอดอนันตกาล เราจึงกล่าวได้แต่เพียงว่า พระนิพพาน คือ " อมตธรรม สิ่งที่ไม่มีการตาย"

พระนิพพานไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ ไม่ใช่สิ่งที่อะไรปรุงแต่งขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงไม่ใช่ตัวผล(Result) ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ข้อที่เราอาศัยวิชชาแล้วรู้จักนิพพานได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าวิชชาได้สร้างนิพพานขึ้นมา นิพพานมีอยู่เองแล้ว ในฐานะที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น และอยู่นอกเหนือภาวะที่อะไรจะแต่งหรือสร้างขึ้นได้...ตรงกันข้ามกับ"สังขาร" จึงเรียกว่า"วิสังขาร"

“วิชชา” เป็นเหตุได้แต่เพียงทำให้ใจลุถึงนิพพาน คือ รู้พระนิพพาน จนเกิดรสอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในใจตัวเองเท่านั้น และรสนั้นก็ไม่ใช่รสของนิพพาน แต่เราสมมติเรียกกันอย่างขอไปทีว่ารสของพระนิพพาน เพราะจนปัญญาไม่รู้จะเรียกว่าอะไร พระนิพพาน จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีรสด้วย เราพอที่จะกล่าวได้ว่ารสนั้นเป็นผลโดยตรงของวิชชา แต่ไม่พอที่จะกล่าวว่า พระนิพพานนั้นเป็นผลของวิชชา ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

สภาพอันหนึ่งซึ่งเป็นอยู่ได้เอง ซึ่งเราสมมติเรียกกันโดยชื่อต่างๆ และชื่อที่เรียกกันมากที่สุดก็คือชื่อว่า "นิพพาน" นั้น ได้รับนามชื่อนั้นๆมาจากการที่ตัวสภาพนั้นเป็นของยากที่จะกล่าวลงไปว่าอะไร นั่นเอง

คำว่า นิพพาน (ซึ่งแปลว่าดับสนิท)ก็ดี

คำว่า สัพพสังขารสมถะ (ซึ่งแปลว่าเป็นที่ระงับของสังขารทั้งปวง)ก็ดี

คำว่า สัพพุปธิปฏินิสสัคคะ(เป็นที่สลัดเสียซึ่งอุปธิทั้งปวง)ก็ดี

คำว่า วิมุตติ(หลุดพ้น)ก็ดี

คำว่า อนาลยะ(ไม่เป็นอาลัยคือที่หมดอาลัย)ก็ดี

คำว่า วิราคะ (ย้อมไม่ติด)ก็ดี

คำว่า นิโรธ(ดับไม่เหลือ)ก็ดี ฯลฯ

และอื่นๆอีกมาก เหล่านี้ ล้วนถูกสมมติให้เป็นชื่อของสภาพอันนั้น ตามแต่ว่าการสมมติคำนั้นๆจะสมมติเพราะมองดูโดยแง่ไหน คือ แง่กิริยาอาการ หรือ แง่ลักษณะ แง่คุณสมบัติ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สมมติให้ เพราะจนปัญญาไม่รู้จะเรียกนามตรงๆลงไปว่าอะไร"

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “นิพพาน จุดหมายปลายทางของชีวิต”

ศัพท์ คำว่า “นิพพาน” คำแปล และ วิเคราะห์

คำว่า "นิพพาน" ประกอบรูปศัพท์มาจาก  นิ  บทหน้า + วา ธาตุ หมายถึง “การดับทุกข์ในวัฏฏสงสาร”  พึงเทียบคำนี้กับคำว่า นิพฺพนฺติ (ย่อมดับไป) ที่ปรากฏใน รัตนสูตร และ คำอื่นในพระไตรปิฎก ว่า

- ปรินิพฺพายติ ( ย่อมปรินิพพาน )  - ปรินิพฺพายิสฺสติ ( จักปรินิพพาน )  - ปรินิพฺพายิสฺสามิ ( จักปรินิพพาน )  

- นิพฺพายติ ( ย่อมดับไป )  - ปรินิพฺพุโต ( ดับไปแล้ว )  - นิพฺพุโต ( ดับไปแล้ว )

คำนี้มีคำจำกัดความ (รูปวิเคราะห์) ตามหลักภาษาว่า

“นิพฺพาติ  วฏฺฏทุกขํ  เอตฺถาติ  นิพฺพานํ”  แปลความว่า  “ วัฏฏทุกข์ดับลงอย่างสิ้นเชิงในนิพพานนี้ ”

ดังนั้น “นิพพาน” จึงหมายถึง สภาวะอันเป็นที่ดับไปของทุกข์ กล่าวคือ กิเลส มีตัณหา และ อวิชชา เป็นต้น จะถูกกำจัดไป ทำให้กรรมหมดความสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดผลได้ ดังนั้น วิบากซึ่งก็คือรูปนาม ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และ เวทนา เป็นต้นในภพใหม่จึงเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นการดับไปของ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ และ วิปากวัฏ

มีคำจำกัดความอีกอย่างหนึ่งว่า

"นิพฺพาติ  วฏฺฏทุกฺขํ  เอตสฺมึ  อธิคเตติ  นิพฺพานํ"  แปลความว่า  เมื่อบรรลุนิพพานด้วยอรหัตตมรรคแล้ว วัฏฏทุกข์ก็ดับไป

ดังนั้น   นิพพาน   จึงหมายถึง   สภาวะอันเป็นเหตุดับทุกข์   ตามหลักภาษามีคำจำกัดความโดยตรงว่า         "นิพฺพายเต นิพฺพานํ"   แปลว่า   ความดับทุกข์ ชื่อว่า นิพพาน

ลักษณะของ “นิพพาน” 

กล่าวโดยสรุป คือ "นิพพาน" หมายถึง สภาพที่ดับทุกข์คือวนเวียนของ กิเลส กรรม วิบาก เมื่อวนเวียนของกิเลสถูกตัดให้ขาดลงด้วยอรหัตตมรรคแล้ว กรรมที่กระทำไว้ในภพนี้และภพก่อนก็เป็นอโหสิกรรมไป ภพใหม่ก็ไม่ปรากฎอีก ตามที่กล่าวมานี้ วัฏฏะทั้งสามก็จะสงบไป  ดังนั้น ลักษณะของนิพพานจึงเป็นความสงบจากวัฏฏทุกข์ เป็นสันติสุขอันยอดเยี่ยม

พระนิพพานในพระพุทธศาสนา   เป็นสิ่งที่พระอริยะรู้เห็นได้ในชาตินี้ก่อนจะสิ้นชีวิต  ไม่ใช่สิ่งที่รู้เห็นได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้วเหมือนการอยู่ร่วมกับพระเจ้าชั่วนิรันดร์ตามทฤษฎีของศาสนาเทวนิยม ในข้อนี้เสมือนยาที่รักษาโรคได้ก่อนจะสิ้นชีวิต ไม่ใช่ยาที่ทำให้โรคหายเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ดังพระพุทธดำรัสใน “ปุราเภทสูตร” ว่า 

"วีตตณฺโห  ปุรา  เภทา"  แปลว่า  "บุคคลเป็นผู้ปราศจากตัณหาได้  ก่อนสิ้นชีวิต"  ( ขุ. สุ. ๒๕/๘๕๕/๕๐๒ )

ที่มา : จาก “นิพพานกถา”

คำแปล และ วิเคราะห์ศัพท์ 

“นิพฺพาน”  แปลว่า  พระนิพพาน,  การดับ

“วานสงฺขาตาย  ตณฺหาย  นิกฺขนฺตตฺตา  นิพฺพานํ”  แปลว่า  "สภาวธรรมที่ออกพ้นจากตัณหา ที่เรียกว่า วานะ"  ( นิ+วาน, แปลง วฺ  เป็น  พฺ ,  ซ้อน  พฺ )

“นิพฺพาติ  เอเตน  ราคคฺคิอาทิโกติ  นิพฺพานํ”  แปลว่า  "สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น"  ( นิ บทหน้า วา ธาตุในความหมายว่าดับ,สงบ ยุ ปัจจัย, ซ้อน วุ, ลบที่สุดธาตุ, แปลง วฺว เป็น พฺพ, ยุ เป็น อน, ทีฆะสระหน้า )

“นตฺถิ  เอตฺถ วานํ,  น   วา  เอตสฺมึ  อธิคเต  ปุคฺคลสฺส  วานนฺติ  นิพฺพานํ” แปลว่า  "สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา หรือสภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้ว ย่อมไม่มีตัณหา"  ( น+วาน, แปลง อ เป็น อิ, แปลง วุ เป็น พฺ, ซ้อน พฺ )

ที่มา : หนังสือ “ศัพท์วิเคราะห์” ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์  ( ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต )

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: