วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คุณสมบัติของชาวพุทธ เพื่อการรักษาพระศาสนา, บทความโดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย


พระพุทธศาสนามีบทบาทเคียงคู่มากับสังคมไทยเป็นเวลาช้านาน จนกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย, เวลานี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระพุทธศาสนากำลังมีภัย ทั้งภัยที่เกิดจากภายในพระพุทธศาสนา คือการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของชาวพุทธเอง และภัยที่แฝงมาจากต่างศาสนา
สิ่งที่ผู้ทำหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาควรจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดก็คือ ๑ ความเป็นจริง ๒ สิ่งที่จะต้องทำ

เบื้องต้น ต้องเข้าใจความเป็นจริงของตัวชาวพุทธเอง-โดยเฉพาะชาวพุทธในเมืองไทย ในการรักษาพระศาสนา ที่ผ่านมาเรามักจะฝากความหวังไว้ที่คนนั้นคนนี้คนโน้น นั่นเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง ! คนที่เราจะฝากความหวังได้แน่ๆ มีคนเดียวเท่านั้น-คือตัวเราเอง, ความผิดพลาดอย่างยิ่งใหญ่ของชาวพุทธในประเทศไทยก็คือ เมื่อมีกรณีอันใดเกิดขึ้น เราจะคิดทันทีว่า ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของใครคนนั้นคนโน้นเขา, ยกตัวอย่าง กรณีท่านอาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ เคยแถลงว่ามีแนวคิดจะตั้งกองทุน "พุทธวิชัย" เพื่อดำเนินการให้บรรจุข้อความว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ไว้ในรัฐธรรมนูญ, ทุกคนก็จะประทับตราลงไปทันทีว่า “เป็นเรื่องของอาจารย์บรรจบ” หรือกรณีที่นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย เสนอให้คณะสงฆ์ตั้งกองวิชาการพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาและวินิจฉัยปัญหาทั้งปวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น การปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ทำอย่างนั้นผิดหรือไม่ ทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคืออย่างไร ฯลฯ

ทุกคนก็จะประทับตราทันทีว่า-“เป็นเรื่องของนาวาเอกทองย้อย” หรือใครจะเสนอโครงการอะไรขึ้นมาอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่การศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทั้งหลายก็จะพากันมองว่า เป็นเรื่องของคนคนนั้นคนเดียว ไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า ไม่มีใครเลยที่จะรู้สึกว่า-นี่เป็นเรื่องของข้าพเจ้าด้วย เรื่องนี้ข้าพเจ้าจะต้องทุ่มเทและรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าภาพเต็มๆ ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งหมายถึง-อาจจะต้องทำไปตามลำพังคนเดียวด้วย,

เพราะฉะนั้น ต้องกลับตัวกันใหม่ ต้องปรับความคิดใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เดี๋ยวนี้, ต้องบอกตัวเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า ทุกเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นหน้าที่โดยตรงของข้าพเจ้า ถ้ายังไม่มีความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าโดยตรง ก็อย่ามาบอกว่าฉันเป็นชาวพุทธ เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น ใครอื่นจะทำอะไรก็ทำไป แต่ข้าพเจ้าจะไม่ฝากความหวังไว้กับเขาหรือกับใครทั้งสิ้น บุคคลคนเดียวที่ข้าพเจ้าจะฝากความหวังได้ก็คือ-ตัวข้าพเจ้าเอง, เพื่องานพระศาสนา ข้าพเจ้าพร้อมจะร่วมมือกับใครอื่นทุกคน แต่ข้าพเจ้าจะไม่นั่งรอให้ใครอื่นเป็นคนทำ ส่วนข้าพเจ้าเป็นคนดู (แล้วก็เอาแต่ตำหนิคนนั้นคนนี้คนโน้นอย่างสนุกปาก เช่นว่า-มันน่าจะทำอย่างนั้น มันน่าจะทำอย่างโน้น)

แต่ข้าพเจ้านี่แหละจะลงมือทำในส่วนที่อยู่ตรงหน้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะไม่เป็นเหมือนคนสั่งอาหารแล้วไม่ทำอะไร นอกจากนั่งรอกิน !!, แต่ข้าพเจ้าจะลงมือทำอาหารให้ตัวเองด้วย และพร้อมที่จะทำให้คนอื่นได้กินด้วย-ถ้าทำได้ เรื่องสำคัญอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำใจให้รับรู้ความจริงก็คือ ชาวพุทธในเมืองไทยส่วนมาก หรือจะพูดว่าทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ถูกครอบงำด้วยลัทธิบูชาอาจารย์ ติดอาจารย์ ติดสำนัก, ชาวพุทธในเมืองไทยไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดเพียงพระองค์เดียว เหมือนกับที่ชาวคริสต์หรือมุสลิมนับถือพระเจ้าสูงสุดพระองค์เดียว, แต่ชาวพุทธในเมืองไทยนับถืออาจารย์ของตน หรืออาจารย์ของใครก็ได้ และนับถือยิ่งกว่าหรือเหนือกว่าพระพุทธเจ้า

อาจารย์หรือสำนักในเมืองไทยมีมากเท่าไร ชาวพุทธในเมืองไทยก็แบ่งแยกกันมากเท่านั้น ลัทธิบูชาอาจารย์จึงเป็นกำแพงกั้นชาวพุทธในเมืองไทยไว้เป็นก๊กเป็นเหล่าโดยไม่รู้สึกตัว, เพราะเราไม่ได้ยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน แต่ยึดถืออาจารย์เป็นศูนย์รวมใจของใครของมัน เราจึงหาเอกภาพไม่ได้เลยแม้แต่น้อย, การบอกให้ปล่อยอาจารย์ยากเพียงใด การบอกให้ยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกันก็ยากเพียงนั้น, เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่เพ้อฝันไปว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้ชาวพุทธในเมืองไทยจะมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกัน, เหตุการณ์ในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยานยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เวลาเกิดภัยขึ้นแก่พระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและในรูปแบบอย่างไร จะหาคนที่มีใจเจ็บร้อนร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้เลย

ใครเจ็บร้อนก็เชิญเจ็บไป, ใครอยู่ใกล้เหตุการณ์ก็เชิญรับเหตุการณ์นั้นไป, ข้าพเจ้าไม่เกี่ยว, ไม่ใช่เรื่องของข้าพเจ้า, ไม่ใช่เรื่องอาจารย์ของข้าพเจ้า และไม่เกี่ยวกับสำนักของข้าพเจ้า, นอกจากมีมือที่ไม่ช่วยพายเป็นอันมากแล้ว ยังมีตีนที่ราน้ำอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ กรณีนั้นๆ ไม่ใช่น้อยเช่นกัน, จึงขอให้ตระหนักและยอมรับในความเป็นจริงข้อนี้ไว้ให้จงมาก, อย่างไรก็ตาม การยอมรับความจริงไม่ได้หมายความว่าให้ยอมจำนนด้วย, เหมือนยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายแน่ ไม่ได้แปลว่าให้นอนรอความตายโดยไม่ต้องทำอะไร, เพราะฉะนั้น ต้องคิดหาวิธีทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกันให้จงได้ไว้เสมอ

บอกให้ชาวพุทธนับถือบูชาอาจารย์ต่อไป แต่ขอให้มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน ไม่ใช่สูงสุดอยู่ที่อาจารย์ใครอาจารย์มัน สำนักใครสำนักมันต้องเตือนกันไว้ และส่งเวรต่อจากรุ่นสู่รุ่น ว่าเรามีภารกิจที่จะต้องทำการบ้านที่ยังทำไม่เสร็จข้อนี้-คือข้อที่จะต้องคิดหาวิธีทำให้ชาวพุทธในเมืองไทยหลุดจากข่ายของอาจารย์ ผ่านไปให้ถึงพระพุทธเจ้า และมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์รวมใจสูงสุดร่วมกัน

ต่อไปก็ยอมรับความจริงว่า คำว่า “เราจะต้องร่วมมือกัน” หรือ “ชาวพุทธเราจะต้องร่วมมือกัน” เป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายอะไรเลย, เพราะฉะนั้น เลิกพูดได้แล้ว, ขอประทานโทษ-มีหลายท่านที่เมื่อพูดคำนี้จบประโยคแล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ชาวพุทธเสร็จสมบูรณ์แล้ว และไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรอีก
ความจริงคือ ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า การที่จะแก้ปัญหาและพัฒนากิจการอะไรก็ตามนั้นเราต้องร่วมมือกัน

เรื่องนี้รู้กันดีแล้วทุกคน, ปัญหาไม่ได้อยู่ที่-เราไม่รู้ว่าจะต้องร่วมมือกัน แต่ปัญหาอยู่ที่-เราไม่ร่วมมือกันเอง รู้หรือไม่รู้เราก็ไม่ร่วมมือกัน, ใครจะชักชวนอย่างไร พรรณนาอานิสงส์อย่างไร เราก็ไม่ร่วมมือกันอยู่ดี เพราะทุกคนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า แต่เป็นหน้าที่ของคนนั้น คนโน้น, คนไหนก็ไม่รู้แหละ แต่ไม่ใช่ข้าพเจ้าก็แล้วกัน, เพราะฉะนั้น ถ้าปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ เอาเวลาที่พูดว่า-“เราจะต้องร่วมมือกัน” หรือ “ชาวพุทธเราจะต้องร่วมมือกัน” นั้นไปคิดหาวิธีทำดีกว่า

คือคิดหาวิธีทำว่า ทำอย่างไรชาวพุทธเราจึงจะร่วมมือกัน หรือทำอย่างไรพวกเราจึงจะร่วมมือกันได้จริงๆจะพูดประโยคนั้นด้วยก็ได้ถ้าอยากพูด แต่โปรดเข้าใจว่าหน้าที่ของผู้ปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ได้จบแค่พูดจบ แต่ยังจะต้องทำอย่างอื่นต่อไปอีกมาก

*ทั้งหมดที่ว่ามา เป็นส่วนที่เราต้องรู้ความจริง ยอมรับความจริง ว่าเราเป็นอย่างนี้ และเราควรเป็นอย่างไร
เมื่อรู้ว่าเราเป็นอย่างนี้-หรือพวกเราก็มักเป็นเสียอย่างนี้-แล้ว คราวนี้ก็มาถึงเรื่องที่เราจะต้องทำ เรื่องที่เราจะต้องทำที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงที่กล่าวมาแล้ว และความจริงข้อที่เป็นตัวหลักแห่งปัญหาก็คือ เราไม่ชอบร่วมมือกัน แต่เราชอบคิดว่าเรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของคนอื่น ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะฉะนั้น เรื่องที่เราจะต้องทำต่อไปนี้จึงสามารถทำได้ตามลำพัง ไม่ต้องร่วมมือกับใครก็ทำได้ ไม่ต้องรอใคร ไม่ต้องขอความร่วมมือจากใคร ไม่ต้องไปร่วมมือกับใคร และไม่ต้องรอให้คนนั้นคนนี้มาถึงหรืออยู่ที่นี่เสียก่อนจึงจะทำได้

ไม่มีใครเลย มีแต่เราคนเดียวก็ทำได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ต้องลงมือทำจริงๆ ไม่ใช่เอาแต่นั่งคิด แต่ไม่ลงมือทำ เรื่องที่เราจะต้องทำต่อไปนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผมนั่งเทียนจินตนาการขึ้นมาเอง แต่ผมอัญเชิญมาจากมหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎก (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕)

*สรุปเรื่องสั้นๆ นิดหนึ่งครับ
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด, พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน, พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

*คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้

เอตรหิ โข ปน ภนฺเต ภิกฺขู ภควโต สาวกา- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด, วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว, วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า, พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม, ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ, อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม, สกํ อาจริยกํ อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว

อาจิกฺขนฺติ เทเสนฺติ ปญฺญเปนฺติ ปฏฺฐเปนฺติ วิวรนฺติ วิภชนฺติ อุตฺตานีกโรนฺติ
ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้
อุปฺปนฺนํ ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคเหตฺวา สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสนฺติ
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

*นี่คือคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

ขอความกรุณากลับไปอ่านซ้ำอีกหลายๆ เที่ยว แล้วลองสรุปดูว่าคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้นั้นมีอะไรบ้าง

*ผมได้อ่านซ้ำอีกหลายเที่ยวแล้ว ขออนุญาตถอดความออกมาตามสติปัญญา เป็นหลักปฏิบัติหรือหน้าที่ของชาวพุทธได้ว่า

๏ ศึกษาเล่าเรียน ๏ พากเพียรปฏิบัติ ๏ เคร่งครัดบำรุง ๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ ๏ แก้ไขให้หมดจด

*ขออนุญาตขยายความสั้นๆ
๏ ศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้าอ่านเขียนเรียนพระธรรมสม่ำเสมอ อันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่ อย่าคิดเป็นอันขาดว่ารู้แล้ว

๏ พากเพียรปฏิบัติ อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ลงมือปฏิบัติด้วย
คุณธรรมใดๆ ที่ยังไม่มีในตน ขวนขวายบำเพ็ญให้เกิดมี ที่มีแล้วทำให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป

๏ เคร่งครัดบำรุง จะดีจะชั่วอย่างไร อย่าทิ้งวัด อย่าทิ้งพระ อย่าเอาความบกพร่องของท่านมาทำให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ของเราไปอีกคนหนึ่ง ถ้าพวกเราไม่ดูแลกันเอง แล้วจะหวังให้ใครเขาเห็นใจ
คนเก่าท่านสอนว่า ถ้าไม่ศรัทธาที่จะไหว้พระ ก็ขอให้มีศรัทธาที่จะไหว้ผ้าเหลืองอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่ ช่วยกันประกาศพระธรรมวินัยที่ถูกต้องทุกโอกาสทุกช่องทางที่สามารถทำได้
แนะนำสั่งสอนคนในครอบครัว ขยายไปถึงญาติมิตรในวงกว้างออกไป นั่นหมายถึงว่าต้องหาความรู้ไว้ให้พอด้วย

๏ แก้ไขให้หมดจด ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข

*นี่คือภารกิจของแต่ละคนที่จะต้องทำ, นี่คือคำตอบที่ถามว่า-แล้วเราจะทำอย่างไรกัน
ภารกิจเหล่านี้ ชาวพุทธจะอ้างไม่ได้อีกแล้วว่า ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า จะทำได้กี่ข้อ ทำได้มากได้น้อย ไม่เป็นประมาณ แต่ต้องทำ ต้องพยายามทำ และต้องลงมือทำทันที เดี๋ยวนี้และตลอดไป ใครที่ไม่ทำภารกิจเหล่านี้ อย่ามาเสนอหน้าว่าข้าพเจ้าเป็นชาวพุทธ ทำเต็มความสามารถแล้ว ถ้ายังไม่อาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจอะไรเลย แต่มีสิทธิ์ที่จะภาคภูมิใจว่า เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ใครจะนั่งรอให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่ตรงนี้ ก็เชิญรอไปเถิด เป้าหมายอยู่ข้างหน้า ผมไม่รอละ

*โพสต์ครั้งแรก ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
๑๒:๔๒

ขอขอบคุณที่มา: ทองย้อย แสงสินชัย

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: