วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สัมปหังสนา หนึ่งในลีลาของนักเทศน์

สัมปหังสนา   หนึ่งในลีลาของนักเทศน์

อ่านว่า  สำ-ปะ-หัง-สะ-นา

“สัมปหังสนา” เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปหงฺสนา” อ่านว่า สำ-ปะ-หัง-สะ-นา รากศัพท์ประกอบด้วย สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง, เบิกบาน), ลง อํ นิคหิตต้นธาตุแล้วแปลง อํ เป็น งฺ (หสฺ > หํส > หงฺส) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สํ + ป + หสฺ = สํปหสฺ + ยุ > อน = สํปหสน > สมฺปหสน >สมฺปหํสน >สมฺปหงฺสน + อา = สมฺปหงฺสนา แปลตามศัพท์ว่า “การร่าเริงพร้อมกันทั่วหน้า” หมายถึง ความยินดี, ความหรรษา; ความเห็นชอบ (being glad, pleasure; approval) ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “การทำให้ผู้ฟังร่าเริงพร้อมกันทั่วหน้า”

“สมฺปหงฺสนา” เขียนแบบไทยเป็น “สัมปหังสนา”

ขยายความ :  “สัมปหังสนา” เป็น 1 ในลีลาการสอน หรือพุทธลีลาในการสอน หรือเทศนาวิธี 4 ประการ 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ[172] อธิบายไว้ดังนี้ -

การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง แม้ที่เป็นเพียงธรรมีกถา หรือการสนทนาทั่วไป ซึ่งมิใช่คราวที่มีความมุ่งหมายเฉพาะพิเศษ ก็จะดำเนินไปอย่างสำเร็จผลดีโดยมีองค์ประกอบที่เป็นคุณลักษณะ 4 ประการ 

1. สันทัสสนา:  การให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่างๆ แจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา

2. สมาทปนา: การให้สมาทาน หรือชวนให้ปฏิบัติ คืออธิบายให้เห็นว่าเป็นความจริง ดีจริง จนใจยอมรับที่จะนำไปปฏิบัติ 

3. สมุตเตชนา: การทำให้อาจหาญ คือเร้าใจให้แกล้วกล้า ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขันมั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

4. สัมปหังสนา: การทำให้ร่าเริงหรือปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้ร่าเริง สดชื่นแจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่นมีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ 

แถม:

ที่สำคัญที่สุด ในคัมภีร์ท่านบอกควบคู่ไว้ด้วยเสมอว่า การแสดงธรรมไม่ว่าจะด้วยลีลาใดๆ จะต้องกระทำด้วย “ธมฺมิยา กถาย” แปลว่า “ด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยด้วยธรรมะ” 

ดูก่อนภราดา!

: คนตาดีมีปัญญาเด่น

: ดูตลกก็อาจเห็นธรรมะได้

ที่มา :  ทองย้อย แสงสินชัย









Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: