ทองเปื้อนคูถ
มีแนวคิดชนิดหนึ่ง เขาบอกว่า “เลือกเอาแต่ที่ดีๆ ที่ชั่วอย่าเอา” มีผู้ยกแนวคิดนี้ขึ้นพูดในกรณีที่เห็นพระสงฆ์ท่านประพฤติการบางอย่างอันไม่เหมาะสม แต่พร้อมกันนั้นท่านก็ทำการบางอย่างอันเป็นเรื่องดี แปลว่าท่านทำทั้งดีและไม่ดี
กรณีแบบนี้แหละที่มีผู้ตั้งหลักขึ้นมาว่า อะไรที่ดีเราก็เลือกเอา อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าเอา
ความจริงหลักนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึงมานานแล้ว ดังคำกลอนที่ท่านแต่งไว้ว่า
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย,
จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว มองหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง ฯ
แต่เรื่องไม่ควรจบเพียงแค่พูด แต่ควรมีหลักที่ถูกต้องด้วย
ที่ว่า-อะไรที่ดีเราก็เลือกเอานั้น คือแค่ไหน และที่ว่า-อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าเอานั้น คือแค่ไหน ทั้งนี้เพราะถ้าไม่แบ่งให้ชัดเจนแน่นอน เราก็อาจจะเอาชั่วติดมากับดี หรือทิ้งดีให้เสียไปกับชั่ว
อีกประการหนึ่ง ดีบางอย่างต้องไม่มีชั่วปน ถ้ามีชั่วปนอยู่ด้วยก็กลายเป็นยอมรับว่าชั่วเป็นดี และชั่วบางอย่างก็เป็นตัวทำลายดี ถ้าดีชนิดนั้นมีชั่วติดมา ดีก็กลายเป็นชั่วไปด้วย
ในคัมภีร์ ท่านเล่าถึงการเล่าเรียนถ่ายทอดหลักธรรมจากคนเลวไว้เรื่องหนึ่ง ดังนี้ -
ขออนุญาตยกต้นฉบับบาลีแนบมาด้วยเพื่อเป็นอุปการะแก่นักเรียนบาลีและท่านที่ชอบบาลี ส่วนท่านที่ไม่ถนัดบาลีก็อ่านเฉพาะคำแปล (และหวังว่าท่านคงจะถนัดบาลีเข้าสักวันหนี่ง!)
โย ปน โกฏิยํ ฐิโต คณฺโฐ ตสฺส ปุคฺคลสฺส อจฺจเยน นสฺสิสฺสติ ตํ ธมฺมานุคฺคเหน อุคฺคณฺหิตุํ วฏฺฏตีติ วุตฺตํ ฯ ท่านกล่าวไว้ (ในอรรถกถาทั้งหลาย) ว่า คัมภีร์ใดดำรงอยู่ในช่วงเวลาสุดท้าย จักสูญหายไปโดยกาลล่วงไปแห่งบุคคลผู้ทรงคัมภีร์นั้น จะเรียนเอาคัมภีร์นั้นไว้เพื่ออนุเคราะห์ธรรม (คือเพื่อให้หลักธรรมนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป) ก็ควรอยู่
ตตฺรีทํ วตฺถุ ในการเรียนคัมภีร์เพื่ออนุเคราะห์ธรรมนั้น มีเรื่องต่อไปนี้ (เป็นอุทาหรณ์) :-
มหาภเย กิร เอกสฺเสว ภิกฺขุโน มหานิทฺเทโส ปคุโณ อโหสิ ฯ ได้ยินว่าในยุคมหาภัย ได้มีภิกษุผู้ชำนาญมหานิเทศเหลืออยู่เพียงรูปเดียวเท่านั้น
อถ จตุนฺนิกายิกติสฺสตฺเถรสฺส อุปชฺฌาโย มหาติปิฏกตฺเถโร นาม มหารกฺขิตตฺเถรํ อาห ครั้งนั้น พระมหาเถระชื่อมหาติปิฎกเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌายะของพระติสสเถระผู้ทรงนิกาย ๔ กล่าวกะพระมหารักขิตเถระว่า
อาวุโส มหารกฺขิต เอตสฺส สนฺติเก มหานิทฺเทสํ คณฺหาหีติ ฯ อาวุโสมหารักขิต! คุณจงเรียนเอามหานิเทศในสำนักแห่งภิกษุนั่นเถิด
ปาโป กิรายํ ภนฺเต น คณฺหามีติ ฯ พระมหารักขิตเถระกราบเรียนว่า ได้ทราบว่าท่านรูปนี้เลวทรามขอรับ! กระผมเรียน (กับคนแบบนี้) ไม่ได้
คณฺหาวุโส อหนฺเต สนฺติเก นิสีทิสฺสามีติ ฯ เรียนไว้เถิดคุณ! ฉันจักนั่งใกล้ๆ คุณ
สาธุ ภนฺเต ตุมฺเหสุ นิสินฺเนสุ อุคฺคณฺหิสฺสามีติ ดีละขอรับ! เมื่อท่านนั่งอยู่ด้วย กระผมก็จักเรียน
ปฏฺฐเปตฺวา รตฺตินฺทิวํ นิรนฺตรํ ปริยาปุณนฺโต แล้วเริ่มเรียนติดต่อกันทั้งกลางคืนกลางวัน
โอสานทิวเส เหฏฺฐามญฺเจ อิตฺถึ ทิสฺวา วันสุดท้ายจึงได้เห็นสตรีภายใต้เตียง
ภนฺเต สุตํเยว เม ปุพฺเพ สจาหํ เอวํ ชาเนยฺยํ น อีทิสสฺส สนฺติเก ธมฺมํ ปริยาปุเณยฺยนฺติ อาห ฯ พระมหารักขิตเถระกราบเรียนว่า ท่านขอรับ! เมื่อก่อนกระผมเพียงได้ฟังมา (แต่ตอนนี้ได้เห็นกับตา) ถ้ากระผมรู้อย่างนี้ก็จะไม่เรียนธรรมในสำนักคนเช่นนี้เลย
ตสฺส ปน สนฺติเก พหู มหาเถรา อุคฺคณฺหิตฺวา มหานิทฺเทสํ ปติฏฺฐเปสุํ ฯ พระมหาเถระเป็นอันมากได้เรียนคัมภีร์มหานิเทศในสำนักของพระมหารักขิตเถระนั้น แล้วได้ประดิษฐานมหานิเทศไว้สืบมา
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๒ หน้า ๒๓๒
เรื่องนี้ยกมาจากคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์ นักเรียนที่เรียนในชั้น ป.ธ./บ.ศ.๖-๗ ต้องเคยผ่านมาแล้ว แต่อาจจะระลึกไม่ได้ เนื่องจากในช่วงเวลาที่เรียนนั้นมุ่งแต่จะแปลศัพท์ให้ได้ จึงไม่ได้ซึมซับเอาความรู้หรือเรื่องราวในตอนนี้เก็บเข้าไว้ในความทรงจำ และส่วนมากพอสอบผ่านก็ลืมไปเลย ไม่ได้หวนกลับไปทบทวน
ถามว่า อ่านเรื่องนี้แล้วท่านคิดอย่างไร?
ท่านรังเกียจความทุศีล (มีสตรีอยู่ใต้เตียง-คงพอคาดเดาได้ว่าทำอะไรกัน) จึงพลอยรังเกียจหลักธรรมคือคัมภีร์มหานิเทศไปด้วย
หรือว่าท่านรักหลักธรรมคือคัมภีร์มหานิเทศที่ภิกษุทุศีลนั้นจำทรงไว้ได้ จึงพลอยยอมรับความทุศีลถึงขนาดนั้นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายไปด้วย
ท่านจะตั้งอารมณ์อย่างไรจึงจะได้ประโยชนจากแนวคิด “เลือกเอาแต่ที่ดีๆ ที่ชั่วอย่าเอา” โดยที่ท่านจะไม่กลายเป็นคนยอมรับชั่วว่าเป็นดี หรือรังเกียจดีว่าเป็นชั่ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนท่านก็เสียหรือดูไม่ดีทั้งนั้น
เรื่องแบบนี้อุปมาเหมือนทองเปื้อนคูถ
ถ้าอยากได้ทอง ก็ต้องจับคูถ ถ้าเกลียดคูถ ก็อดทอง จะทำอย่างไรดี
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔, ๑๑:๓๗
0 comments: